Saturday, 24 May 2025
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

‘วราวุธ’ เร่งช่วยเหลือประชาชน จัดทีมงานลงพื้นที่ ‘ภูเก็ต’ เพื่อ ‘ช่วยเหลือ-ฟื้นฟู-เยียวยา’ ผู้ประสบภัยน้ำท่วมดินถล่ม

(24 ส.ค. 67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานจากศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) จังหวัดภูเก็ต ว่า เมื่อวันที่ 22 - 23 ส.ค. 67 จังหวัดภูเก็ตมีฝนตกหนักต่อเนื่องในตัวเมืองภูเก็ต ทำให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนและถนนหลายสาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมากถึง 250 ครัวเรือน และมีดินโคลนถล่มทับบ้านเรือนประชาชน 2 หลัง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย เป็นคนไทย 2 ราย ชาวต่างชาติสัญชาติเมียนมา 3 ราย นอกจากนี้ ยังมีคนสูญหายอีก 6 ราย เป็นคนไทย 1 ราย ชาวต่างชาติสัญชาติเมียนมา 4 ราย และรัสเซีย 1 ราย อีกทั้งมีครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุ อายุ 83 ปี ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากจมน้ำและสำลักโคลน ขณะนี้ได้นำส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว 

นายวราวุธ กล่าวว่า ตนขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ ขอแสดงความห่วงใยกับผู้ได้รับบาดเจ็บ และพี่น้องประชาชนชาวภูเก็ตที่กำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ซึ่งตนได้กำชับหน่วยงานทีม พม. หนึ่งเดียว จังหวัดภูเก็ต เฝ้าระวังดูแลผู้รับบริการในความคุ้มครองของหน่วยงาน และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ขณะนี้ทางจังหวัดภูเก็ตได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่วัดกะตะ และ วัดกะรน โดยมีหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ร่วมให้ความช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัย ซึ่ง ทีมศรส.จังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานทีม พม.หนึ่งเดียว จังหวัดภูเก็ต ได้ส่งนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาเพื่อให้การฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจและช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น พร้อมทั้งร่วมกับทีมสหวิชาชีพวางแผนการช่วยเหลือทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยเฉพาะการช่วยเหลือหลังน้ำลด ซึ่งจะมีการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านและให้ความช่วยเหลือร่วมกับทีมสหวิชาชีพ อปท. และ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) หากประชาชนประสบปัญหาอุทกภัย สามารถขอความช่วยเหลือ ได้ที่ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) จังหวัดภูเก็ต และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ในพื้นที่  

‘วราวุธ’ ย้ำ!! อนุสัญญาสิทธิเด็กข้อ 22 ไทยไม่ได้ให้สัญชาติเด็กต่างชาติ แค่ช่วยดูแลเด็กที่เข้ามา ด้าน 'การเติบโต-การศึกษา-พยาบาล' เท่านั้น

(9 ก.ย. 67) ที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงกรณีที่มีสื่อโซเชียลมีเดียมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ท่านหนึ่งและพี่น้องประชาชนอีกจำนวนมากตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยเฉพาะข้อที่ 22 ที่กำหนดให้เด็กคนหนึ่งมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาการรักษาพยาบาลเรื่องอาหาร เรื่องการเจริญเติบโตที่ประเทศไทยจะต้องให้ความคุ้มครองกับเด็กที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยนั้นมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าภายใต้ข้อ 22 นั้นประเทศไทยจะต้องให้สัญชาติไทยกับเด็กเหล่านั้นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนผิดโดยสิ้นเชิง

โดยนายวราวุธ กล่าวว่า ขออนุญาตทำความเข้าใจว่าในข้อที่ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ไม่ได้พูดถึงการให้สัญชาติประเด็นนี้เลยแม้แต่นิดเดียว สิ่งที่เน้นในข้อที่ 22 คือ การคุ้มครองดูแลเด็กคนหนึ่งให้เขาสามารถเจริญเติบโตทั้งกายและใจตามสิ่งที่เด็กคนหนึ่งพึงจะมี และที่สำคัญข้อที่ 22 นี้ ทั่วโลกได้มีการนำไปประยุกต์ใช้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งประเทศไทยของเราในทางกลับกันเป็นประเทศสุดท้าย จากกว่า 100 ประเทศที่ให้การรับรองข้อที่ 22 ซึ่งใช้เวลาเกือบ 40 ปี กว่าจะรับรองข้อบทนี้ แต่ต้องขอย้ำบางท่านอาจจะตั้งข้อสังเกตว่าทำไมจะต้องไปดูแลเด็กต่างชาติ เด็กไทยเราไม่ดูแล ซึ่งในกรณีนี้เราดูแลเด็กทุกคน และในทางกลับกันถ้าหากว่ามีคนไทยไปตกระกำลำบากที่ต่างประเทศหรือว่ามีเด็กไทยไปตกระกำลำบาก ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับประเทศอื่น ประเทศเหล่านั้นก็จะต้องดูแลเด็กไทยเช่นเดียวกับเด็กของเขาเช่นกัน แต่ไม่ได้ให้สัญชาติกับผู้ใดโดยเด็ดขาด 

ทั้งนี้ นายวราวุธยังทิ้งท้ายว่า ดังนั้น ขออนุญาตทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่าการที่ประเทศไทยให้การรับรองข้อที่ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กนั้น ไม่ได้เป็นการรับรองให้สัญชาติกับผู้ใด ขอให้ความสบายใจกับพี่น้องประชาชนและทำความเข้าใจ และที่สำคัญขอฝากบอกต่อๆ กันเพราะว่าความเข้าใจผิดนั้นกระจายเหลือเกิน แต่พอจะให้เข้าใจถูกไม่ค่อยกระจาย จึงขอฝากช่วยกันกระจายข้อมูลที่ถูกต้องด้วย

THE STATES TIMES EARTH ร่วมแชร์การทำสื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม ให้แก่น้องๆ จากโครงการเยาวชนรักษ์โลก ‘We think for the Earth ปี 2’

THE STATES TIMES EARTH ร่วมถ่ายทอดความรู้เรื่อง Climate Change และภาวะโลกร้อน ให้แก่น้อง ๆ ในโครงการเยาวชนรักษ์โลก ‘We think for the Earth ปี 2’ หวังสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาเหตุ ผลกระทบ และแนวทางการรับมือและแก้ไข พร้อมนำทีมทำกิจกรรม Workshops คิด-ถ่าย-แชร์ ระดมความคิดของเยาวชนเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ TikTok 

เมื่อวานนี้ (20 มี.ค. 68) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน พร้อมด้วย กองส่งเสริมการพัฒนาและสวัสดิการเด็ก เยาวชน และครอบครัว จัดพิธีเปิดโครงการเยาวชนรักษ์โลก ‘We think for the Earth ปี 2’ กิจกรรมส่งเสริมศักยภาพเยาวชนสู่ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2568 ณ โรงแรมตรัง กรุงเทพฯ

นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน มอบหมายให้ นางศิริลักษณ์ มีมาก รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เป็นประธานเปิดโครงการ โดยมีนางสาวอรนุชา มงคลรัตนชาติ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการพัฒนาและสวัสดิการเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวรายงานวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนและเครือข่ายเด็กและเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อม ได้เรียนรู้สถานการณ์โลกด้านสิ่งแวดล้อม Climate Change และสามารถนำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับการทำกิจกรรมสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตน 

รวมถึงนำไปถ่ายทอดต่อชุมชน ในฐานะ Youth Ambassador For The Earth : YAE โดยการสร้างยุวฑูตด้านสิ่งแวดล้อมในการขับเคลื่อนกิจกรรมพัฒนาสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย และสังคมโลก 

โดยกิจกรรมภายในงานมีการเยี่ยมชมบูธนิทรรศการ ‘มือน้อยรัก(ษ์)โลก Child save the word’ โดย สภาเด็กและเยาวชน ทั้ง 4 ภาค (77 จังหวัด) รวมถึง สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย แกนนำเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน

นอกจากนี้ ทีมนักข่าวจาก THE STATES TIMES EARTH สำนักข่าวออนไลน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ยังได้ร่วมให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับการทำสื่อออนไลน์ในหัวข้อ Climate Change และภาวะโลกร้อน เพื่อหวังสร้างความตระหนักรู้ถึงสาเหตุ ผลกระทบ และแนวทางการแก้ปัญหา ส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนอย่างถูกต้อง เพื่อให้มีความพร้อมในการปรับตัวและรับมือกับผลกระทบ และสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา โดยเริ่มจากระดับบุคคล ขยายสู่ระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ 

พร้อมทั้งยังจัดกิจกรรม Workshops คิด-ถ่าย-แชร์ ระดมความคิดของเยาวชนเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ TikTok เป็นพื้นที่สื่อกลางในการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ เพื่อส่งต่อไอเดียรักษ์โลกให้แก่ผู้ใช้งานรายอื่น ๆ เนื่องจากปัจจุบัน TikTok ถือเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทรงอิทธิพลและมีผู้ใช้งานจำนวนมากทั่วโลก ซึ่งนอกจากจะสร้างความบันเทิง เข้าถึงผู้ใช้งานได้จำนวนมากแล้ว ยังมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนได้ด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top