‘คมนาคม’ ดันเพิ่มส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วง ‘รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์’ ชง ครม. เคาะ 24 ต.ค.นี้

(20 ต.ค. 66) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ว่าได้เร่งรัดการดำเนินการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสีแดง) ส่วนต่อขยาย ซึ่งขณะนี้ได้เสนอช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) รอบรรจุเป็นวาระในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะพิจารณาในการประชุมวันที่ 24 ต.ค.นี้ 

อย่างไรก็ตามส่วนอีก 2 เส้นทาง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา จะเสนอ สลค. ในช่วงต้นสัปดาห์หน้า ส่วนช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เบื้องต้นสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบทางวาจามาแล้ว คาดว่าจะเสนอ สลค. เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ได้ประมาณเดือน พ.ย.นี้ และคาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคา (ประมูล) ทั้ง 3 เส้นทางได้ในต้นปี 67 

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายต่าง ๆ โดยเฉพาะสายสีแดงจะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีระบบฟีดเดอร์ที่ดีป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรางให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยได้มอบให้ ขร. และกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) หารือร่วมกันในการจัดฟีดเดอร์เข้าถึงทุกสถานีโดยเร็วที่สุด ซึ่งเบื้องต้นมี 2 แนวทาง 

1.ปรับปรุงเส้นทางเดิม โดยเป็นแนวทางที่ทำได้เร็วที่สุด 
2.กำหนดเส้นทางใหม่ คาดว่าหากทำได้จะช่วยดึงดูดผู้โดยสารมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น

สำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง คาดว่าจะเสนอกลับไปยัง ครม. พิจารณาได้ภายในปี 66 ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และคาดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในปลายปี 67 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้บริการให้กับประชาชนมากขึ้น และช่วยคุ้มครองผู้โดยสาร อาทิ กรณีที่รถไฟฟ้าล่าช้า หรือรถไฟขัดข้อง ซึ่งจะกำหนดมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตาม 

ทั้งนี้จะช่วยทำให้ค่าโดยสารมีความเป็นธรรม และราคาถูกลงด้วย เพราะกำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามทุกระบบเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนไม่ว่าจะเป็นของผู้ประกอบการรายใดก็ตาม รวมทั้งการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลก็จะง่ายขึ้น อาทิ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพราะกฎหมายจะเขียนชัดเจนว่า ต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล โดยต้องเสนอมายังคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อกำหนดกลไกเยียวยาผู้ประกอบการต่อไป 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เน้นการพัฒนาระบบรางเชื่อมโลกทั้งหมด จึงได้สั่งการให้ติดตาม และเร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ระยะ (เฟส) ที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) และโครงการรถไฟทางคู่สายต่างๆ รวมทั้งเคลียร์ปัญหาต่าง ๆ ให้จบภายในสิ้นปี 66 โดยเฉพาะสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ที่ยังติดประเด็นเรื่องการดำเนินงานกับโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกัน 

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตลอดจนสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร(กม.) ที่ยังรอความชัดเจนเรื่องการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ซึ่งในประเด็นนี้ตนจะเป็นผู้เจรจากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยด้วยตัวเอง เชื่อว่าเรื่องนี้มีทางออกแน่นอน และยืนยันว่าต้องสร้างสถานีอยุธยา 

“ในการเจรจาจะนำทุกสิ่งวางขึ้นบนโต๊ะทั้งหมด ทั้งประโยชน์ที่จะได้รับ และผลเสีย มั่นใจว่าสถานีอยุธยาสามารถอยู่ร่วมกันกับชุมชน เมืองเก่าได้ และอาจเป็นสถานีที่สวยที่สุด เป็นแลนด์มาร์กดึงดูดให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมก็ได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันโครงการรถไฟไฮสปีดเฟสที่ 1 มีความคืบหน้าประมาณ 27% ซึ่งตามแผนต้องแล้วเสร็จภายในปี 70 โดยปัญหาต่าง ๆ ของ 2 สัญญานี้มีทางออกแล้ว 90%” นายสุรพงษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการมอบนโยบาย ขร. วันนี้ นายสุรพงษ์ ได้เร่งรัดให้การก่อสร้างโครงการรถไฟไฮสปีด ไทย-จีน ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ให้แล้วเสร็จภายในปี 2569 หรือเร็วกว่าแผนที่กำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2570