Wednesday, 21 May 2025
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

‘ดีอี - สธ.’ จับมือพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข เชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพประชาชนไว้บนระบบเดียวกัน ยกระดับ 30 บาท

เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันเปิดโครงการ ‘พัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย’ ภายใต้กิจกรรมที่ 1 ‘การพัฒนาบริหารจัดการการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ’ โดยมีนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี พร้อมด้วยนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กระทรวงดีอีและกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยภายในงานได้มีการเสวนา ในหัวข้อ ‘ความเป็นมาของโครงการ เป้าหมาย การใช้บริการ Cloud การ Exchange ข้อมูล’ ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายแพทย์สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงสาธารณสุข

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอี โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) มุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขเป็นสิ่งสำคัญและมุ่งมั่นให้บริการแก่ประชาชน โดยจัดให้มีระบบคลาวด์กลาง GDCC เพื่อให้บริการด้านการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยสำหรับหน่วยงานภาครัฐ สนับสนุนบริการภาครัฐตามยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ การพัฒนาระบบสารสนเทศแพลตฟอร์มกลางบนคลาวด์มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับ รพ.สต.ทั่วประเทศ ที่ขาดแคลนบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์และงบประมาณ ซึ่งระบบนี้จะได้รับการดูแล ปรับปรุงและพัฒนาจากหน่วยงานส่วนกลางแบบออนไลน์ เป็นการลงทุน สำหรับการพัฒนาและดูแลระบบที่มีต้นทุนต่ำ แต่สามารถเชื่อมโยงการดูแลสุขภาพทุกระดับ ระบบสารสนเทศจะมีระบบประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing) ในรูปแบบ Private Cloud ที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน มีการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ช่วยลดงบประมาณให้กับภาครัฐ ในระยะยาวได้ โดยกระทรวงดีอีจะดำเนินการจัดหา พัฒนา ดูแลระบบคลาวด์กลางสำหรับข้อมูลสุขภาพที่มีความปลอดภัย พร้อมกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

“สดช. และ สธ. ในฐานะหน่วยงานรัฐผู้ดำเนินงานให้บริการโครงการคลาวด์กลาง เชื่อมั่นว่าระบบนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน และเป็นการขับเคลื่อนสู่ Health 4.0 อย่างเป็นระบบ ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงแค่เป็นการปรับปรุงการบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนที่สำคัญในการเดินหน้าของประเทศไทยสู่ Health 4.0 ที่จะช่วยสร้างพื้นที่ในการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมในด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวย้ำ 

ขณะที่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายเร่งผลักดันการพัฒนาระบบสุขภาพระดับชาติ เพิ่มขีดความสามารถด้านสาธารณสุข สร้างบทบาทของนวัตกรรมด้านสุขภาพ รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนทุกคน ทุกพื้นที่ มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ ‘แอปพลิเคชันหมอพร้อม’ แพลตฟอร์มสุขภาพดิจิทัลที่มีผู้ใช้งานกว่า 25.4 ล้านคน รวมถึงการพัฒนาโรงพยาบาลในสังกัดให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการ มีการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพของประชาชนบนฐานข้อมูลที่มีความปลอดภัย ช่วยให้ประชาชนเข้ารับบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็วลดการรอคอยและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้

“สำหรับโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางฯ ซึ่งเป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ กระทรวงดีอี โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565 เป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ และส่วนกลาง ให้อยู่บนระบบเดียวกัน รวมทั้งยกระดับการทำงานหน่วยงานรัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย พร้อมระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ตามมาตรฐานสากล ISO 27001 ช่วยป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลหรือถูกโจรกรรม และสามารถนำข้อมูลสำคัญมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนในการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งยังรองรับการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ที่ต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากโรงพยาบาลภาครัฐ โรงพยาบาลเอกชน คลินิก ร้านยา ร้านแล็บที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์ทราบข้อมูลสุขภาพชุดเดียวกัน เช่น ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร การรักษาที่ผ่านมา ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

‘รมว.ดีอี’ เผย ศาลมีคำสั่งให้ปิดกั้นเว็บไซด์ ‘ลอตเตอรี่พลัส’ แล้ว แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนระมัดระวังการเข้าไปยุ่งเกี่ยว

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า วันนี้ (17 พฤษภาคม 2567) ศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ปิดกั้นเว็บไซต์ ลอตเตอรี่พลัส.com และ lotteryplus.co.th ตามคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 โดยศาลเห็นว่า  แพลตฟอร์มดังกล่าว เป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับการเล่นการพนันและเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าของสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยมีเนื้อหาอันเข้าข่ายเป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมาย ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวออกจากระบบคอมพิวเตอร์ตามคำร้องของพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  มาตรา 20

“กระทรวงดีอี ขอแจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชนประชาชน ดาราและผู้มีชื่อเสียง ขอให้พยายามหลีกเลี่ยงและอย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเว็บไซต์ลอตเตอรี่ออนไลน์ผิดกฎหมาย เพราะอาจทำให้สูญเสียเงิน และถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้ หากต้องการซื้อลอตเตอรี่ ขอให้ซื้อกับแพลตฟอร์มของรัฐ หรือแพลตฟอร์มที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวย้ำ 

‘ดีอี’ จับมือหน่วยงานพันธมิตร เร่งปราบ ‘โจรออนไลน์’ ระยะที่ 2 ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี กวาดล้างบัญชีม้าไปแล้ว 1 แสนบัญชีต่อเดือน พร้อมเร่งรัดหาวิธีคืนเงินผู้เสียหายให้เร็วที่สุด

วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงความคืบหน้าปราบโจรออนไลน์ตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ประชุมร่วมกับ ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี และ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อหารือเรื่องการกวาดล้างบัญชีม้าและเร่งรัดการคืนเงินให้ผู้เสียหาย ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงดีอี ร่วมกับตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์เป็นระยะที่ 2 ต่อเนื่องจากระยะแรก 30 วัน (1-30 เมษายน 2567) โดยผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้ 

1. การเร่งรัดกวาดล้างบัญชีม้า : ปปง. ธปท. สมาคมธนาคาร กสทช. สมาคมโทรคมนาคมฯ และ ดีอี ได้ร่วมกันดำเนินการขยายผลกวาดล้างบัญชีม้า จากการใช้ข้อมูลรายชื่อเจ้าของบัญชีม้า และรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำการปิดบัญชีธนาคารทุกธนาคาร จากชื่อบุคคลดังกล่าว โดยตั้งเป้าระงับ/ปิด บัญชีม้ามากกว่า 12,000 คนต่อเดือน หรือ 100,000 บัญชีต่อเดือน พร้อมทั้งกำหนดมาตรการและเงื่อนไขการเปิดบัญชีใหม่ เพื่อป้องกันการนำไปกระทำความผิดโดยเพิ่มกระบวนการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง Customer Due Diligence หรือ CDD โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง ธนาคารต้องตรวจสอบให้เคร่งครัดมากขึ้นก่อนอนุมัติเปิดบัญชี โดยทาง ธปท.จะมีการออกประกาศภายในเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งปัจจุบันบางธนาคารได้มีการดำเนินการแล้ว โดยได้มีการเชื่อมระบบข้อมูลของธนาคารทุกธนาคาร มอบหมายให้ กสทช. เป็นผู้ดำเนินการจัดทำระบบรวบรวมข้อมูล ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 2 สัปดาห์ สำหรับการกวาดล้างบัญชีม้า และซิมม้าในระบบ mobile banking ที่ประชุมมอบหมายให้ กสทช.เร่งรัดตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ที่ผูกกับระบบ mobile banking จำนวนประมาณ 106 ล้านเลขหมาย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 120 วัน 

นายประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับผลการกวาดล้างบัญชีม้าถึง 30 เมษายน 2567 ได้ระงับบัญชีม้าแล้วกว่า 700,000 บัญชี แบ่งเป็น ธนาคารระงับเอง 300,000 บัญชี AOC ระงับ 101,375 บัญชี ปปง.ปิด 325,586 บัญชี ในส่วนของตำรวจดำเนินการการจับกุมคดี บัญชีม้า-ซิมม้า เม.ย. 67 มีจำนวน 361 คน เพิ่มขึ้น 1.9 เท่า เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 187 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567

2. การแก้กฎหมายพิเศษเป็นการเร่งด่วน : เพื่อให้การปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ตลอดจนช่วยเหลือคืนเงินให้ผู้เสียหาย ได้มีการหารือเรื่องการแก้กฎหมายในประเด็น ดังนี้ 2.1 การเร่งรัดคืนเงินให้ผู้เสียหาย โดยที่ผ่านมาการคืนเงินให้ผู้เสียหายจากคดีออนไลน์ ต้องใช้เวลานาน หลายๆ กรณีใช้เวลาหลายปี กว่าจะสามารถคืนเงินให้ผู้เสียหายได้ ประกอบกับ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ทาง AOC 1441 โดย ดีอี ตำรวจ สมาคมธนาคาร ได้ร่วมมือ เร่งการระงับ/อายัด บัญชีม้าได้รวดเร็วเฉลี่ยภายใน 10 นาที และมีเงินที่ถูกอายัดได้จำนวนมาก ซึ่งในวันนี้จึงได้ประชุมพิจารณาถึงการหาวิธีคืนเงินให้รวดเร็วขึ้น โดยพิจารณาการออกกฎหมายพิเศษเพื่อเร่งการคืนเงิน 

2.2 การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล โดยถือว่าการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้าง จึงต้องมีการกำหนดบทลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องและคนร้ายในอัตราโทษจำคุกเพิ่มขึ้นจาก 1 ปี เป็น 5 ปี  นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงการป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้ายโดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะที่เป็นแพลทฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศที่ผิดกฏหมาย 

“วันนี้เราประชุมเพื่อหามาตรการเร่งรัดกวาดล้างบัญชีม้า และ หาวิธีคืนเงินให้ผู้เสียหายรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมได้หารือถึงการออกพระราชกำหนด เป็นกฎหมายพิเศษเพื่อเร่งคืนเงินให้ผู้เสียหายและเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูล ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งการปราบปรามจับกุมคนร้าย กวาดล้างบัญชีม้า ซิมม้า ปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงต่อเนื่อง แก้ปัญหาหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ และช่วยลดความเดือนร้อนของประชาชน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าว 

‘รัฐบาล’ บูรณาการร่วมมือ ‘ภาคเอกชน’ สร้างระบบ ‘แจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ’ คาด!! เสร็จต้นปี 2568 พร้อมใช้ได้ถึง 5 ภาษา ‘เศรษฐา’ สั่งเดินหน้าให้ต่อยอดความสำเร็จ

(6 ก.ค.67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ผลสำเร็จจากการบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงาน กสทช. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมจัดทำ Cell Broadcast Service หรือ CBS ระบบเตือนภัยฉุกเฉินในพื้นที่จริงครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ทั่วโลกใช้งาน สามารถส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการทุกเครื่อง โดยทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย สามารถรับข้อความได้พร้อมกันทันที เพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างทันท่วงที ช่วยสร้างความมั่นคง ปลอดภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน CBS เป็นเครื่องมือสำคัญในการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชน สามารถแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้ 5 ภาษา ทั้ง ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ซึ่งครอบคลุมผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้า โดยจะส่งข้อความแจ้งเตือนภัยในรูปแบบ ข้อความ ตัวอักษร รูปภาพ และเสียง ทั้งยังมีสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดงบนหน้าจอ (Pop up) รวมถึงรองรับ Text to Speech เทคโนโลยีช่วยเหลือที่อ่านออกเสียงข้อความ ทำให้มีประโยชน์ต่อการแจ้งเตือน แก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นอีกด้วย

สำหรับระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน CBS สามารถตั้งระดับการเตือนได้ 5 ระดับ ตามฟังก์ชั่นการใช้งาน โดยใช้ความร่วมมือกับฐานข้อมูลของภาครัฐ ประกอบด้วย 
1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที 
2. การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือ ภัยจากคนร้าย เป็นต้น 
3. การแจ้งเตือนคนหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือคนหาย รวมทั้งการลักพาตัวเพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวัง และช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตการณ์ รายงานผล ถ้าพบคนหายหรือคนร้าย 

4. ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่ หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น 
5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่าง ๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่าง ๆ ต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า เนื่องจากเป็นระบบใหม่ในประเทศไทย จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม เรื่องอุปกรณ์ และการติดตั้งทั่วประเทศ โดยคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2568 ซึ่งเมื่อระบบพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบ ประชาชนทั่วประเทศจะได้รับการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยยิ่งขึ้น

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยให้คนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชื่นชมการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐและเอกชน ในการพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉิน ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ ด้านสาธารณภัยของประเทศ ทั้งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ พร้อมสั่งการให้ต่อยอดเพิ่มความปลอดภัยให้คนไทย และนักท่องเที่ยวในทุกพื้นที่” นายชัย กล่าว

‘ดีอี’ จับมือ 10 หน่วยงานพันธมิตร คิกออฟ ‘Digital Vaccine’ จุดพลุ สร้างภูมิคุ้มกันคนไทยปลอดภัยจาก ‘โจรออนไลน์’

เมื่อวานนี้ (9 ส.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการจัดทำพร้อมทั้งเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ ภายใต้โครงการ ‘Digital Vaccine’ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ พลตำรวจโท อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ตช.) , พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) , นางสาวอรัญญา เกตุแก้ว รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ , นางสาวดวงพร รอดเพ็งสังคหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , ร้อยตำรวจเอก ไพรัตน์ เทศพานิช ที่ปรึกษาด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) , นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) , พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (สกมช.) , นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย , นายสืบศักดิ์ สืบภักดี เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ห้องประชุม NT Auditorium ชั้น 2 อาคารสโมสร สำนักงานใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) 

นายประเสริฐ กล่าวว่า ปัจจุบันการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือภัยออนไลน์ ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการปราบปรามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการหลอกลวงซื้อขายสินค้า การหลอกลวงโอนเงิน การหลอกลวงให้เผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านการใช้แอปพลิเคชัน และแพลตฟอร์มต่างๆ ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ด้วยการอ้างเป็นหน่วยงานรัฐต่าง ๆ หรือหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ แล้วหลอกให้กดลิงก์ หรือดาวน์โหลดติดตั้งแอปพลิเคชันขโมยเงิน ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล 

รวมถึงปัญหาบัญชีม้า การเปิดบัญชีเงินฝาก การลงทะเบียนหมายเลขโทรศัพท์แล้วให้คนอื่นนำไปใช้ โดยบัญชีม้า เป็นช่องทางที่มิจฉาชีพใช้รับเงินจากผู้เสียหาย เพื่อปกปิดหรือหลบเลี่ยงไม่ให้การสืบสวนไปถึงตัวผู้กระทำความผิดตัวจริงได้

นอกจากนี้ล่าสุดยังพบการสร้างแพลตฟอร์มปลอมในรูปแบบต่างๆในช่องทางสังคมออนไลน์ เพื่อสร้างข่าวปลอม ข้อมูลบิดเบือน ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ โครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาล เพื่อหลอกลวงประชาชน ทำให้สูญเสียทรัพย์และข้อมูลส่วนบุคคล

ทั้งนี้การก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็น เยาวชน ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อยู่ในภูมิภาค ซึ่งถูกหลอกลวงเป็นจำนวนมาก มีมูลค่าความเสียหายสูง ถือเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง และเป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 

ดังนั้น ทั้ง 11 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย
1) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
2) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
3) กรมสอบสวนคดีพิเศษ 
4) กรมประชาสัมพันธ์ 
5) ธนาคารแห่งประเทศไทย 
6) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
7) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
8) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 
9) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ 
10) สมาคมธนาคารไทย
11) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

จึงเห็นร่วมกันว่า จำเป็นจะต้องร่วมกันดำเนินการจัดทำโครงการ “Digital Vaccine” เพื่อร่วมบูรณาการข้อมูลของแต่ละหน่วยงานนำมาจัดทำเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ ของหน่วยงานพันธมิตรทั้งหมด เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบภัยออนไลน์ วิธีป้องกัน และแนวทางรับมือที่ถูกต้อง เพิ่มทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ลดความเสี่ยง ลดโอกาสที่ประชาชนจะตกเป็นเหยื่อของภัยออนไลน์ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสาร ความน่าเชื่อถือของข้อมูล และตอบสนองนโยบายของรัฐบาล สอดคล้องกับนโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัลของประเทศ 

“อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอี พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตร ได้เร่งปราบปรามปัญหาอาชญากรรมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการรุกสร้างความรู้ โดยการบูรณาการข้อมูลของทุกหน่วยงานร่วมกัน ผ่านโครงการ “Digital Vaccine” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้านภัยออนไลน์ให้กับประชาชน สามารถใช้ป้องกันตัวและคนในครอบครัวจากโจไซเบอร์ ช่วยลดผลกระทบและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับประชาชนในสังคมวงกว้าง” นายประเสริฐ กล่าว

หากพี่น้องประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการระงับ อายัดบัญชี AOC 1441
สอบถามข้อมูลข่าวสารโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ โทรสายด่วน Digital Wallet 1111 (24 ชั่วโมง) แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชั่วโมง.)  ที่  Line ID: @antifakenewscenter และเว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com 

‘ประเสริฐ’ คุมเข้มข้อมูลรั่วไหล เผย ‘สคส.’ สั่งปรับเอกชน ‘7 ล้าน’ ปล่อยข้อมูลส่วนตัวประชาชนหลุดถึงมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์

วันที่ 21 สิงหาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แถลงความคืบหน้าการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้อมูลรั่วไหลภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนไปกระทำความผิดกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) กระทรวงดีอีว่า คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะที่ 2 ที่รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีและอื่นๆ ได้มีคำสั่งปรับบริษัทเอกชนรายใหญ่ของประเทศที่มีการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่ปล่อยให้ข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากรั่วไหลไปยังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยไม่มีมาตรการควบคุมดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยตามที่ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กำหนด รวมถึงบริษัทดังกล่าวไม่มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO) และละเลยไม่แจ้งเหตุละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่รั่วไหลให้แก่สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทราบภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะที่ 2 ได้มีคำสั่งลงโทษปรับทางการปกครองบริษัทดังกล่าวในอัตราสูงสุดรวมจำนวนทั้งสิ้น 7 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) บริษัทที่ถูกร้องเรียนได้เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าจำนวนมากกว่า 1 แสนราย  และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการประกอบธุรกิจหลักของบริษัท แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามที่กฎหมายกำหนด จึงทำให้เมื่อเกิดข้อมูลรั่วไหล บริษัทดังกล่าวไม่สามารถเยียวยาแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งเป็นกรณีดำเนินการที่ขัดต่อมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

2) ผู้ถูกร้องเรียนดังกล่าวไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กำหนด ทำให้ข้อมูลรั่วไหลจากบริษัทดังกล่าวไปยังกลุ่มมิจฉาชีพคือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 37(1) แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

3) เมื่อเกิดเหตุข้อร้องเรียนจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล บริษัทกลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการแก้ไข และแจ้งเหตุให้สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลล่าช้า ทำให้ไม่สามารถเยียวยาได้ อันเป็นความผิดตามมาตรา    37 (4) พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

นายประเสริฐ กล่าวว่า นอกจากนี้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะที่ 2 ยังมีคำสั่งให้บริษัทผู้ถูกร้องเรียนปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยที่ป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลอีก รวมทั้งได้มีคำสั่งกำชับให้บริษัทผู้ถูกร้องเรียนดำเนินการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมถึงเพิ่มเติมมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ทันสมัย กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และมีหน้าที่ต้องแจ้งให้สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทราบถึงมาตรการแก้ไขดังกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่ได้รับคำสั่ง

“คำสั่งลงโทษปรับทางการปกครองดังกล่าว เป็นคำสั่งลงโทษปรับทางการปกครองฉบับแรกกับบริษัท เอกชนรายใหญ่ โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะที่ 2 ตั้งแต่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรปหรือ GDPR” นายประเสริฐ กล่าวย้ำ 

นายประเสริฐ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวง DE ได้แถลงเพิ่มเติมว่าคำสั่งปรับดังกล่าวต้องการคุ้มครองประชาชนจากปัญหากรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์และข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลที่เป็นปัญหาหลักของประเทศในตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นการแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชนที่มีข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล ให้ต้องดำเนินการแจ้งสำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด โดยคำสั่งปรับทางการปกครองฉบับนี้จะใช้เป็นมาตรฐาน และบรรทัดฐานในการพิจารณาเรื่องข้อมูลรั่วไหลในภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีการร้องเรียนเข้าที่สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต่อไป และผลจากการปรับครั้งนี้จะทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนตื่นตัวในเรื่องการเคร่งครัดและปฎิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ให้มากขึ้น รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการในการป้องปรามอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เกิดขึ้น จากการนำเอาข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนที่มีอยู่มากในปัจจุบันไปใช้โดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวยังช่วยในการเยียวยาบรรเทาความเสียหายให้กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลจากเหตุดังกล่าวข้างต้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลทางออนไลน์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้มากขึ้น

‘รองนายกฯประเสริฐ’ เดินหน้าสร้างโอกาสใหม่ประเทศไทย วางกลไกส่งเสริม ‘อุตสาหกรรมอีสปอร์ต-เกม-แอนิเมชันและคาแรกเตอร์’ ปูทางอาชีพคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคต

เมื่อวานนี้ (9 ต.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี)  เปิดเผยถึงการเดินหน้าสร้างโอกาสใหม่ให้กับประเทศไทย เร่งวางกลไกส่งเสริมอุตสาหกรรมอีสปอร์ต เกม และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องผ่านนโยบาย Esports Games 2025: Overcoming the Thailand’s Challenges ‘แก้ปัญหาสู่โอกาสใหม่ประเทศไทย’ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมเกม คาแรกเตอร์ แอนิเมชัน และอีสปอร์ตทั้งระบบ คาดช่วยขับเคลื่อนมูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์แตะ 1 แสนล้านบาทในอนาคต ว่าหนึ่งในแผนงานสำคัญภายใต้นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของกระทรวง หรือ The Growth Engine of Thailand คือการสร้างให้ประเทศไทยเป็นโลกใหม่ของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (New World of Digital Content) ทั้งเกม คาแรกเตอร์ แอนิเมชัน และอีสปอร์ต อีกทั้งเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมตลอดทั้งห่วงโซ่ โดย กระทรวงดีอี มองว่า อุตสาหกรรมอีสปอร์ต เกม และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องคือ ‘โอกาสใหม่ของประเทศไทย’

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอี โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า จึงได้กำหนดนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมอีสปอร์ต เกม และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในชื่อ Esports Games 2025: Overcoming the Thailand’s Challenges ‘แก้ปัญหาสู่โอกาสใหม่ประเทศไทย’ เพื่อเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมเกม คาแรกเตอร์ แอนิเมชัน และอีสปอร์ตทั้งระบบ โดยภาครัฐจะเร่งต่อยอดความสนใจ พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ โดยวางรากฐานการพัฒนากำลังคนรุ่นใหม่ผ่านการเสริมทักษะและความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ให้พร้อมรองรับความต้องการภายในประเทศและต่างประเทศ ออกแบบระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงระเบียบและข้อบังคับที่สนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอีสปอร์ต เกม และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมเปิดรับความคิดเห็นและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในเวทีโลกอย่างเป็นรูปธรรม 

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า นโยบาย Esports Games 2025: Overcoming the Thailand’s Challenges “แก้ปัญหาสู่โอกาสใหม่ประเทศไทย” ถือเป็นแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม คาแรกเตอร์ แอนิเมชัน และอีสปอร์ต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดย ดีป้า พร้อมดำเนินการตามแนวทางที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี มอบหมาย โดยจะต่อยอดแรงบันดาลใจ พร้อมชี้ช่องทางประกอบอาชีพใหม่แก่เด็ก เยาวชน ผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเกม นักศึกษาจบใหม่ และบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมผ่านกลไกการยกระดับทักษะความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนานักกีฬาอีสปอร์ต โค้ช หรือแม้แต่ผู้จัดการแข่งขันในอุตสหากรรมอีสปอร์ต รวมถึงบุคลากรในอาชีพต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งนักออกแบบคาแรกเตอร์ นักพัฒนาแอนิเมชัน แอนิเมเตอร์ นักออกแบบสตอรี่ นักพัฒนาเกม ผู้ผลิตเกม ผู้จัดจำหน่ายเกม แอนิเมชัน และคาแรกเตอร์ เป็นต้น

กระทรวงดีอี โดย ดีป้า พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ผู้ผลิตและผู้พัฒนาเกม รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่จำหน่ายเกมในประเทศไทย ตลอดจนกำกับดูแลอุตสาหกรรมเกมไทยอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับยุคสมัยและครอบคลุมในทุกมิติ โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวจะช่วยปลดล็อคอุตสาหกรรม สร้างโอกาสใหม่ในการเป็นศูนย์กลางด้านการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมระดับภูมิภาค ซึ่งเกมนับเป็นหนึ่งใน 11 อุตสาหกรรมเป้าหมายซอฟต์พาวเวอร์ที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เร่งผลักดัน ดังนั้น พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมจะเป็นกฎหมายของประชาชน เป็นกฎหมายสำหรับอนาคตของเยาวชน และเป็นกฎหมายสำหรับโอกาส โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568

นอกจากนี้ กระทรวงดีอี โดย ดีป้า พร้อมสร้างบรรยากาศการลงทุนในอุตสาหกรรมเกม อีสปอร์ต และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างอาคาร Digital Edutainment Complex บนพื้นที่ 20,000 ตารางเมตรในโครงการ Thailand Digital Valley ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี อาคารที่ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ทดสอบทดลองนวัตกรรมดิจิทัล และเป็นระบบนิเวศที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอีสปอร์ต และอุตสาหกรรมเกมไทย และดำเนินการตามแผนพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับคนไทย (Digital Skill Roadmap) โดยเร่งส่งเสริมทักษะดิจิทัลสำหรับอาชีพใหม่แห่งโลกอนาคตผ่านแผนงานทักษะดิจิทัลสำหรับอาชีพยุคใหม่ (Digital-driven Career)

ทั้งนี้ กระทรวงดีอีโดยดีป้า ยังเตรียมจัดทัวร์นาเมนต์อีสปอร์ตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายนนี้ในชื่อ ‘depa ESPORTS TOURNAMENT’ ภายใต้โครงการ depa ESPORTS โดยจะแบ่งการแข่งขันออกเป็นรอบคัดเลือกระดับภูมิภาคใน 8 ภาคทั่วประเทศ และรอบชิงแชมป์ประเทศไทยที่กรุงเทพฯ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงดีอี โดย ดีป้า จึงได้ประเมินว่า ภายในระยะเวลา 1 ปีของการดำเนินนโยบายผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมเกม คาแรกเตอร์ แอนิเมชัน และอีสปอร์ต จะช่วยยกระดับสถานศึกษาทั่วประเทศ 55 แห่ง Upskill และ Reskill ทักษะด้านเกม แอนิเมชัน คาแรกเตอร์ และอีสปอร์ตแก่ประชาชนกว่า 1.5 แสนคน เพิ่มความเชี่ยวชาญเพื่อต่อยอดอาชีพขั้นสูงแก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 500 คน ทำให้เกิดการจ้างงาน 30,000 คน กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในธุรกิจเกม แอนิเมชัน คาแรกเตอร์ และอีสปอร์ต ทั้งในประเทศและต่างประเทศราว 3,500 ล้านบาท อีกทั้งส่งเสริมธุรกิจเกม แอนิเมชัน คาแรกเตอร์ และอีสปอร์ต 150 บริษัท พร้อมกันนี้ยังประเมินว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยมูลค่ารวมกว่า 40,000 ล้านบาทจะขยายตัวต่อเนื่อง และจะขยับสู่ 1 แสนล้านบาทในอนาคต 

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ เตือน ‘ขายบัญชีม้า’ โทษหนัก จำคุก 3 ปี เผยในรอบ 1 ปี (ต.ค.66 - ก.ย.) จับแล้ว 2,900 ราย  

(30 ต.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากมาตรการการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามนโยบายของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับมาตรการการตรวจสอบและปราบปรามบัญชีม้า ซึ่งเป็นช่องทางหลักการหลอกลวงรับเงินของมิจฉาชีพ  กระทรวงดีอี ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการระงับบัญชีม้า ตัดเส้นทางการเงินของกลุ่มมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีสถิติการระงับบัญชีม้าจนถึง ตุลาคม 2567 รวมกว่า 1,100,000 บัญชี พร้อมกับการขยายผลดำเนินการจับกุมเจ้าของบัญชีม้าอย่างเข้มข้น 

ทั้งนี้สถิติผลการจับกุมบัญชีม้า ซิมม้าที่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 พบว่าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนกันยายน 2567 (12 เดือน) มีจำนวนรวม 2,897 ราย เฉพาะในเดือนกันยายน 2567 มีจำนวน 497 ราย 

ที่ผ่านมา อาจเห็นว่าการขายบัญชีธนาคารเป็นวิธีการที่ได้เงินมาง่าย และไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หากบัญชีธนาคารดังกล่าวถูกนำไปใช้โดยกลุ่มมิจฉาชีพ ต่อมาเมื่อรัฐบาลออก พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เพื่อกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยได้กำหนดโทษของการยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝากฯ หรือที่เรียกว่า บัญชีม้า จะถูกดำเนินคดี ตามมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และยังอาจถูกดำเนินคดีตามฐานความผิดที่มิจฉาชีพนำบัญชีนั้นไปใช้ ในฐานะเป็นตัวการร่วม หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด และอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้เสียหาย 

นอกจากนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินงานการตามนโยบายปราบปรามภัยออนไลน์ของรัฐบาล เพื่อลดปัญหา พยายามหยุดการหลอกลวงที่สร้างความเสียหายจากบัญชีม้า ซึ่งต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทย ได้พิจารณายกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน โดยออกเป็นหนังสือเวียน เลขที่ ธปท.ฝตท. (01) ว. 384/2567 แจ้งต่อสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ทุกแห่ง ให้ถือเป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน เรื่อง การเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการบัญชีเงินฝาก หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ในกรณีลูกค้ามีความเสี่ยงสูงหรือใช้บัญชีที่มีลักษณะหรือพฤติกรรมผิดปกติ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 เพื่อเป็นการจัดกลุ่มบัญชีม้า โดยยกระดับการจัดการ 'บัญชี' เป็นระดับ 'บุคคล' (ระงับช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกบัญชี ทุกธนาคาร ถ้ามีชื่อว่าเป็นผู้ขายบัญชี ให้คนร้าย หรือ บัญชีม้า) และดำเนินการเข้มข้นขึ้นทั้งบัญชีในปัจจุบันและการเปิดบัญชีใหม่ 

“นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องปราบโจรออนไลน์ จึงขอแจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชนว่า การขายบัญชีธนาคารไม่ว่าจะในรูปแบบใด มีโทษจำคุกถึง 3 ปี ทั้งนี้หากหลงเชื่อขายบัญชีธนาคารให้กับบุคคลอื่นไปแล้ว ให้รีบติดต่อกับธนาคารเพื่อขอปิดบัญชีธนาคารดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อไม่ให้มีรายชื่ออยู่ในลิสต์ว่าขายบัญชี และถูกระงับทุกบัญชีธนาคารของทุกธนาคารที่มี รวมทั้งไม่ให้ถูกดำเนินคดีตามฐานความผิดที่มิจฉาชีพนำบัญชีไปใช้ ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีกล่าว

'รองนายกฯประเสริฐ' เปิดงาน Thailand Space Week 2024 ชี้เป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อมโยงเครือข่ายด้านเทคโนโลยีอวกาศจากทั่วโลก สร้างโอกาสทางธุรกิจและการใช้ประโยชน์ให้กับไทยและภูมิภาคอาเซียน

(8 พ.ย.67) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือ อว. จับมือหน่วยงานพันธมิตรอย่าง Cabinet office of Japan, ISPACE, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ECURS, SIEMENS, THAICOM และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ อีกกว่า 70 บริษัท จัดงาน Thailand Space Week 2024 อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปแล้ว

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานเปิดงาน Thailand Space Week 2024 ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือหน่วยงานพันธมิตรอย่าง Cabinet office of Japan, ISPACE, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ECURS, SIEMENS, THAICOM และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ อีกกว่า 70 บริษัท จัดขึ้น

โดยนายประเสริฐ กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งใจจัดงาน Thailand Space Week 2024 ในครั้งนี้อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมเปิดบ้านต้อนรับผู้เข้าร่วมงานจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและธุรกิจด้านอวกาศของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะนำมาสู่การขับเคลื่อนทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีในอนาคต โดยเทคโนโลยีอวกาศจะแทรกซึมอยู่ในเกือบทุกส่วนของการดำเนินชีวิตในปัจจุบันและยังมีบทบาทสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เป็น New S Curve สำหรับการจัดงาน Thailand Space Week ในครั้งนี้จะเป็นการยกระดับการใช้เทคโนโลยีของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอวกาศ

นายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมุ่งมั่นในการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมในด้านอวกาศอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนที่จะเร่งการพัฒนาดาวเทียมเพื่อตอบโจทย์การใช้งานในประเด็นสำคัญต่างๆของประเทศ ส่งเสริมการเติบโตธุรกิจด้านอวกาศทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ เช่น Spaceport และความร่วมมือกับธุรกิจระหว่างประเทศ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ไม่เพียงแค่นั้นรัฐบาลยังส่งเสริมให้เยาวชนได้เกิดการเรียนรู้และมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมอวกาศ ผ่านการเรียนการสอนและกิจกรรมต่างๆ การสร้างความตระหนักและความสามารถด้านอวกาศนั้นมีความสำคัญอย่างมากในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคตต่อไป

ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า งาน Thailand Space Week 2024 ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีฯกระทรวง อว. ที่ต้องการขับเคลื่อนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของประเทศ ให้เกิดความร่วมมือและการใช้ประโยชน์สำหรับประเทศไทยมากที่สุด งานนี้ถือเป็นเวทีระดับนานาชาติที่สำคัญที่สุดในด้านเทคโนโลยีอวกาศและธุรกิจในประเทศไทย คาดว่าตลอดการจัดงาน 3 วันจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 3,000 คนจาก 34 ประเทศทั่วโลก บริษัทเข้าร่วมงานมากกว่า 70 บริษัท บูธนิทรรศการมากกว่า 100 บูธ 

ซึ่งแนวทางการจัดงานของปีนี้เราเน้นเรื่อง 'Converging Technologies, Connecting People' ซึ่งสะท้อนถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องนำมาหลอมรวมกับเทคโนโลยีอื่นๆ (Technology Convergence) ที่จะนำมาสู่เครื่องมือ ข้อมูล และการจัดการที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับมนุษย์และการดำเนินธุรกิจ โดยการจัดงานครั้งนี้ผู้ร่วมงานนอกจากจะมีโอกาสอัพเดทข้อมูลที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและกิจการอวกาศจากนานาประเทศแล้วยังเป็นการเปิดโอกาสให้รู้จักและสร้างเครือข่ายทางความรู้และธุรกิจกับผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย 

ซึ่งปีนี้เราได้รับเกียรติจากเอกอัคราชทูตและนักการทูตมากกว่า 10 ประเทศ  มาร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีผู้นำและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรด้านอวกาศจากหลายประเทศทั้งในเอเซียและภูมิภาคอื่นๆ อาทิ CNSA ประเทศจีน, KARI สาธารณรัฐเกาหลีใต้, OSTIN ประเทศสิงคโปร์, EU , MYSA จากประเทศมาเลเซีย, QZSS ประเทศญี่ปุ่น และ PHILSA ประเทศฟิลิปปินส์ มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์และมุมมองภายในงานด้วย 

สำหรับจุดเด่นของงาน Thailand Space Week 2024  มีหลายกิจกรรม โดยเฉพาะในส่วนของ Plenary Stage จะมี Session ที่น่าสนใจ อาทิ Space Leaders Forum, Unveiling Asean Space Ecosystems, การใช้เทคโนโลยีอวกาศรับมือกับความท้าทายที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน, Financing the Future กับโอกาสในอุตสาหกรรมอวกาศ หรือจะมาร่วมส่องอนาคตเทคโนโลยีอวกาศ ไปกับ นางฟ้าไอที คุณเฟื่องลดา กับ Trend ในอีก 10 ข้างหน้า ทั้งหมดล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของประเทศไทยที่พร้อมเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาและขับเคลื่อนภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศเพื่อสร้างโอกาสและประโยชน์ให้กับภูมิภาค

ประเทศไทยมุ่งหวังที่จะสร้างโอกาสและขยายความร่วมมือ ทั้งด้านองค์ความรู้ ธุรกิจ และการลงทุนในระดับนานาชาติ โดยประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงของภูมิภาค ซึ่งมุ่งหวังจะให้เกิดการยกระดับและเปิดโอกาสให้กับ Space related Industry ของไทยกับพันธมิตรจากนานาประเทศ อันจะนำมาสู่การเพิ่มรายได้ใหม่ๆให้กับภาคเศรษฐกิจของไทย เพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางของประเทศ

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ ประกาศความร่วมมือ ‘ดีอี-อว.- ศธ.’ และ ‘UNESCO’ เตรียมเป็นเจ้าภาพงาน ‘UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025’ ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก ย้ำบทบาทประเทศไทย ผู้นำด้านจริยธรรม AI ในเวทีโลก

(4 ธ.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แสดงวิสัยทัศน์ผ่านปาฐกถาพิเศษในการแถลงข่าวการจัดงานประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการของกระทรวงดีอี กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในการเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก ‘The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025’ ภายใต้แนวคิด ‘Ethical Governance of AI in Motion’ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2568 ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ว่า ความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ที่ควรต้องเป็นไปตามหลักการสำคัญ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยมีแผนและการเตรียมการในการนำ AI มาใช้ในองค์กรเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2567 สูงถึง 73.3% ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 20% (ข้อมูลจากรายงาน AI Readiness Measurement 2024) ที่จัดทำโดย ETDA และ สวทช. นอกจากนี้ ประเทศไทยได้มีการประกาศ แนวทางการกำกับดูแลโดยมี ‘แนวทางการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหาร’ และ ‘คู่มือแนวทางการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร’ เพื่อประโยชน์ในการนำแนวทางและคู่มือไปประกอบการพิจารณาการนำ AI มาใช้ในระดับองค์กรเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น จากศักยภาพของประเทศในมิติต่างๆ จึงได้นำไปสู่ความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพร่วมเพื่อจัดงาน ‘UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025’ ในปีหน้านี้ จะมีทั้งเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ การส่งเสริมความร่วมมือในระดับพหุภาคี รวมไปถึงการเสริมสร้างความสามารถในการกำกับดูแล AI ในประเทศที่กำลังพัฒนา ที่ถือได้ว่าจะเป็นโอกาสในการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลก ที่ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก และแสดงให้เห็นว่าไทยเองมีความสามารถในการเป็น ‘แหล่งเรียนรู้’ ในด้าน AI Governance ที่พร้อมร่วมมือกับ UNESCO อีกด้วย 

ด้าน นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึง ความพร้อมของประเทศไทยจากบทบาทของ กระทรวง อว. ในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยี AI ไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยไม่เพียงเน้นสร้างนวัตกรรมเท่านั้น ยังให้ความสำคัญกับจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีหน่วยงาน ภายใต้กระทรวง อว. คือ สวทช. ที่ร่วมผลักดันการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม AI ที่จะช่วยตอบโจทย์ระดับประเทศ รวมถึงการมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนากรอบจริยธรรม AI ที่มุ่งเน้นความสอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล ประกอบกับ ประเทศไทยได้มีการส่งเสริมและพัฒนาความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ผ่านการเตรียมทำการประเมินความพร้อมด้าน AI ตามกรอบแนวทางของ UNESCO RAM ที่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ไทยได้เข้าใจสถานการณ์ความพร้อม ซึ่งครอบคลุมในมิติต่างๆ 

อีกทั้งข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ จะพัฒนาไปเป็นข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสนับสนุนการวางแผนสำหรับประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนการปรับปรุงในมิติที่จำเป็น ภายใต้บริบทของไทยให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การร่วมจัดงาน Global Forum on the Ethics of AI 2025 ในปีหน้านี้ จะช่วยสะท้อนถึงการผนึกกำลังที่เข้มแข็งระหว่างกระทรวง อว. พร้อมด้วยกระทรวงดีอี และกระทรวง ศธ. จากประเทศไทย ในการทำงานร่วมกับ UNESCO เพื่อร่วมสร้างอนาคตที่เท่าเทียมและยั่งยืนสำหรับทุกคน

ขณะที่ นายซิง ฉวี่ รองผู้อำนวยการใหญ่ UNESCO ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยในความเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลจริยธรรม AI และการผลักดันความร่วมมือระดับนานาชาติ พร้อมเน้นย้ำว่าภารกิจของยูเนสโก ในการสร้างสันติภาพผ่านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ และชีวิตของผู้คน พร้อมยังกล่าวถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าในโครงสร้างพื้นฐาน AI ของภูมิภาค จนอาจนำมาสู่ความท้าทายที่เกิดขึ้น เช่น ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และผลกระทบต่อการจ้างงานจากระบบอัตโนมัติอย่าง AI เป็นต้น ซึ่งการที่ประเทศไทยได้มีการนำกรอบแนวทางการประเมินความพร้อมด้าน AI ของยูเนสโก (UNESCO RAM) มาใช้นั้น ถือเป็นก้าวสำคัญของกรอบการทำงานในการประเมินความพร้อมด้านการประยุกต์ใช้ AI ของไทย ที่มีความแข็งแกร่งและพร้อมส่งเสริมการใช้ AI ด้วยโปร่งใส ตามกรอบธรรมาภิบาลและจริยธรรมตามมาตรฐานสากล โดย Global Forum on the Ethics of AI 2025 จะเป็นเวทีสำคัญสำหรับการเจรจาระดับโลกในการร่วมพัฒนาจริยธรรมการประยุกต์ใช้ AI ที่เคารพสิทธิมนุษยชน โปร่งใส เป็นธรรม พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านธรรมาภิบาลจริยธรรม AI อย่างแท้จริง

พร้อมกันนี้ ในการแถลงข่าวความร่วมมือครั้งนี้ ประเทศไทย ยังได้ประกาศจุดยืนต่อผู้นำโลก ถึงความพร้อมของการประยุกต์ใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาล ตามกรอบ UNESCO’s AI Readiness Assessment หรือ UNESCO RAM พร้อมเปิดเวทีเสวนาเชิงลึกโดยผู้นำและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง กับการเสวนาใน 2 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่

• "Thailand's Journey in Driving AI Ethics & Governance: Insights from Hosting the Global Forum on the Ethics of AI" เส้นทางของไทยในการขับเคลื่อนจริยธรรมและการกำกับดูแล AI: มุมมองจากการเป็นเจ้าภาพ Global Forum on the Ethics of AI โดย ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ. NECTEC,
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA และ ดร.วีระ วีระกุล รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ที่จะมาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์การใช้การประชุมระดับโลกครั้งนี้เป็นแพลตฟอร์มในการยกระดับบทบาทของไทยสู่การเป็นผู้นำด้าน AI ในระดับสากล

• “Policy and Strategic Frameworks”, in the Region Readiness Assessment Methodology (RAM)” นโยบายและกรอบยุทธศาสตร์” ในกรอบแนวทางการประเมินความพร้อมระดับภูมิภาค โดยนายอิราคลี โคเดลี หัวหน้าหน่วยจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ UNESCO ร่วมกับ ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผอ. ETDA, ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ. NECTEC ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการวางกรอบการประเมินความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ (UNESCO RAM) ที่จะเป็นเครื่องมือมาตรฐานสำหรับประเทศในภูมิภาค พร้อมแนวทางการจัดตั้งหอสังเกตการณ์จริยธรรมและการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ระดับโลก ที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ที่ยั่งยืน

จากสถานการณ์การเตรียมความพร้อมของประเทศ และกระแสการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาลในเวทีระดับโลก ที่สะท้อนจากมุมมองในระดับนโยบายของประเทศ สู่ความร่วมมือจากหน่วยงานสำคัญของไทยและ UNESCO จึงได้นำสู่การร่วมดำเนินงานโครงการสำรวจความพร้อมด้านจริยธรรม AI ของประเทศไทยตามแนวทางแนะนำของ UNESCO (โดยติดตามความคืบหน้าในการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ได้ผ่านเพจ https://www.ai.in.th/) รวมถึงการเตรียมจัดการประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกในเอเซียแปซิฟิก “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ในแนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2568 ที่กรุงเทพฯ โดยติดตามความคืบหน้าในการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ได้ผ่านเพจ ETDA Thailand


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top