Saturday, 24 May 2025
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

'วราวุธ' ประกาศนำ 'ข้าราชการ พม.' แต่งกายสีม่วง พรุ่งนี้ 'แสดงพลัง-ถวายกำลังใจ' แด่ 'กรมสมเด็จพระเทพฯ'

(14 ก.พ. 67) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า…

"ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 08.30 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตนพร้อมเพื่อน ๆ ข้าราชการทุกคนของกระทรวง พม. เราจะพร้อมใจกันเข้าร่วมในพิธีถวายความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยการแต่งกายโทนสีม่วงทั้งกระทรวง เพื่อถวายความจงรักภักดีแด่กรมสมเด็จพระเทพฯที่พวกเรารัก และเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย"

นายวราวุธ กล่าวว่า "การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการแสดงพลังของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ให้ทุกคนได้เห็นพี่น้องประชาชนคนไทยหลายสิบล้านคน เรายึดมั่น เราเชื่อมั่น และศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ดังนั้นเราจะไม่ยอมเด็ดขาดที่จะให้ใคร หรือคนกลุ่มใด และไม่ว่าใครก็แล้วแต่ มาดูหมิ่น หรือคิดในสิ่งที่ไม่ดีต่อสถาบันอันเป็นที่รักของพวกเราทุกคน"

‘วราวุธ' นำทัพข้าราชการ พม.กว่า 700 คน สวมเสื้อม่วง ร่วมแสดงพลังความจงรักภักดีต่อ ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’

(15 ก.พ.67) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวแถลงการณ์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่องขอพระราชทานน้อมแสดงความจงรักภักดีแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. นายนิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. คณะที่ปรึกษารมว.พม. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. จำนวนกว่า 700 คน เข้าร่วมพิธี

นายวราวุธ อ่านแถลงการณ์ฯ ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นสถาบันหลักของชาติ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนชาวไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน การรักษาความมั่นคงสถาบันหลักของชาติ ถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ให้ดำรงอยู่คู่ประเทศชาติอย่างมั่นคงตลอดไป ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ และทรงมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการศึกษา ด้านการอนุรักษ์-ศิลปวัฒนธรรมไทย ด้านการพัฒนาสังคม ด้านการต่างประเทศ ด้านการสาธารณสุข ด้านการศาสนา รวมถึงโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณารับสมาคม สถาบัน และองค์กรต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริ หรือองค์กรต่างๆ ที่ช่วยเหลือและพัฒนาประชาชนไว้ในพระราชูปถัมภ์จำนวนมาก โดยทรงให้การสนับสนุนสมทบทุนจัดตั้งเป็น ‘กองทุนการกุศลสมเด็จพระเทพฯ’ เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนผู้ทุกข์ยากเดือดร้อน ผู้ด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลน และสาธารณประโยชน์ต่างๆ แก่ประชาชนคนไทยและประเทศเพื่อนบ้านจนเป็นที่ประจักษ์

นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. ได้น้อมนำพระราชจริยาวัตรของพระองค์ คือ พระเมตตาและความเอาพระทัยใส่ในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นในการช่วยเหลือประชาชนและผู้ที่เดือดร้อนทุกคน นำมาขับเคลื่อนการทำงานของกระทรวงร่วมกับภาคีเครือข่ายในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในโอกาสนี้ จึงขอพระราชทานน้อมแสดงความจงรักภักดีแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศรวมพลังแสดงความจงรักภักดี ถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย

นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดพิธีถวายความเคารพและการแสดงความจงรักภักดีแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นการแสดงความระลึกถึงและถือเป็นพระมหากรุณาที่คุณที่พระองค์ท่านมีต่อกระทรวง พม. สำคัญที่สุดเป็นสิ่งที่ปวงชนชาวไทยทุกคนพึงตระหนักและพึงหวงแหน ปกป้อง และรักษาเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันที่อยู่เคียงข้างกับพี่น้องประชาชนคนไทยและอยู่คู่กับประเทศชาติมาอย่างยาวนาน การแสดงพลังในเช้าวันนี้ เป็นการแสดงให้ทุกคนได้เห็นว่าจะตราบใด เวลาจะเปลี่ยนไป จะอย่างไรก็แล้วแต่ พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนส่วนใหญ่พวกเราให้ความเคารพให้ความนับถือและพร้อมที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย และพวกเราจะไม่ยอมให้ใครไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด กลุ่มบุคคลใด หรือใครก็แล้วแต่ จะมาลบหลู่ดูหมิ่นหรือพูดในสิ่งที่ไม่ดีถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

"วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะเพียงแค่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ทราบว่ามีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ร่วมแสดงพลังกันในวันนี้ และเป็นการส่งสัญญาณไปถึงทุกคน ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่อยู่คู่กับประเทศชาติ อยู่คู่กับคนไทย และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นพวกเราจะปกป้องและเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราตลอดไป" นายวราวุธ กล่าว

🔎ส่อง 6 ผลงาน ‘รมว.ท็อป’ แห่ง พม.

รมว.ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากพรรคชาติไทยพัฒนา ตลอดการเข้ารับตำแหน่งเจ้ากระทรวง พม. ภายใต้รัฐบาล ‘เศรษฐา 1’ ได้สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนคนไทย ได้แก่

✨โครงการ 'ปฏิบัติการคนไทยไม่ไร้ที่พึ่ง' ช่วยเหลือคนไร้บ้าน พัฒนาครัวเรือนเปราะบางในภาวะวิกฤต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยดำเนินงานเชิงรุกผ่านศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ตลอด 24 ชม.

✨เบี้ยเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า ดูแลตั้งแต่เกิดจนถึง 6 ปี จำนวน 2,288,337 ราย รับเงินอุดหนุน 600 บาท และขยายจาก 6 เดือน ถึง 3 ปี มาเป็น 3 เดือนจนถึง 3 ปี

✨ปรับเบี้ยผู้สูงอายุโดยจ่ายแบบขั้นบันไดถ้วนหน้า เดือนละ 1,000 บาททุกคน เบี้ยคนพิการ 1,000 บาท (เดิม 800 บาท) ตอบแทน ผู้ช่วยฯ ชม.ละ 50 เป็น 100 บาท

✨สร้างบ้านมั่นคงเฟสใหม่ ได้แก่ 1.ชุมชนเพิ่มทรัพย์พัฒนา 2.น้อมเกล้า 3.ทรัพย์สินเก่าใต้ แนวคิด 'บ้านมั่นคงชุมชนเข้มแข็งใต้ร่มพระบารมี' บนที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

✨แถลงผ่าน Asia Pacific Population Conference (APPC) ครั้งที่ 7 เรื่องประชากรในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกรับมือสู่สังคมสูงวัยและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง

✨สนับสนุนผู้พิการทางการได้ยิน ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ด้วยการบริการล่ามภาษามือทุกครั้งที่มีการถ่ายทอดข่าวสารจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

‘รมว.ท็อป’ ชี้!! ไทยขาดแคลน ‘ล่ามภาษามือ’ จำนวนมาก เร่งเปิดหลักสูตรอบรม-ผลักดันมาตรการแก้ปัญหาระยะยาว

(1 เม.ย.67) ที่กระทรวง พม. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แถลงข่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พม. ครั้งที่ 4/2567 ประจำเดือนเมษายน ว่า ปัจจุบันพบว่า ‘ล่ามภาษามือ’ ขาดแคลนมาก ไม่เพียงพอกับจำนวนคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อสารความหมาย จากเดิมที่มีการจดแจ้งไว้กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เมื่อปี 2552 - 2560 จำนวน 659 คน 

แต่ปัจจุบันพบว่า ล่ามภาษามือที่จดแจ้งมีจำนวน 178 คน โดยเป็นล่ามภาษามือหูดี 170 คน และล่ามภาษามือหูหนวก 8 คน และยังพบว่าทั่วประเทศ มีล่ามภาษามือ อยู่ 41 จังหวัด และไม่มีล่ามภาษามือ 36 จังหวัด และยังพบว่าปัจจุบันล่ามภาษามือมีการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล มากที่สุด 3 จังหวัดแรก คือ กรุงเทพ 69 คน นนทบุรี 28 คน นครปฐม 16 คน

นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาดำเนินการโดย การจัดบริการล่ามภาษามือข้ามจังหวัด และการให้บริการออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน หรือแท็ปเล็ต ได้แก่ 1. TTRS Video บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอ และ 2. TTRS Live Chat บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาข้อความ รวมถึงบริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านเครื่องบริการถ่ายทอดการสื่อสารสาธารณะ (ตู้ TTRS) โดยมีเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดการสื่อสารเป็นคนกลางในการสื่อสารภาษามือระหว่างผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและผู้รับปลายทาง (คนหูดี) 

นายวราวุธ กล่าวว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว ( 25 กันยายน 66) คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือ ได้ออกประกาศ กำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการประเมินความรู้ ทักษะก่อนและหลังการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือชุมชน เพื่อขอรับการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือชุมชน ได้แก่ 

1. กรณีผู้รับการจดแจ้งรายใหม่ที่ยังไม่เคยเข้ารับประเมินความรู้และทักษะการเป็นล่ามภาษามือชุมชน ต้องสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาก่อน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน สอบภาคทฤษฎี 30 ภาคปฏิบัติ 70 ผู้สอบต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 

2.กรณีการต่ออายุการจดแจ้งของผู้ที่เคยเข้ารับประเมินความรู้และทักษะ โดยผ่านการสอบภาคทฤษฎีและปฏิบัติมาก่อน และให้มีรายงานผลการปฎิบัติงานที่ผ่านมา หรือเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมตามหลักสูตร หลักเกณฑ์ และวิธีที่คณะอนุกรรมการกำหนด

นายวราวุธ กล่าวว่า และก่อนหน้านั้น (9 สิงหาคม 66) กรม พก. ได้ออกประกาศคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือเรื่อง กำหนดให้การบริการล่ามภาษามือในบริการอื่นใด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติกรณีคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อสารความหมาย ที่มีความจำเป็นต้องใช้ล่ามภาษามือหูหนวก และล่ามภาษามือหูดี ในการแปลควบคู่กัน ให้จ่ายค่าตอบแทนต่อคน โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังแล้ว 

นายวราวุธ กล่าวว่า คนพิการทางการได้ยิน หรือ ผู้ดูแลคนพิการทางการได้ยิน มีสิทธิยื่นคำขอรับบริการล่ามภาษามือ เพื่อการติดต่องานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน, การขอทำใบขับขี่หรือบัตรแสดงตนอื่น ๆ ตามกฎหมาย, การจัดทำนิติกรรม สัญญา และการขออนุมัติหรือขออนุญาตเรื่องต่าง ๆ, การขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย การให้ปากคำต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การยื่นคำฟ้องหรือคำให้การในชั้นศาลในฐานะเป็นโจทก์ จำเลย หรือพยานบุคคล, การฝึกงาน ฝึกสอน สอบวัดผล เฉพาะกรณีที่ไม่ใช่การจัดบริการในสถาบันการศึกษา

นายวราวุธ กล่าวว่า หากถามว่าต้องมีจำนวนล่ามภาษามือกี่คนจึงจะเพียงพอต่อการให้บริการ นั้น ต้องมีการพิจารณาเสนอขอกรอบอัตราล่ามภาษามือประจำศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งเบื้องต้นอาจกำหนดและผลักดันให้มีอย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน โดยอย่างน้อยหน่วยงานที่ให้บริการประชาชนควรจะมีล่ามภาษามือไว้สำหรับให้บริการคนพิการ

นายวราวุธ กล่าวว่า จากสถิติข้อมูลคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อสารความหมาย ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ทั้งสิ้น 423,973 คน ซึ่งฐานข้อมูลทะเบียนกลาง ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 พบว่า กทม. มี 22,884 คน ภาคกลางและตะวันออก มี 84,350 คน ภาคอีสาน มี 162,456 คน ภาคใต้ มี 55,020 คน 

อย่างไรก็ตามทางสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย เคยวิเคราะห์ข้อมูลเฉลี่ยความสามารถในการให้บริการด้านภาษามือชุมชน ไว้ว่าคนหูหนวก 10 คนต่อล่ามภาษามือ 1 คน

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับคำถามที่ว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะผลักดันอย่างไรเพื่อแก้ไขวิกฤตขาดแคลนล่ามภาษามือ นั้น 

1. ระยะเร่งด่วน ประสานงานกับสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต, สมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย, สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ร่วมกันออกแบบหลักสูตรและวิธีการอบรมล่ามภาษามือ และจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินมาตรฐานล่ามภาษามือ 

2. ระยะกลาง สนับสนุนสถาบันการศึกษา หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง ให้รับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านล่างภาษามือ (หลักสูตร 1 ปี) และหลักสูตรล่ามภาษามือระดับปริญญาตรี ให้กับผู้สนใจทั้งคนพิการและไม่พิการ โดยอาจแบ่งระยะเวลาการเรียนและการปฎิบัติงานจริงเป็นช่วงเวลา และประสานกับสำนักงาน ก.พ. เพื่อกำหนดตำแหน่งล่ามภาษามือเป็นตำแหน่งขาดแคลน รวมทั้งการมีค่าตอบแทนพิเศษ ให้บรรจุประจำอยู่ในศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัดทั่วประเทศ 

3. ระยะยาว ให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะบุคลากรของกระทรวง พม. ได้เรียนหลักสูตรล่ามภาษามือเพื่อรองรับการทำหน้าที่ในหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 

4. การพัฒนาร่างภาษามือโดยใช้ AI หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ มาทดแทน

‘วราวุธ’ ชมหนัง ‘หลานม่า’ พร้อมมอบรางวัล ส่งเสริมความสัมพันธ์ครอบครัว ชี้นำเสนอดี แนะให้คนไทย เอาใจใส่บุพการี สร้าง ‘ความรัก-ความอบอุ่น’

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าชมภาพยนตร์เรื่อง ‘หลานม่า’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุและครอบครัว ซึ่งกระทรวง พม. มอบโล่รางวัล ในฐานะส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุและครอบครัว ในฐานะองค์กรเครือข่าย ที่สนับสนุนงานด้านผู้สูงอายุ เนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติประจำปี 2567 ว่า เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้เข้าใจง่าย ทำให้คิดถึงหลายครอบครัว ที่บางครั้งเราอาจหลงลืมไปบ้างว่าเรายังมีอาม่าให้คิดถึง 

นายวราวุธ กล่าวว่า เมื่อสังคมเปลี่ยนไปผู้คนจะมีการงานทำมากขึ้น จึงมีเวลาให้กับผู้มีพระคุณน้อยลง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกครอบครัวโดยเฉพาะสังคมในปัจจุบัน สิ่งที่สำคัญคือจะทำอย่างไรที่เราทุกคนจะต้องหาเวลา ติดต่อกับผู้ที่เราเคารพ บุพการีของเรา อย่างตนเองทุกเช้าจะตั้งนาฬิกา 8 โมงเช้าแล้วโทรศัพท์หาคุณแม่แจ่มใส (ศิลปอาชา) เพราะคิดว่าไม่ได้เจอหน้าแต่ได้ยินเสียงกันก็ยังดี เพราะผู้ใหญ่เขามักจะไม่พูดหรอกว่าคิดถึง โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน ที่จะไม่พูดคำว่าคิดถึง หรือมาแสดงความอ่อนแอให้ลูกหลานได้เห็นโดยเด็ดขาด จะไม่มาอ้อนลูกหลาน ฉะนั้นหากลูกหลานยื่นมือไปและแสดงให้เห็นว่าเรามีความห่วงใย เรารัก มีความเคารพ ห่วงหาอาทรกันอยู่ นั่นคือความอุ่นใจ ที่ลูกหลานให้กับท่านได้ เพราะผู้หลักผู้ใหญ่เมื่อมาถึงวันนี้ไม่ต้องการอะไรมากต้องการเพียงสิ่งที่มีความสุขและอบอุ่นใจเท่านั้น

“ผมดูวันนี้ไม่ได้ร้องไห้แต่ภรรยาต่อมน้ำตาแตก โดยเฉพาะตอนที่หลานไปจับมืออาม่าบ้านพักคนชราแล้วบอกว่า กลับบ้านนะ แสดงให้เห็นว่าความห่วงหาอาทรของหลานที่บอกว่ากลับไปอยู่บ้านเราดีกว่า บ้านพักคนชราไม่ใช่เป็นสิ่งไม่ดี แต่ถ้าหากยังมีลูกหลานที่สามารถดูแลกันได้ ในบ้านปลายชีวิตให้เวลากับท่านดีกว่า ดีกว่าที่จะไปให้เวลากับท่านตอนที่อยู่ฮวงซุ้ยแล้ว มันไม่เกิดประโยชน์ หนังเรื่องนี้สอนพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสถานะใด ยากดีมีจนอย่างไร ปัญหาแบบนี้เกิดกับทุกบ้าน และเป็นเครื่องเตือนสติได้ว่า ในท้ายที่สุดแล้วสถาบันครอบครัว และ ผู้หลัก ผู้ใหญ่ เป็นสิ่งที่ดึงดูด ให้ทุกคนกลับมารวมกัน คนสูงวัยคือหัวใจของครอบครัวและสถาบันครอบครัว ซึ่งวันนี้สถาบันครอบครัวของประเทศไทยเปราะบางเหลือเกิน เรากลับมาหาผู้สูงอายุกันให้ความสำคัญกับท่านและสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมของประเทศไทยให้มีความอบอุ่นและเดินไปข้างหน้าสร้างความหวังให้กับคนรุ่นต่อๆไป”

‘วราวุธ’ ส่ง ทีม พม. รุดช่วย ผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้ ที่คลองเตย เตือน!! ช่วงนี้อากาศร้อน ระวัง ‘ฮีทสโตรก-เครื่องใช้ไฟฟ้า’

(27 เม.ย. 67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชน ภายในชุมชนพัฒนาใหม่ (ชุมชนคั่วพริก) เขตคลองเตย เมื่อค่ำวันที่ 26 เม.ย.67ที่ผ่านมา ว่า 

ตนต้องขอแสดงความเสียใจกับพี่น้องในชุมชนพัฒนาใหม่ที่เกิดเหตุไฟไหม้กับความสูญเสีย และความเสียหายที่เกิดขึ้น ตนได้ให้กองคุ้มครองฯศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และกรมกิจการผู้สูงอายุ อพม.เขตคลองเตย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพม. ให้ลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจ และดูว่าพี่น้องประชาชนต้องการความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ซึ่งทุกหน่วยงาน ทีมงาน อพม.ในคลองเตย และผู้บริหารของกระทรวง พม. จะได้ลงพื้นที่เข้าทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ 

นายวราวุธ กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูร้อนที่พี่น้องประชาชนคงสังเกตได้ว่ามันร้อนมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา จึงขอให้กลุ่มผู้เปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน คนพิการ และผู้สูงอายุ ระมัดระวังเรื่องสุขภาพให้ดี โดยเฉพาะฮีทสโตรก หมั่นดื่มน้ำบ่อยๆ และขอให้อยู่ในที่ร่ม ดูแลเรื่องระบบไฟฟ้าภายในบ้านเรือน เพราะอุณหภูมิที่สูงมากในขนาดนี้บางครั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เรามีอยู่ไม่ว่าจะเป็น พัดลม ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ อาจจะร้อนจนเกินไปทำให้ระบบไฟฟ้าร้อนมากจนเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นได้อย่างที่เราได้เห็นหลายๆข่าว ส่วนสาเหตุของเพลิงไหม้ชุมชนพัฒนาใหม่นั้น ก็ต้องรอดูสาเหตุอีกครั้งว่าเกิดจากเหตุใด ต้องขอฝากความห่วงใยให้กับพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังดูแลสุขภาพตัวเองและครอบครัว ให้มีความปลอดภัยหากมีสิ่งใดที่กระทรวงพม. จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้เราจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ และขอให้แจ้งมาที่ สายด่วน 1300 ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) หรือ HuSECตลอด 24 ชั่วโมง

‘วราวุธ’ เผยในเวทีอภิปรายระดับโลก รมต.ลาตินอเมริกา ชื่นชม ประเทศไทย ที่กล้าออกกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ เป็นประเทศแรก ในกลุ่มประเทศอาเซียน

(1 พ.ค. 67) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) และคณะผู้แทนไทย  ซึ่งอยู่ระหว่างเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD 57) ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2567 โดยในช่วงเช้าได้ร่วมการอภิปรายระดับสูงระหว่างรัฐมนตรีในฐานะผู้แทนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เกี่ยวกับผลการประชุม ข้อค้นพบสำคัญ และข้อเสนอแนะจากการประชุมว่าด้วยประชากรและการพัฒนาระดับภูมิภาค โดยร่วมอภิปรายกับรัฐมนตรีจากประเทศคองโก มอลโดวา โบลิเวีย และซีเรีย

นายวราวุธ กล่าวว่า ในเวทีการอภิปรายระดับสูงระหว่างรัฐมนตรีในฐานะผู้แทนภูมิภาคต่างๆ ตนเองจะขึ้นเป็นตัวแทนของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งไม่เฉพาะเป็นตัวแทนของประเทศไทย แต่ยังเป็นตัวแทนของกว่า 70 ประเทศที่มีประชากรกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลก โดยตนเองได้พูดถึงปัญหาว่ามีอัตราการเกิดของเด็กใหม่น้อย มีการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมสูงอายุมากขึ้น ในพื้นที่ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เรามีแนวทางแก้ไขกันอย่างไร แต่ละประเทศมีแนวทางแก้ไขกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเด็กแรกเกิด  การดูแลสุภาพสตรีช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งแต่ละประเทศมีการนำเสนอแนวคิดต่างๆ มากมาย และที่สำคัญได้มีโอกาสพูดคุยกับรัฐมนตรีที่มาจากภูมิภาคอื่นๆ 

ซึ่งมีรัฐมนตรีจากลาตินอเมริกาคนหนึ่งถามว่าจริงหรือไม่ที่ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการสมรสเท่าเทียม ตนเองได้บอกว่าปลายปีนี้ เราได้จะเห็นกฎหมายฉบับนี้ออกมาใช้งานแน่นอน ซึ่งรัฐมนตรีดังกล่าวแสดงความชื่นชมและทึ่งในความสามารถและความกล้าหาญของประเทศไทยที่เป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน

‘วราวุธ’ เผย ต่างชาติชื่นชม ‘กม.สมรสเท่าเทียม’ ยกย่องเป็นประเทศตัวอย่างที่ ‘ทันสมัย-ก้าวหน้า’

(7 พ.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ตนและคณะผู้แทนไทยเพิ่งกลับจากการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD 57) ที่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยการเดินทางไปครั้งนี้ ได้มีการเสนอนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤติประชากร ในนามของประเทศไทย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากนานาอารยประเทศ 

การที่เราได้มีโอกาสนำเสนอต่อห้องประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยของเราได้ดำเนินการด้านใดไปแล้วบ้าง และมีแผนจะดำเนินการอย่างไร ทั้งในส่วนของห้องประชุมใหญ่และการประชุมย่อยนั้น ได้รับการตอบรับและทุกประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง และเห็นตรงกันว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องวิกฤติประชากรนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่การเพิ่มประชากร แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ภาพใหญ่ และการแก้ปัญหาสังคม และหลาย ๆ เรื่องรวมกันนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญและละเอียดอ่อน เป็นภารกิจของทุกกระทรวงจะต้องดำเนินการ

นายวราวุธ กล่าวว่า นอกจากนี้ มีรัฐมนตรีจากลาตินอเมริกาได้สอบถามถึงประเทศไทยของเรานั้นจะมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการสมรสเท่าเทียม ซึ่งตนได้ยืนยันกับรัฐมนตรีคนดังกล่าวไปว่า ภายในไม่เกินปลายปีนี้ ประเทศไทยของเราจะมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาใช้งานแน่นอน ซึ่งรัฐมนตรีคนดังกล่าวถึงกับทึ่งและแสดงความชื่นชมว่าเป็นความก้าวหน้าและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับอีกหลายประเทศ และประเทศไทยเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา ย่อมแสดงให้เห็นว่าในมิติสังคมของประเทศไทย เราทำงานและได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ โดยที่ไม่น้อยหน้าประเทศใดเลย

‘พม.’ สั่งพ่อแม่เด็กเชื่อมจิต ห้ามนำลูกไปแสวงหากำไร พร้อมย้ำให้คำนึงถึงสิทธิ - เสรีภาพของเด็กเป็นหลัก

(4 มิ.ย.67) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เด็กชายวัย 8 ขวบ ที่อ้างว่าตัวเองสอนธรรมะด้วยวิธีการเชื่อมจิตได้ พร้อมพ่อ-แม่ และทนายความ ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขอให้ พม.มีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กชายวัย 8 ขวบคนดังกล่าวจากการถูกใส่ร้าย

ต่อมา เวลา 09.40 น. ครอบครัวของเด็กพร้อมด้วยนายธรรมราช สาระปัญญา ทนายความ ได้นำเอกสาร 1 ชุด เข้าพบเจ้าหน้าที่ พม.โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงเดินทางกลับ โดยไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแต่อย่างใด

ต่อมา นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม. เปิดเผยภายหลังร่วมพูดคุยกับพ่อแม่และเด็กรวมทั้งทนายความ ว่า วันนี้พ่อและแม่ของเด็กได้นำหนังสือมายื่นต่อเจ้าหน้าที่เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ พม.จ.สุราษฎร์ธานี สืบเนื่องจากที่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปที่บ้านของเด็ก 8 ขวบ และเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง ส่วนรายละเอียดอยู่ในเอกสาร จากการพูดคุยกับพ่อแม่เด็ก ได้มีคำสั่งให้พ่อแม่ยุติการนำลูกไปแสวงหากำไร ให้คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของเด็กเป็นหลัก ซึ่งทางพ่อแม่รับปากว่าจะดูแลเด็กเป็นอย่างดี

นางอภิญญา กล่าวว่า จากการพูดคุยกับพ่อแม่และเด็ก 8 ขวบดูปกติดี ไม่มีปัญหาอะไร บรรยากาศเป็นไปด้วยความผ่อนคลาย หลังจากนี้จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

ส่วนกรณีที่พ่อแม่เด็กยื่นขอให้ไต่สวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ พม.จ.สุราษฎร์ธานี เป็นกรณีฉุกเฉินนั้น ปรากฏว่าศาลได้ตอบกลับมาว่าจะไต่สวนเป็นกรณีปกติ ขณะนี้ทาง พม.อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสาร เพื่อไปยื่นต่อศาลในวันไต่สวนวันที่ 17 มิ.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่นางอภิญญาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนอยู่นั้น พ่อแม่พร้อม 8 ขวบและทนายความได้ขึ้นรถตู้ออกไปจาก พม.ทันที ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยบอกกับผู้สื่อข่าวว่าจะออกมาแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อน โดยอ้างว่าเด็ก 8 ขวบและครอบครัวถูกใส่ร้ายจากสื่อและกลุ่มผู้ไม่หวังดี ใส่ร้ายว่าเป็นลัทธิทำให้ได้รับความเสียหาย อับอาย ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ขณะที่เฟซบุ๊กเพจ ทนายธรรมราช The Lawyer of legality มีการโพสต์ข้อความว่า “กำลังเดินทางไปกองปราบปราม เพื่อมอบหลักฐานข้อเท็จจริง ให้กับ บก.ปอท.”

‘วราวุธ’ ย้ำ!! ไม่นิรโทษกรรม ‘ม.112-คดีอาญาร้ายแรง-ทุจริต’ เชื่อ!! พรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นในแนวทางเดียวกัน

(5 ก.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมอาจจะได้ข้อสรุปเรื่องการนิรโทษกรรม จะครอบคลุมคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 หรือไม่ ว่า พรรคชทพ. เสนอนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคเข้าไปเป็น กมธ. และทราบว่าจะให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน 

ส่วนขั้นตอนการดำเนินงาน จะมีหน่วยงานใดเข้าร่วม และพิจารณาอย่างไร คงต้องไปลงในรายละเอียดอีกครั้งนึง 

ทั้งนี้พรรคชทพ.มีจุดยืนและย้ำมาตลอด ตั้งแต่ตั้งรัฐบาลนี้และเป็นหัวใจสำคัญที่จะร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่าคดีที่มีความอ่อนไหว โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นมาตรา 112 คดีที่เกี่ยวกับอาชญากรรมและทำให้เสียชีวิต คดีที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน เราจะไม่ร่วมอยู่ในการพิจารณาและไม่ควรนำมารวมอยู่ในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเชื่อว่าพรรคร่วมทุกพรรคคงเห็นตรงกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 พรรคชาติไทยพัฒนาจะยืนยันจุดยืนเดิมหรือหันไปร่วม เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน นายวรวุฒิกล่าวย้ำว่า ชทพ. ยืนยันจุดยืนเดิม 3 ประเด็น คือ ไม่พิจารณาคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 เรื่องคดีอาญาร้ายแรงที่เสียชีวิต รวมไปถึงคดีทุจริต

เมื่อถามว่าจะไม่มีปัญหาใช่หรือไม่หากพรรคแกนนำเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม มาตรา 112 ในขณะที่ชทพ.ยังยืนยันในจุดยืนไม่รวม นายวราวุธ กล่าวว่า ให้ถึงเวลานั้น แล้วค่อยมาพิจารณาอีกทีแต่จุดยืนของเราไม่เปลี่ยนแปลง อย่าเพิ่งตั้งสถานการณ์ถ้าเผื่อ เพราะไม่แน่ใจว่าในอนาคต จะเกิดอะไรบ้าง แต่คิดว่าในท้ายที่สุดคงเห็นไปในแนวทางเดียวกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top