‘กรณ์ จาติกวณิช’ ไทยส่อเสียเปรียบด้านการแข่งขัน หากสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าไทย 20% เท่ากันหรือใกล้เคียงเวียดนาม
(3 ก.ค. 68) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij' ระบุว่า ทรัมป์ตกลงดีลกับเวียดนาม มีผลอย่างไรกับไทย?
เมื่อคืนมีการประกาศข้อตกลงระหว่างอเมริกาและเวียดนาม กำหนดภาษีนำเข้าสินค้าเวียดนาม 20% ภาษีนำเข้าสินค้าประเทศอื่นที่ผ่านเวียดนาม 40%
ส่วนภาษีนำเข้าสินค้าจากอเมริกา 0% และเปิดตลาดทุกประเภทสินค้า (ตามข่าว)
ถ้าของเราเป็นแบบนี้ จะมีสามคำถามสำคัญ
1. หากอัตราภาษีสูงแต่สูงเท่ากัน ในแง่การแข่งขันกับประเทศอื่น ถือว่าไม่ได้เปรียบ/เสียเปรียบหรือไม่?
2. ราคาสินค้าที่อเมริกาจะสูงขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าจากเราน้อยลงหรือไม่?
3. โดยสรุปจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยแค่ไหนอย่างไร?
ในความเห็นผม
1. อัตราภาษีที่เท่ากัน ทำให้มีผลต่อการแข่งขันระหว่างประเทศต่างๆที่แข่งกันส่งสินค้าเข้าอเมริกาน้อยลง แต่ไม่ 100% ประเทศที่ราคาสินค้าแพงกว่าเป็นทุนเดิม หรือส่วนกำไรของผู้ผลิตน้อยกว่า จะเสียเปรียบมากกว่า ยกตัวอย่าง หาก margin บริษัทเวียดนาม 10% แต่ของไทย 5% เขาสามารถลดราคา 5% แล้วยังมีกำไร ในขณะที่เราทำไม่ได้ นอกจากนั้น แนวโน้มความเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยนจะมีผลด้วย ยกตัวอย่าง ช่วง 3 ปีกว่าที่ผ่านมา เงินบาทเราเทียบกับสกุลเงินเวียดนามนั้นแข็งค่าขึ้น 20%+ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์
2. สองเดือนที่ผ่านมา เรายังไม่เห็นผลจาก tariff ต่อราคาสินค้าในอเมริกา สาเหตุเพราะผู้นำเข้าได้มีการตุนสินค้าไว้เยอะก่อนเพิ่มภาษี และเพราะอัตราภาษีชั่วคราวตํ่าพอที่ผู้ส่งออกแบกรับได้โดยยังไม่ส่งต่อ แต่จากนี้ไปผลของภาษีต่อราคาสินค้าจะมากขึ้น ซึ่งจะกระทบกำลังซื้อผู้บริโภคอเมริกันแน่นอน
3. ผมเคยประเมินแต่แรกว่าหากอเมริกานำเข้าสินค้าจากเราลดลง 10% จะทำให้ GDP ลดลงประมาณ 1% และจะมีผลต่อรายได้ของผู้ส่งออกเราที่ margin ลดลง เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจเพิ่มเติม นอกจากนั้นผลข้างเคียงที่เราเห็นแล้วคือการระบายสินค้าจากจีนมาที่ตลาดเรา นอกจากเพิ่มการนำเข้าให้ไทย (ฉุด GDP ลง) จะทำให้ผู้ประกอบการไทยเดือดร้อนอีกด้วย สุดท้ายคือผลกับการลงทุนประเภท FDI จะลดลง คือการลงทุนแนว re-shoring หรือ friend-shoring จะน้อยลง เพราะทรัมป์สกัดกั้นด้วยภาษี transhipment ที่สูงมาก
โดยรวม ๆ ข่าวจากเวียดนาม (ที่ยอมทรัมป์แล้วทุกอย่าง)ไม่สู้ดีกับไทย เวียดนามเขารู้ตัวมาก่อน มีการประกาศแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจมากมาย เช่นลดขนาดภาคราชการ ลดจำนวนกระทรวงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ หันมาเน้นเศรษฐกิจที่อิงกับการพึ่งพากลไกตลาดเสรีมากขึ้น และยกระดับการศึกษาต่อเนื่อง
ส่วนของเรา…