Wednesday, 21 May 2025
กระทรวงการคลัง

'สรรพสามิต' ลดภาษี 'ผับ บาร์ ไนต์คลับ ค็อกเทลเลาจน์' จาก 10% เหลือ 5% อีก 1 ปี ดันท่องเที่ยวไทยตลอดปี 68

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสถานบริการ จาก 10% เป็น 5% ของรายรับ ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2568 เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ

ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของรัฐบาล รวมถึงการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวไทย 'Amazing Thailand Grand Tourism Year 2025'  ที่จะสร้างการกระจายรายได้ไปยังท้องถิ่น และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เที่ยวไทยมากขึ้นนั้น กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจเกี่ยวข้องโดยตรงกับการท่องเที่ยว คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบปรับลดภาษีสรรพสามิตสถานบริการหรือหย่อนใจ อาทิ ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับบาร์ ค็อกเทลเลาจน์ ฯลฯ จาก 10% เหลือ 5% ของรายรับของสถานบริการ ซึ่งจะหมดอายุ 31 ธันวาคม 2567 ออกไปอีก 1 ปี โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2568 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวและบริการ นอกจากนี้ จะช่วยส่งเสริมสภาพคล่องและลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ซึ่งจะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น ช่วยกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

ซึ่งภายหลังการปรับลดภาษีจาก 10% เหลือ 5% ในปี 67 และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดึงผู้ประกอบการเข้าระบบภาษีเพิ่ม ทำให้ฐานภาษีกว้างขึ้น ทำให้มีผู้ประกอบสถานบริการหรือหย่อนใจจดทะเบียนเสียภาษีเพิ่ม 1,511 ราย เพิ่มขึ้นถึง 60.92% จำนวนผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการประกอบการเพิ่มขึ้น 52.06%  และกรมสรรพสามิตมีรายได้ภาษีสรรพสามิตสถานบริการหรือหย่อนใจเพิ่มขึ้น 31.24%

'คลัง' ปลุกพลัง-ติดปีก SME ออก 2 Soft loan 2 หมื่นล้าน ดอกเบี้ย 3% ผ่าน SME Bank

ดร. เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังต้องการเข้าช่วยเหลือ SME ที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินพาณิชย์ เนื่องจากยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในภาวะที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ รัฐบาลจึงเร่งใช้กลไกสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเพิ่มเติม โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการด้านการเงิน 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อปลุกพลัง SME และ 2) โครงการสินเชื่อ Beyond ติดปีก SME ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME-D Bank) ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อ 'ปลุกพลัง SME' วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการให้กับ SME รายย่อยและมีความเปราะบางที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 2 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1 – 3 ร้อยละ 3 ต่อปี ปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 12 เดือน รับคำขอถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568

2) โครงการสินเชื่อ Beyond 'ติดปีก SME' วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ ปรับเปลี่ยนทรัพย์สินหรือเครื่องจักร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้กับ SME ที่มีรายได้ต่อปีไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1 – 3 ร้อยละ 3 ต่อปี ปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 12 เดือน รับคำขอถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568

ทั้ง 2 โครงการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุน SME ในทุกภาคธุรกิจทั้งในส่วนของ SME รายย่อยและมีความเปราะบาง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจทันที

'ผ่าภูมิ' หารือ 'ประธาน ICBC' ยกระดับความร่วมมือ FinTech ไทย-จีน เตรียมความพร้อม Fin Hub ไทย

เมื่อวันที่ (19 ก.พ.68) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ต้อนรับและหารือร่วมกับ Mr. Lin Liao ประธานธนาคารไอซีบีซี (Industrial and Commercial Bank of China: ICBC) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ICBC

นายเผ่าภูมิ และ Mr. Lin Liao ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของธนาคาร ICBC ทั้งในระดับโลกและในไทย ซึ่งได้ให้บริการด้านสินเชื่อ การอำนวยความสะดวก ด้านการค้าการลงทุนระหว่างจีนและไทย รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการจีนที่ต้องการลงทุนในไทย และเห็นพร้อมกันถึงโอกาสในการยกระดับความร่วมมือทางการเงินและเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ ผ่านธนาคาร ICBC ซึ่งเป็นธนาคารที่มีมูลค่าสินทรัพย์มากที่สุดในโลก และมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเงินระหว่างประเทศ

นายเผ่าภูมิฯ กล่าวว่า การมาเยือนของคณะผู้บริหารธนาคาร ICBC นับเป็นโอกาสอันดีในการกระชับความร่วมมือทางการเงินและเศรษฐกิจระหว่างไทย–จีน เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกัน และได้หยิบยกประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น ดังนี้ 1) การเชื่อมโยงธนาคาร ICBC กับโครงการ Financial Hub ไทย เพื่อเพิ่มบทบาทของธนาคาร ICBC ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นช่องทางใหม่ให้ธนาคาร ICBC ผลักดันโครงการ Belt and Road Initiative ของรัฐบาลจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นผ่านสิทธิประโยชน์ต่างๆ ภายใต้ Financial Hub 2) การใช้กลไกทางการเงินสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นต้น ตลอดจนการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่มุ่งสู่ตลาดจีน ผ่านธนาคาร ICBC 3) ประสานและยกระดับการลงทุนด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และการพัฒนาแพลตฟอร์มธนาคารดิจิทัล เพื่อรองรับธุรกรรมข้ามพรมแดน และพัฒนา e-CNY (Digital Yuan) คู่ขนานกับการพัฒนา CBDC ของไทย และ 4) การพัฒนาศักยภาพของสถาบันการเงินของรัฐในด้านการเงินสีเขียว (Green Finance) ร่วมกับ EXIM Bank ซึ่ง ICBC มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน เพื่อพัฒนากลไกสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวและเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ

กระทรวงการคลังและธนาคาร ICBC ต่างแสดงเจตนารมณ์ร่วมในการกระชับความร่วมมือทางการเงิน และเศรษฐกิจระหว่างไทย–จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและยกระดับศักภาพทางการเงินของทั้ง 2 ประเทศ

ครม. ไฟเขียว ตั้งกองทุนใหม่ ‘Thai ESG Extra’ หวังโยกเงินจาก LTF จูงใจลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 แสนบาท

ครม.ไฟเขียว Thai ESG Extra โยกเงินจาก LTF เดิมเข้ากองทุนใหม่ ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 แสนบาท พร้อมให้ซื้อกองทุนใหม่ได้ในวงเงินอีก 3 แสนบาท พร้อมลดหย่อนภาษีได้ “พิชัย” เชื่อชะลอแรงขายหุ้น สร้างความเชื่อมั่นเพิ่มในช่วงตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก

(11 มี.ค. 68) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมเห็นการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนกองทุนใหม่ หรือเรียกว่ากองทุน “Thai ESG Extra” โดยกองทุนนี้จะรองรับเงินลงทุนของนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้น 2 ส่วนโดยส่วนแรกมาจากเงินลงทุนที่มาจากนักลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ปัจจุบันมีวงเงินคงค้างอยู่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้จะให้นักลงทุนโยกเงินจากกองทุน LTF มาอยู่ในกองทุน Thai ESG Extra โดยได้สิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุด 5 แสนบาท สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในปี 2568 ได้ 3 แสนบาท ส่วนที่เหลืออีก 2 แสนบาท จะให้ใช้สิทธิ์ในปีภาษีต่อๆไปปีละ 50,000 บาทจนครบจำนวน อีกส่วนหนึ่งจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่ต้องการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน Thai ESG Extra เพื่อลดหย่อนภาษีซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นเงินลงทุนใหม่โดยสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 3 แสนบาทในปี 2568 โดยจะต้องซื้อหน่วยลงทุนภายในระยะเวลา 2 เดือน ในช่วงเดือน พ.ค. - มิ.ย.ปีนี้

นายพิชัย กล่าวว่าปัจจุบันสถานการณ์ในตลาดหุ้นทั่วโลกถือว่ามีความผันผวนมากจากนโยบายของโดนัลก์ ทรัมป์ที่มีการปรับขึ้นภาษีกับคู่ค้า ล่าสุดในสหรัฐฯตลาดหุ้นก็ลดลงมากทั้งดัชนี Nasdaq และดาวน์โจนส์ ส่วนดัชนีหุ้นปรับตัวลดลงโดยหุ้นไทยเคยลงมาอยู่ในระดับต่ำประมาณ 1,200 จุด ตอนนั้นเราทำกองทุนวายุกภักษ์ก็สามารถดึงดัชนีขึ้นไปได้ที่ประมาณ 1,400 จุดก่อนจะปรับลดลงมาที่ระดับ 1,200 จุดและได้รับผลกระทบจากข่าวสารภายนอก

ทั้งนี้รัฐบาลมีแนวคิดว่าในกองทุน ESG มีการเลือกหุ้นที่ดีมีอนาคต การเติบโตที่ยั่งยืน และมีการลงทุนในเทคโนโลยี ซึ่งถือว่ามีโอกาสเติบโตในอนาคต เมื่อมีความชัดเจนเรื่องนโยบายนี้ก็เชื่อว่าจะสามารถชะลอแรงขายของดัชนีหุ้นลงได้

รัฐบาลไทยตั้งเป้ายกระดับเศรษฐกิจปี 2568 ทุ่ม 150,000 ล้านบาท หวังดัน GDP โตเกิน 3%

(12 มี.ค. 68) สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า รัฐบาลไทยตั้งเป้ายกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สูงกว่า 3% ในปี 2568 โดยอาศัยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม มูลค่า 150,000 ล้านบาท (ราว 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งจะถูกนำไปปฏิบัติภายในสิ้นไตรมาสที่ 3 โดยนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

“เรามีกระสุนเตรียมไว้เพียงพอ” นายเผ่าภูมิกล่าว พร้อมย้ำว่าการใช้จ่ายของรัฐจะเป็นไปอย่างชาญฉลาดและเหมาะสมกับช่วงเวลา

หนึ่งในมาตรการสำคัญที่รัฐบาลให้ความหวังคือโครงการ “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” มูลค่า 450,000 ล้านบาท (13,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งมีเป้าหมายโอนเงิน 10,000 บาท (ราว 300 ดอลลาร์สหรัฐ) ให้ประชาชนราว 45 ล้านคน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังซบเซาตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าการบริโภคยังคงเป็นปัญหา แม้ว่าการชำระเงินในระยะก่อนหน้าจะถูกนำไปใช้บางส่วน แต่มีประชาชนจำนวนหนึ่งนำเงินไปชำระหนี้มากกว่าการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วอยู่ที่เพียง 3.2% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวเพียง 2.5% ซึ่งต่ำกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ และตามหลังประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เฟสต่อไปของโครงการแจกเงิน ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล จะใช้ช่องทางดิจิทัลในการส่งเงินให้กับประชาชนอายุระหว่าง 16-20 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน โดยจะเริ่มต้นในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า “เพราะเราใช้กลไกของเงินดิจิทัลวอลเล็ต มันจึงสามารถควบคุมและส่งเงินไปยังที่ที่ต้องการมากขึ้นได้”

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยเดินหน้าผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น โครงการรถไฟทางคู่สายใต้และโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อยกระดับระบบขนส่งและการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมภาคการส่งออกและการบริการด้วยมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวและ Soft Power

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ที่คาดว่าจะช่วยให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สำคัญในภูมิภาค
"โครงการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้การขนส่งสินค้าเร็วขึ้นและลดต้นทุนทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเติบโตในอนาคต" นายเผ่าภูมิกล่าว

นอกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว รัฐบาลยังเดินหน้าผลักดันภาคบริการและการส่งออก โดยใช้มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนา Soft Power เช่น การสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิง อาหาร และวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาว

รัฐมนตรีคลังอังกฤษเผยแผนลดข้าราชการ 10,000 ตำแหน่ง หวังลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ 15%

(24 มี.ค. 68) ราเชล รีฟส์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอังกฤษ ได้ออกมาเปิดเผยแผนการปรับลดข้าราชการ 10,000 ตำแหน่ง โดยมีเป้าหมายหลักในการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของภาครัฐลงให้ได้ 15% ภายในระยะเวลาอันใกล้

การประกาศดังกล่าวถือเป็นการดำเนินมาตรการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากวิกฤตโควิด-19 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลอังกฤษหวังว่าจะสามารถใช้มาตรการดังกล่าวในการปรับโครงสร้างการบริหารงานภาครัฐเพื่อความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต

“เราต้องการทำให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพและค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้สามารถลงทุนในโครงการที่สำคัญและสร้างผลประโยชน์ระยะยาวต่อประชาชน” ราเชล รีฟส์กล่าวในการแถลงข่าว

แม้ว่าการปรับลดข้าราชการจะส่งผลกระทบต่อบางส่วนของภาครัฐ แต่รัฐบาลอังกฤษได้ยืนยันว่าจะมีการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่และองค์กรต่างๆ เพื่อรับรองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการภาครัฐ

สำหรับการตัดสินใจนี้ยังสะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลอังกฤษในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อและลดภาระหนี้สาธารณะ เพื่อรักษาความสามารถทางการคลังและเตรียมพร้อมสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ณ เดือนธันวาคม 2567 มีการคาดการณ์ว่าข้าราชการพลเรือนมีพนักงานประมาณ 547,735 คน ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งรวมถึงพนักงานชั่วคราวและพนักงานชั่วคราว 

โดยมาตรการลดข้าราชการจะเริ่มต้นภายในปีหน้าและรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้เสร็จสิ้นการปรับโครงสร้างการจ้างงานภาครัฐในช่วงปลายปี 2569 ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้รัฐบาลสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ทั้งนี้ การตัดสินใจดังกล่าวคาดว่าจะได้รับการจับตามองจากหลายฝ่าย ทั้งในแง่ของผลกระทบต่อข้าราชการและการให้บริการภาครัฐ รวมถึงการทบทวนว่ามาตรการนี้จะมีผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและสังคมอังกฤษในอนาคตอย่างไร

‘กระทรวงการคลัง’ เตรียมเสนอ!! ‘อารีย์ สกอร์’ เข้าครม. กลางปี 68 หวังช่วยปชช. เข้าถึงสินเชื่อ!! ผ่านแบงก์รัฐ ไม่ต้องพึ่งหนี้นอกระบบ

(3 พ.ค. 68) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย หัวข้อ Ari Score Sandbox ว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการจัดทำ Ari Score ( อารีย์ สกอร์ )

ซึ่งเป็นนวัตกรรมการทำเครดิตสกอริ่ง ( คะแนนเครดิต ) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างคะแนนเครดิตหรือข้อมูลเครดิตที่สามารถใช้ในการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น สำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ที่มักจะมีรายได้ไม่แน่นอน มีเงินออมและสินทรัพย์น้อย รวมถึงมีภาระค่าใช้จ่ายสูง

ทั้งนี้ อารีย์ สกอร์ ใช้ข้อมูลจากหลายแหล่ง เช่น ข้อมูลจากสวัสดิการแห่งรัฐ,ข้อมูลภาษี,หนี้สิน,เงินฝาก และข้อมูลเครดิตบูโร เพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้และวินัยทางการเงินของผู้ใช้บริการ มุ่งหวังที่จะช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ คาดเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลางปีนี้หรือไม่เกินมิ.ย.2568

“อารีย์ สกอร์ จะช่วยให้ประชาชนตัวเล็ก เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน สินเชื่อ เพื่อใช้ประกอบอาชีพหรือการดํารงชีวิต เพื่อจะไม่ได้เกิดเรื่องของสุญญากาศทางการเงินของครอบครัวต่อไป”

นายพรชัย กล่าวว่า ปัจจุบันคลังมีข้อมูลคนไทย จาก 3 แหล่งมาพัฒนาเวอร์ชันแรกเป็นอารีย์สกอร์ Gen 0-0.5 เช่น ทรัพย์สิน รายได้ และการรับสวัสดิการของรัฐ ซึ่งรวบรวมมาจากเครดิตบูโร สถาบันคุ้มครองเงินฝาก และกรมภาษีทั้งหมด

ซึ่งมีข้อมูลจากประชาชนที่มาลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจนถึงปี 2565 ประมาณ 19 ล้านคน รวมทั้งดูความสามารถประชาชนจากประวัติการชำระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เพื่อมาจัดทำเป็นคะแนนเครดิต

ทั้งนี้ในระยะต่อไปจะมีการพัฒนาเป็น อารีย์สกอร์ Gen 1 โดยใช้ข้อมูลจาก Data Lake ที่มีอยู่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ข้อมูลจากไปรษณีย์ ข้อมูลนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งจะมีการขอข้อมูลจากทางกองทุนเพื่อการกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มาใช้ประกอบด้วย

สำหรับโดยสถาบันการเงินที่จะนำอารีย์ สกอร์ ไปใช้ในการอนุมัติสินเชื่อกลุ่มแรก คือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top