‘กรณ์’ ฉะ 2 รมต. แก้ปัญหา ‘ไฟป่า-ค่าไฟ’ ล้มเหลว ลั่น!! ชพก. มีแผนพร้อมจัดการ 2 ปัญหาเพื่อ ปชช.
(29 มี.ค.66) นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า แสดงความอึดอัดต่อท่าที่ของรัฐบาลในการให้สัมภาษณ์ของ 2 รัฐมนตรี ที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหา 2 ไฟ ได้แก่ ไฟป่าที่ก่อให้เกิดปัญหา PM2.5 และค่าไฟฟ้าที่รัฐบาลจะประกาศขึ้นราคาในภาคครัวเรือนในเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม
โดยนายกรณ์ ได้กล่าวถึงปัญหาการเผาป่าในไร่ข้าวโพดของประเทศไทย และไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลต่อสภาพอากาศของพี่น้องภาคเหนือ โดยเฉพาะคุณภาพอากาศที่เชียงรายถือว่าสาหัสมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ค่า PM2.5 สูงถึงเกือบ 500 หน่วย ซึ่งเป็นระดับอากาศที่เป็นพิษ หายใจไม่ได้เลย ตามรายงานทราบว่ามีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยายาลอย่างน้อย 3,000 คน ไม่นับรวมคนป่วยที่บ้านอีกเป็นจำนวนมาก รัฐบาลประกาศให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่กลับไม่มีมาตรการใด ๆ ที่จับต้องได้เพื่อให้ประชาชนมีความหวังว่าจะมีสถานการณ์จะดีขึ้น ตรงกันข้ามสถานการณ์กลับเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ตนรู้สึกอึดอัดและโกรธแทนพี่น้องคนไทยทุกคนที่เดือดร้อน
“ผมเห็นท่าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์สื่อที่ถามว่า ถึงเวลาประกาศเป็นภัยพิบัติฉุกเฉินแล้วหรือยัง ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานราชการมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อพี่น้องประชาชน แต่ ท่านตอบมาพอสรุปได้ว่า ยังประกาศไม่ได้ เพราะไม่รู้ประกาศไปแล้วจะนำไปสู่การมาตรการอะไร เพราะไม่มีมาตรการใด ๆ รองรับ และไม่รู้ด้วยว่าจะประกาศในพื้นที่ไหนบ้าง เนื่องจากไม่มีการกำหนดเกณฑ์ว่าคุณภาพอากาศต้องเลวร้ายระดับไหน ถึงจะประกาศเป็นภัยพิบัติ หรือ ภัยฉุกเฉินได้ ผมเชื่อว่า ใครฟังก็คงตกใจและหดหู่ใจว่า ปัญหาระดับวาระแห่งชาติที่ประกาศมาแล้ว 4 ปี แทนที่จะกระบวนการช่วยเหลือเฉพาะหน้า เช่นอุปกรณ์เครื่องรองรับบรรเทาปัญหา ทั้งหน้ากาก ยา เวชภัณฑ์ เครื่องฟอกอากาศ หรือแม้แต่การอพยพประชาชนที่อาจมีปัญหาเรื่องภูมิแพ้ ทางเดินหายใจ ออกจากพื้นที่เสี่ยง ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน เพื่อจะได้มีการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ” นายกรณ์ กล่าว
นายกรณ์ กล่าวว่า พรรคชาติพัฒนากล้า มีชุดความคิดที่เป็นข้อเสนอมาตรการระยะยาวในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาควันภาคเหนือที่ก่อให้เกิด PM2.5 นั้น เกิดจากการเผาในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเมียนมา และ สปป.ลาว ที่ส่วนหนึ่งเราเข้าใจว่าเกษตรกรต้องทำมาหากินด้วยการปลูกไร่ข้าวโพดสัตว์เลี้ยง เมื่อถึงเวลาเตรียมการเพาะปลูกในแต่ฤดู ก็ต้องเผาไร่สร้างมลพิษให้กับพี่น้องประชาชน เราจึงต้องแก้ที่ต้นตอด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ คือ ชักจูงให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนที่ไม่ต้องเผา คือ การปลูกป่าเศรษฐกิจจากพืช 58 ชนิด ที่ได้ปลดแอกให้สามารถปลูกได้อย่างถูกกฎหมาย โดยมีการจ่ายเงินเดือนให้กับเกษตรกรในจำนวนที่มากกว่าการปลูกไร่ข้าวโพด และในระยะยาวเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ส่วนหนี่งจะเป็นของเกษตรกร และอีกส่วนหนึ่งสามารถผลิตเป็นคาร์บอนเครดิตได้ด้วย สิ่งเหล่านี้เราสามารถระดมทุนผ่านพันธบัตรป่าไม้ ซึ่งพรรคชาติพัฒนากล้าพร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการได้ทันทีที่มีโอกาสเข้าไปทำงาน
นายกรณ์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการด้านต่างประเทศ เราปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยต้องเร่งประสานไปทางรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ และ สปป.ลาว เพื่อหามาตรการควบคุมการเผา ซึ่งความจริงมีสัญญาในกลุ่มประเทศอาเซียนตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ว่าด้วยเรื่องของการคุ้มครองการสร้างสร้างมลพิษข้ามชายแดน โดยเฉพาะเรื่องการเผา สามารถนำข้อตกลงนี้เป็นจุดเริ่มต้นมาเป็นข้อประชุมฉุกเฉินของอาเซียนได้ นอกจากนี้เราคงต้องทบทวนข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ต่อการนำเข้าข้าวโพดสัตว์เลี้ยงปลอดภาษีจากประเทศเพื่อนบ้าน ต่อไปต้องกำหนดมาตรการทางภาษี ไม่รับซื้อผลผลิตที่มาจากการเผา ส่งผลให้การนำเข้ายากยิ่งขึ้น และชะลอการเผาลง และสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรของไทย ปลูกอย่างอื่นทดแทนที่มีรายได้มากกว่า ลดพื้นที่การเผาป่าลง
.
“5-6 ปีที่ผ่านมา การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใน 3 ประเทศ เพิ่มขึ้นเกือบ 20 เท่า ซึ่งปริมาณเพาะปลูก เป็นไปในทิศทางเดียวกับปริมาณการเผา อย่างไรก็ตามเราคงหวังการแก้ปัญหาจากฤดูกาลไม่ได้แล้ว เพราะรัฐบาลก็เป็นรัฐบาลรักษาการ ก็ได้แต่หวังว่า รัฐบาลที่จะกำลังจะมีขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า จะเร่งดำเนินการทันที และพรรคชาติพัฒนากล้าก็ขอสัญญาว่า เป็นหนึ่งในเรื่องที่ทำให้เกิดมาตรการที่กล่าวมาแล้วข้างต้นและจะทำทันที ถ้ามีโอกาสเข้าไปทำงาน ตราบใดที่ยังมีการเผาป่า ผมเป็นหนึ่งคนที่จะต่อสู้แทนพวกท่าน” หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าว
