ขนส่งทางราง เร่งสำรวจสถานีรถไฟภาคอีสาน ยกระดับมาตรฐาน 8 ด้าน สู่การเป็น ‘สถานีดีพร้อม’
กรมการขนส่งทางราง เดินหน้าตรวจประเมินสถานีรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ยกระดับสู่การเป็น ‘สถานีดีพร้อม’
เมื่อวันที่ (17 มิ.ย. 65) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ลงพื้นที่ตรวจประเมินความพร้อมของสถานีที่ให้บริการขนส่งทางรางในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบไปด้วย สถานีนครราชสีมาหรือที่ชาวโคราชเรียกกันว่า ‘หัวรถไฟ’ ประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานีบุรีรัมย์ และสถานีศรีสะเกษ ซึ่งสถานีเหล่านี้เป็นสถานีที่เข้าร่วมเข้ากิจกรรม ‘สถานีดีพร้อม’ เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการให้มีประสิทธิภาพมุ่งสู่มาตรฐานสากล ซึ่งจะมีการประเมินความพร้อมของสถานีตามมาตรฐานสากล 8 ด้าน ประกอบไปด้วย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการเชื่อมต่อ ด้านข้อมูลการเดินทางและประชาสัมพันธ์ ด้านความปลอดภัย ด้านความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านการออกแบบตามหลัก Universal Design ด้านการให้บริการ และด้านสุนทรียภาพ
จากการลงสำรวจสถานีนครราชสีมา สถานีแห่งนี้มีจุดเด่นตรงความสวยงามและมีกลิ่นไอของอาคารสมัยเก่า และได้มีการนำไม้หมอนมาประยุกต์ใช้ตกแต่งภายในสถานีทำให้ตัวสถานีดูมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้สถานีนี้ได้ให้ความสำคัญด้านการให้บริการของเจ้าหน้าที่และพนักงาน โดยจะมีการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงานในทุกวัน ส่งผลให้การให้บริการโดดเด่น รวดเร็วและฉับไว รองรับผู้โดยสารในทุกกลุ่มและทุกประเภท ซึ่งสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ด้านการให้บริการและด้านสุนทรียภาพ ที่นับว่าเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนและพัฒนาสถานีและองค์กรให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในปัจจุบันสถานีกำลังถูกยกระดับเพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่งของประเทศเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคายให้มีความทันสมัยและคล่องตัวมากขึ้นด้วย
ภายหลังจากการลงพื้นที่สถานีนครราชสีมาแล้วนั้น ถัดมา ขร. ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจประเมินสถานีบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสถานีที่มีความสำคัญต่อการขยายตัวและเศรษฐกิจของชุมชนตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2498 จวบจนปัจจุบัน เนื่องจากในอดีตพื้นที่บุรีรัมย์มีความทุรกันดารและเป็นเมืองเล็ก เมื่อการมาถึงของทางรถไฟทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในเรื่องเศรษฐกิจของชุมชน โดยชาวบุรีรัมย์สามารถนำพืชผลทางการเกษตรขึ้นรถไฟมาค้าขายในตัวเมืองและบริเวณด้านหลังสถานี และปัจจุบันการค้าขายบริเวณสถานีของชาวบุรีรัมย์ยังคงเป็นจุดเด่นดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการรถไฟ อาทิ ตลาดรีบวายที่ชาวบุรีรัมย์จะมาจับจ่ายซื้อผัก ผลไม้และของดีที่ถูกหาบเร่ขึ้นขบวนรถไฟท้องถิ่นมาขายในช่วงเช้าบริเวณด้านหน้าสถานี ประมาณ 10 นาที ก่อนจะนำสินค้าไปขายยังที่อื่นต่อไป นับว่าเป็นจุดเด่นของสถานีที่ให้ความสำคัญในด้านโครงสร้างพื้นฐานของตัวสถานีที่ช่วยส่งเสริมการค้าขายและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ชนบท
