Sunday, 6 July 2025
ค้นหา พบ 49241 ที่เกี่ยวข้อง

อนาคต!! ‘พรรคประชาธิปัตย์’ โจทย์ยาก!! ของกรรมการบริหาร พรรคเก่าแก่!! แต่สมาชิกโบกมือบ๊ายบาย เพราะหมดศรัทธา

(6 ก.ค. 68) น่าสนใจยิ่งต่อการดำรงอยู่ของพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ว่าอนาคตจะเดินต่อไปอย่างไร หรือพอแค่นี้

การออกมากล่าวให้สัมภาษณ์ของ “เดชอิศม์ ขาวทอง”ในวันเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยไทย

“ใครรับมติพรรคไม่ได้ก็ต้องออกไป และในการเลือกตั้งครั้งหน้าถ้าพรรคไม่มีเอกภาพ ก็จะไม่มีชื่อเดชอิศม์ ขาวทอง อยู่ในพรรค”

เดชอิศม์ ขาวทอง พูดในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำพาพรรคถดถอยมาเรื่ิอยๆ พร้อมกับ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” หัวหน้าพรรค

“นิพนธ์ บุญญามณี” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเสยเต็มคางของเดชอิศม์ว่า คนของพรรคประชาธิปัตย์ดั่งเดิม เลือดแท้ รับไม่ได้กับมติพรรคประชาธิปัตย์ ที่นิพนธ์เรียกว่า “มติโจร”

ระเบียบพรรคประชาธิปัตย์ว่าด้วยการคัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่ง จะต้องผ่านหลายขั้นตอน

1.ประชุม สส.คัดเลือกมา
2.ประชุมคณะกรรมการบริหาร
3.ประชุมร่วม สส.และคณะกรรมการบริหาร

ในการปรับ ครม.ของรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” พรรคประชาธิปัตย์เสนอตัวบุคคลผ่านทั้ง 3 ขั้นตอนแล้วหรือยัง หรือข้ามขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไปหรือไม่

ลองมาวิเคราะห์กันเล่นๆว่า ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันของพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร และจะเดินต่อไปอย่างไร ในภาวะที่ “เดชอิศม์”จะไม่แคร์ต่อการเดินออกไปของสมาชิก “เป็นช่วงรีเซต” คือคำกล่าวอ้างของเดชอิศม์

1. มีมติชัด “ร่วมรัฐบาลแพทองธารต่อ” แม้เสียงแตกก็ตาม
พรรคประชาธิปัตย์ในการประชุมคณะกรรมการบริหารเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2568 มีมติ 19 ต่อ 7 เสียง ให้พรรคยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลที่นำโดยไม่มีการต่อรองตำแหน่งเพิ่ม แต่ได้เพิ่มมา 1 ตำแหน่ง “แทน-ชัยชนะ เดชเดโช” นั่ง รมช.สาธารณสุข แทน “เดชอิศม์” ที่ขยับไปนั่งช่วยมหาดไทย

2. สมาชิก “เลือดใหม่” ลาออกต่อเนื่อง ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (หรือ “ดร.เอ้”) รองหัวหน้าพรรค ลาออกเมื่อ 4 ก.ค.2568 เพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ “ไทยก้าวใหม่” โดยมีท่าทีเน้นนโยบายการศึกษา นวัตกรรม

มีอดีต ส.ส. และคนรุ่นใหม่ลาออกอีกหลายราย เช่น “มาดามเดียร์” วทันยา วงศ์โอภาสี หลังจากก่อนหน้านี้ก็มีสมาชิกในระดับผู้ปกครองพื้นที่ทยอยถอนตัวไหลเป็นระลอก

3. แบ่งเป็นสองขั้วภายในพรรคชัดเจน คือฝ่ายกรรมการบริหารสนับสนุนให้ร่วมรัฐบาล กับฝ่ายผู้อาวุโส กลุ่มอนุรักษ์ ค้านการเดินหน้าสนับสนุนรัฐบาล

4. แนวโน้มและอิทธิพลมีแนวโน้มลดลง ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคได้ สส.เพียง 25 ที่นั่ง ร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 6 ไม่มี สส. ใน กทม. เลย สะท้อนว่าฐานเสียงดั้งเดิมถูกกวาดไปจากพรรคก้าวไกลและกลุ่มอื่น ๆ 

การสูญเสียคนเก่งอย่าง “ดร.เอ้” และ “คุณหญิงกัลยา” จะกดดันภาพลักษณ์และกลยุทธ์จัดระเบียบใหม่ของพรรคไปไม่น้อย และทำให้เกมยากขึ้น

5. ความท้าทายในอนาคต พรรคประชาธิปัตย์ต้องรับมือกับการขาดเลือดใหม่ และตีตรา “พรรคอนุรักษ์นิยม” ที่ไม่เปลี่ยนตัวเองแม้รักษาตำแหน่งในรัฐบาล แต่การไม่มี สส. ใน กทม. และความอ่อนแอบนเวทีระดับชาติ อาจทำให้ไม่เป็นตัวเลือกหลักในอนาคต หากพรรคใหม่ที่คนรุ่นใหม่ตั้งขึ้น (เช่น ไทยก้าวใหม่) ดึงคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นต่อไป อาจยิ่งลดอำนาจของพรรคเก่าไปตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

โดยสรุปภาพรวมพรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้อยู่ในช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ชัดเจน ยังคงมีอำนาจผ่านการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่มี “เลือดใหม่” ทยอยลาออก ด้านภายนอก พรรคถูกจัดว่ายังไม่สามารถปรับภาพลักษณ์ให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ได้ และมีความเสี่ยงสูงในสนามเลือกตั้งหน้าถ้าไม่รีบปรับตัว

ภาคใต้ฐานเสียงใหญ่ของประชาธิปัตย์อาจไม่เหลือร่องรอยให้เชยชมอีกต่อไปก็ได้ ถ้า “มึงกับกู”ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง

‘ดุสิตโพล’ ชี้!! คนไทยคาดหวัง ‘ม็อบ’ กดดันผู้นำรัฐบาล ‘ลาออก-ยุบสภา’ เปิดทางแก้ปัญหาโดยใช้ ประชาธิปไตย

(6 ก.ค. 68) ‘สวนดุสิตโพล’ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “การชุมนุมทางการเมืองในสายตาคนไทย 2568” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,167 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 1-4 กรกฎาคม 2568 พบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่สนใจเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ร้อยละ 38.39 โดยคิดว่าการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศในระดับปานกลาง ร้อยละ 48.93 จุดเด่นคือสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ร้อยละ 55.28 จุดด้อยคือมีความเสี่ยงต่อความรุนแรง ร้อยละ 48.16  ทั้งนี้เมื่อมีการชุมนุมทางการเมืองก็คาดหวังว่าจะมีการลาออกของผู้นำรัฐบาล ร้อยละ 58.58 ในสถานการณ์ปัจจุบันหากเกิดรัฐประหารก็ไม่เห็นด้วย เป็นการละเมิดระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 42.50

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลสำรวจประชาชนมองว่าการชุมนุมเป็นสิทธิที่พึงมีแต่ไม่ได้เชื่อว่าเป็นทางออกที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างแท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมามักตามมาด้วยผลเสียมากกว่าประโยชน์ของประชาชน แม้รัฐประหารเคยถูกมองว่าเป็นทางออกในบางช่วงเวลา แต่บทเรียนที่เจ็บปวดจากหลายครั้งหลายหน ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจนอกระบบอีกต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์กัญญกานต์ เสถียรสุคนธ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ผลการสำรวจข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนการชุมนุมของกลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2568 กิจกรรมการชุมนุมเกิดขึ้นเพื่อแสดงถึงความไม่พอใจในนโยบายของรัฐบาลไทยต่อประเด็นความขัดแย้งบริเวณชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา  และท่าทีของนายกรัฐมนตรีไทย  ต่อปัญหาดังกล่าว การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากซึ่งถือเป็นครั้งแรกในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการแสดงออกของประชาชนสอดคล้องกับผลสำรวจที่เชื่อว่าการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบดังกล่าวจะสามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง หรือการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ อันเป็นไปตามแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยและต้องไม่ใช้การรัฐประหารเป็นทางออกเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนเช่นที่ผ่านมา

รัฐบาล เชิญร่วมงาน!! มหกรรม Soft Power ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ SPLASH – Soft Power Forum 2025 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 8-11 ก.ค.

(6 ก.ค. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลบูรณาการความร่วมมือยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ตลาดโลกอย่างเป็นรูปธรรม จัดงาน Soft Power  ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “SPLASH – Soft Power Forum 2025” ระหว่างวันที่ 8-11 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00-20.00 น. Hall 1-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาและอนุกรรมการทุกสาขา โดยประสานพลังภาครัฐ เอกชน ชุมชน และเครือข่ายนานาชาติ ร่วมจัดงานขึ้น

ฃรัฐบาลเชิญชวนประชาชนมาร่วมสัมผัสปรากฏการณ์ซอฟต์พาวเวอร์ไทยแบบครบวงจร ภายใต้แนวคิด “โอกาสประเทศไทยในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์” ซึ่งเปรียบเสมือน “สายน้ำแห่งโอกาส” ที่กำลังหล่อเลี้ยงทุนวัฒนธรรมไทยให้เติบโตสู่เศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืน ผ่านการผนึกกำลังของ 14 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ต่อยอดสู่ตลาดโลกอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งอีกหนึ่งหัวใจของงานอยู่ที่ Visionary Stage ซึ่งรวบรวม "ผู้รู้จริง" แนวหน้าจากไทยและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและแบ่งปันประสบการณ์สร้าง “มูลค่าทางวัฒนธรรม” ให้ทรงพลัง รวมถึง "ผู้นำ" ที่ร่วมขึ้นเวทีแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นอย่างคับคั่ง อาทิ ในวันที่ 8 ก.ค. 14.00-15.30 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.วัฒนธรรม จะกล่าวเปิดงานในหัวข้อ “Thailand Rising: Tourism, Education and the New Soft Power Frontier” วันที่ 9 ก.ค. 13.00-14.00 น. ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “Crafting the Future: From OTOP to ThaiWORKS and Beyond” วันที่ 10 ก.ค. 12.45-13.45 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ร่วมเสวนากับ “บัวขาว” บัญชาเมฆ และ “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ในหัวข้อ “Rethinking Thai Sports in a Disruptive Era”

ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ไทยอย่างรอบด้าน งานยังแบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 โซนหลัก ได้แก่ 1. Creative Culture Village - โชว์เคส 14 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย ตั้งแต่อาหาร ภาพยนตร์ ดนตรี แฟชั่น จนถึงการท่องเที่ยว ในรูปแบบอินเทอร์แอ็กทีฟที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ 2. THACCA Pavilion - ศูนย์รวมองค์ความรู้ ยุทธศาสตร์ และเครื่องมือการสร้างแบรนด์ไทยด้วยซอฟต์พาวเวอร์ พร้อมคำแนะนำเชิงลึกสำหรับผู้ประกอบการ 3. Glo-Cal Networking - พื้นที่จับคู่ธุรกิจ เชื่อมโยงนักลงทุนกับผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติ สร้างเครือข่ายระดับโลก 4. Workshop & Masterclass - หลักสูตรอบรมภายใต้โครงการ “One Family One Soft Power (OFOS)” เปิดโอกาสให้เยาวชน นักศึกษา และผู้ประกอบการเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง 5. Experiential Zone - นิทรรศการเทคโนโลยี “Multisensory Mindfulness Experiences” กระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ถ่ายทอดประสบการณ์ซอฟต์พาวเวอร์ไทยแนวใหม่ และ 6. Visionary Stage - เวทีเสวนาระดับโลกที่รวมนักคิดและนักสร้างสรรค์ตัวจริง ก่อเกิดแรงบันดาลใจสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

“สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ฟรี เพียงลงทะเบียนล่วงหน้าที่ splash.thacca.go.th ซึ่งภายในงานจะได้รับความรู้ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยถึง 3 ท่าน พร้อมกับร่วมกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย ที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้ จากซอฟต์พาวเวอร์ไทยแบบครบวงจร” นายจิรายุ กล่าวทิ้งท้าย

‘ชินวัตร–ฮุน’ ละครระหว่าง!! สองตระกูลอำนาจ เดินเรื่องตามกลยุทธ์ที่วางมาแล้ว ใช้ชีวิตปชช.กว่า 100 ล้านคน ในสองประเทศเป็นตัวประกัน ในสงครามผลประโยชน์

(6 ก.ค. 68) ในขณะที่ชายแดนไทย-กัมพูชากำลังปะทุด้วยไฟความขัดแย้ง และเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศสั่นคลอน ท่ามกลางสงครามข่าวสาร สงครามพลังงาน และเกมการเมืองระดับภูมิภาค กลับมีคำถามใหญ่ที่น่ากังวลยิ่งกว่ากระสุนปืนและขีปนาวุธ

ทำไม "ทักษิณ ชินวัตร" จึงเงียบ?
และทำไม "ฮุน เซน" จึงตื่นตัวผิดปกติ?

คำตอบอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากมองในมุม “คนคุมเกม” ที่ไม่จำเป็นต้องออกหน้า ทักษิณในเวลานี้ไม่ใช่แค่นักการเมืองผู้ลี้ภัยกลับบ้าน แต่คือ นักยุทธศาสตร์เบื้องหลัง ที่กำลังกำกับบทละครระหว่างสองตระกูลอำนาจ: ชินวัตร–ฮุน ซึ่งเป็น “กลุ่มผลประโยชน์ร่วม” ที่ผูกโยงด้วยเงินตรา เครือข่ายทุนสีเทา และพันธมิตรธุรกิจ–การเมืองข้ามชาติ

การที่ฮุนเซนออกโรงเดินสาย ทั้งการท้าทายไทยเรื่องแรงงานเขมร บอยคอตพลังงาน และแบนสินค้าไทย เป็นมากกว่าแค่การแสดงจุดยืนทางการเมือง หากคือ “กลยุทธ์ที่วางมาแล้ว” โดยมีทักษิณช่วยประคองเกมรุกของเขมรไม่ให้สะดุด

แม้บอกว่าแบนพลังงานจากไทย แต่ก็สามารถอาศัยคอนเนกชันของทักษิณในการนำพลังงานผ่านเวียดนามเข้าสู่เขมรได้อย่างราบรื่น
แม้บอกว่าแบนสินค้าไทย แต่สินค้าไทยก็ทะลักเข้าผ่านช่องทางลาวและเวียดนามราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
และเมื่อราคาน้ำมันในเขมรถูกกว่าไทย มันก็สะท้อนภาพว่า “การโจมตีเชิงสื่อ” นั้นมีการวางแผนระดับสูง

แต่สิ่งที่ทั้งทักษิณและฮุนเซนลืมไปคือ “ราคาของความยืดเยื้อ” ไม่ได้จ่ายด้วยเงินหรือกลยุทธ์ แต่มันคือ ชีวิตประชาชนกว่า 100 ล้านคน ในสองประเทศที่กำลังถูกใช้เป็นตัวประกันในสงครามผลประโยชน์

ขณะที่ทักษิณมุ่งรักษาอำนาจและประโยชน์ของตระกูล
และฮุนเซนมุ่งรักษาระบอบการสืบทอดอำนาจ

ประชาชนไทยและกัมพูชากลับต้องจมอยู่กับความยากจน วิกฤตหนี้สิน และการไร้อนาคต
นี่คือสัญญาณอันตรายที่อาจทำให้เกมที่ “ดูเหมือนคุมได้” กลายเป็นระเบิดเวลาที่ไม่มีใครหยุดได้อีกต่อไป

ฝั่งไทย: ทักษิณกำลังสูญเสียความชอบธรรม จากการบริหารเศรษฐกิจล้มเหลว พันธมิตรกลุ่มทุนเริ่มขาดทุนหนัก เช่น คิงเพาเวอร์ ที่ได้รับผลกระทบจากการไหลออกของแหล่งทุนสีเทาและการกวาดล้างจากสหรัฐฯ

ฝั่งเขมร: ตระกูลฮุนกำลังถูกบีบจากทั้งศัตรูภายใน (เช่น เตีย บัญ – เตีย เสฮา) และศัตรูเก่า (สม รังสี) ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการลากฮุนเซนขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ

ในภาพรวมแล้ว เกมที่ทักษิณพยายามจะเล่นให้ได้ชัยชนะสองประเทศ กลับกำลังย้อนกลับมาทำลายศูนย์กลางอำนาจของเขาเอง

คำถามใหญ่: จะยื้อได้นานแค่ไหน??

เมื่อหัวใจของอำนาจคือ “เงิน” และเงินกำลังถูกตัดขาด
เมื่อเสาหลักของอำนาจคือ “ภาพลักษณ์” แต่ภาพลักษณ์กลับกลายเป็น ผู้สนับสนุนอาชญากรรมข้ามชาติ
และเมื่อศัตรูไม่ใช่แค่ฝ่ายค้าน แต่คือ กองทัพ–ประชาชน–องค์กรโลก

คำถามสำคัญคือ
> ทักษิณจะยังสามารถเป็นผู้กำกับละครอำนาจได้อีกนานแค่ไหน??
หรือจะกลายเป็นนักแสดงที่ต้องหนีออกจากเวที...ก่อนม่านจะปิดฉากไปพร้อมกับสองตระกูล?? ...

‘อีลอน มัสก์’ เตรียมจัดตั้ง!! พรรคการเมืองใหม่ หลังมีปัญหาแตกหัก!! ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

(6 ก.ค. 68) ‘อีลอน มัสก์’ โพสต์ข้อความผ่านบัญชีเอ็กซ์ว่าจัดตั้งพรรคอเมริกา (America Party) โดยระบุว่าพรรคนี้เป็นการท้าทายระบบสองพรรคของสหรัฐซึ่งมีพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าพรรคอเมริกาจดทะเบียนในสหรัฐอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่ และเพราะนายมัสก์เกิดที่แอฟริกาใต้จึงไม่มีสิทธิ์ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ รวมถึงยังไม่มีการเปิดเผยว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค

ทั้งนี้ นายมัสก์เคยเสนอแนวคิดที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองครั้งแรกในช่วงที่มีปากเสียงกับนายทรัมป์ซึ่งทำให้นายมัสก์ต้องออกจากตำแหน่งในรัฐบาลและเกิดการทะเลาะอย่างรุนแรง ในช่วงเวลาดังกล่าวนายมัสก์โพสต์สำรวจความคิดเห็นบนเอ็กซ์โดยถามผู้ใช้งานว่าควรมีพรรคการเมืองใหม่ในสหรัฐหรือไม่

และเมื่ออ้างอิงผลสำรวจนี้เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ก.ค. นายมัสก์โพสต์ว่า “ที่อัตราส่วน 2 ต่อ 1 พวกคุณต้องการพรรคการเมืองใหม่และคุณจะได้มัน!” ก่อนเสริมว่า “เมื่อเป็นเรื่องของการทำให้ประเทศล้มละลายด้วยการทุจริต เราอาศัยอยู่ในระบบพรรคการเมืองเดียว ไม่ใช่ประชาธิปไตย วันนี้พรรคการเมืองอเมริกาก่อตั้งขึ้นเพื่อคืนอิสรภาพให้กับคุณ”

รายงานระบุด้วยว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางของสหรัฐยังไม่ได้เผยแพร่เอกสารที่ระบุว่าพรรคการเมืองนี้ได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ และแม้ว่าจะมีคนดังนอกระบบสองพรรคดั้งเดิมเข้ามาในแวดวงการเมืองสหรัฐ แต่เป็นเรื่องยากที่จะได้รับความนิยมอย่างแข็งแกร่งในระดับที่จะทำให้สองพรรคใหญ่มีความกังวลได้

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้วนายมัสก์เป็นผู้สนับสนุนหลักของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยทั้งคู่มีความสนิทสนมอย่างมากซึ่งเห็นได้จากกรณีที่นายมัสก์เต้นรำเคียงข้างนายทรัมป์ในการชุมนุมหาเสียง รวมถึงพาลูกชายวัย 4 ขวบไปพบนายทรัมป์ที่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาว

นอกจากนี้นายมัสก์ยังเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินคนสำคัญ ทุ่มเงินสูงถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 8,000 ล้านบาทเพื่อช่วยให้นายทรัมป์ได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งนายมัสก์ถูกแต่งตั้งเป็นหัวหน้าแผนกที่เรียกว่า กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล มีหน้าที่ในการระบุการตัดงบประมาณที่สำคัญของรัฐบาลกลาง

ส่วนความขัดแย้งกับนายทรัมป์เริ่มขึ้นเมื่อนายมัสก์ ลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาลเมื่อเดือนพ.ค. พร้อมวิพากษ์วิจารณ์แผนภาษีและการใช้จ่ายของนายทรัมป์อย่างเปิดเผย ถึงอย่างนั้นกฎหมายที่นายทรัมป์เรียกว่า “big, beautiful bill” หรือร่างกฎหมายที่ยิ่งใหญ่และสวยงามได้รับการอนุมัติอย่างหวุดหวิดโดยสมาชิกสภาและนายทรัมป์เพิ่งลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top