Friday, 25 April 2025
ค้นหา พบ 47667 ที่เกี่ยวข้อง

Zus Coffee รุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเต็มสูบ เตรียมเปิดสาขาใหม่เกือบ 200 แห่งภายในปี 2568 พร้อมเปิดตัวสาขาแรกในไทย

(24 เม.ย. 68) Zus Coffee (ซุส คอฟฟี่) แบรนด์กาแฟชื่อดังจากมาเลเซีย เตรียมเปิดร้านใหม่เกือบ 200 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2568 โดยแบ่งเป็น 107 สาขาในมาเลเซีย 80 สาขาในฟิลิปปินส์ 6 สาขาในสิงคโปร์ และอีกหนึ่งสาขาแรกในประเทศไทยและอินโดนีเซีย

เมื่อไม่นานมานี้ Zus Coffee ได้แซงหน้าสตาร์บัคส์ขึ้นเป็นเชนร้านกาแฟที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในมาเลเซีย โดยมีสาขาทั้งหมด 743 แห่ง เทียบกับสตาร์บัคส์ที่มีเพียง 320 แห่ง

การเติบโตของ Zus Coffee เกิดขึ้นในช่วงที่สตาร์บัคส์ในมาเลเซียเผชิญกับผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการในประเทศ

Zus Coffee เริ่มต้นจากร้านเล็กๆ ในปี 2019 และสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยรายงานรายได้สุทธิในปี 2024 เพิ่มขึ้นถึงสามเท่า เป็น 37 ล้านริงกิต (ราว 281 ล้านบาท) ซึ่งกว่า 70% ของยอดขายมาจากการสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ สะท้อนถึงความสำเร็จของโมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

จีนปฏิเสธการเชื่อมโยงกับความขัดแย้ง ‘คลองปานามา’ พร้อมย้ำความสัมพันธ์อันดีกับลาตินอเมริกา บนหลักการเคารพซึ่งกันและกัน

กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ตอบโต้สหรัฐฯ กรณีเชื่อมโยงจีนกับข้อขัดแย้งเกี่ยวกับคลองปานามา โดยระบุว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่สามารถบดบังเป้าหมายที่แท้จริงของสหรัฐฯ ในการขยายอิทธิพลในภูมิภาคลาตินอเมริกาได้

แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังสื่อปานามาวิพากษ์บทบาทของสหรัฐฯ ในอเมริกากลาง โดยเฉพาะแผนการตั้งฐานทัพถาวรและข้อกล่าวหาเรื่องการใช้ 'ภัยคุกคามจากจีน' เพื่อสนับสนุนนโยบายความมั่นคงของตน

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนย้ำว่า การบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับจีนและคลองปานามาไม่สามารถปกปิดความต้องการของสหรัฐฯ ในการแทรกแซงภูมิภาคนี้ได้ พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติการขัดขวางความร่วมมือระหว่างจีนและประเทศในลาตินอเมริกา โดยจีนยึดมั่นในหลักความเสมอภาค ผลประโยชน์ร่วม และไม่แทรกแซงกิจการภายใน

ประธานาธิบดีปานามาได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการแทรกแซงจากจีน โดยยืนยันว่าไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่บ่งชี้ถึงการกระทำดังกล่าว ขณะที่จีนสรุปว่า ความร่วมมือในภูมิภาคควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการส่งเสริมเสถียรภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านความเข้าใจซึ่งกันและกัน

‘ตรีรัตน์’ สวน ‘สส. พรรคส้ม’ ปมเบรกซื้อไฟฟ้าสีเขียว ชี้ ไม่ได้จะทำให้ค่าไฟถูกลง มีแต่ทำให้ค่าไฟแพง

‘ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส’ สวนพรรคประชาชน ชี้กรณีเบรกการซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด 5,200 mw และ 3,600 mw ไม่ได้จะทำให้ค่าไฟถูกลง มีแต่ทำให้ค่าไฟแพง พร้อมแนะควรไปรื้อสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบเก่าที่มีค่า Adder ออกจากระบบดีกว่า 

นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งปัจจุบันลาออกมาเป็นนักธุรกิจพลังงานสะอาด ได้โพสต์เฟซบุ๊ก และ X สวนนายวรภพ วิริยะโรจน์ และนายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ถึงประเด็นการเบรกการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบ Feed-in Tariff รอบ 5,200 เมกะวัตต์ และรอบเพิ่มเติม 3,600 เมกะวัตต์ ดังนี้

ผมได้เห็นข่าวที่นายวรภพ วิริยะโรจน์ และนายศุภโชติ ไชยสัจ สส.พรรคประชาชน ออกมาแถลงข่าวขอให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรมว.พลังงาน เบรกการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด 3,600 mw ไม่งั้นคนไทยจะต้องจ่ายค่าไฟแพงไปอีก 25 ปี

ซึ่งด้วยความเคารพ ผมต้องขอเห็นต่าง และคิดว่าเป็นการนำเสนอข้อมูลที่อาจคลาดต่อความเป็นจริงครับ

ซึ่งก่อนที่ผมชี้แจง 2 เรื่อง

1.) ผมขอเน้นย้ำก่อนว่าผมยืนในหลักการเดิมเสมอ คือการต่อสู้เพื่อให้ประชาชนมีค่าไฟที่ถูกลง สมัยที่ผมทำงานการเมืองเคยต่อสู้เรื่องนี้อย่างไร ทุกวันนี้แม้ออกมาแล้ว ก็ยังต่อสู้เรื่องนี้อยู่เช่นเดิมครับ

2.) ผมต้องขอออกตัวว่าผม หรือบริษัทผม ไม่ได้เข้าร่วมประมูลขายไฟให้ภาครัฐ และไม่เคยร่วมประมูลการขายไฟให้ภาครัฐ และก็ไม่ได้เป็นผู้ติดตั้งให้ผู้ชนะประมูลด้วย เพราะฉะนั้นการให้ข้อมูลของผม ไม่ได้มีเรื่องผลประโยชน์ใด ๆ ของผมแน่นอนครับ มีแต่เพียงความหวังดี

ซึ่งในประเด็นไหนที่ผมเห็นว่าความเข้าใจของผู้แถลงอาจผิดพลาดจากความเป็นจริง ผมในฐานะคนประกอบอาชีพด้านพลังงานสะอาดอย่างสุจริต ก็อยากจะนำเสนอความจริงอีกด้านให้สังคมได้รับรู้ โดยมีจุดหมายเดียวกัน เช่นเดียวกับ สส.พรรคประชาชน คือการหาทางออกให้ค่าไฟของประเทศไทยเราถูกลง

ผมขอเริ่มจากการฉายภาพให้ทุกท่านได้เห็นโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน และต้นทุนขายไฟของโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทดังนี้ :

1. โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 1.40 บาท/หน่วย
2. โรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ (แม่เมาะ)-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 1.32 บาท/หน่วย
3. โรงไฟฟ้าถ่านหิน (นำเข้า)-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 2.01 บาท/หน่วย
4. โรงไฟฟ้าก๊าซ-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 3.24-4.06 บาท/หน่วย (รวมค่า AP)
5. โรงไฟฟ้าลม (แบบมี adder)-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 8 บาท/หน่วย
6. โรงไฟฟ้าโซลาร์ (แบบมี adder)-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 10-12 บาท/หน่วย
7. โรงไฟฟ้าโซลาร์ & ลม (หลัง adder หมด)-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 4.5 บาท/หน่วย รวม FT
8. โรงไฟฟ้าโซลาร์ (สัญญาใหม่ รับซื้อราคาคงที่ Nonfirm) -2.16 บาท/หน่วย
9. โรงไฟฟ้าโซลาร์+แบตเตอรี่ (สัญญาใหม่ รับซื้อราคาคงที่ แบบ Firm)-2.8 บาท/หน่วย
10. โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอื่น ๆ (ชีวมวล ขยะ)- 4-6 บาท/หน่วย

โดยราคาด้านบนเป็นราคาขายไฟหน้าโรงไฟฟ้า ยังไม่รวมค่าสายส่ง 0.24 บาท/หน่วย และค่าสายจำหน่ายและการให้บริการของการไฟฟ้าส่วนจำหน่าย ซึ่งก็คือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ที่ 0.51 บาท/หน่วย

กลับมาที่ประเด็นร้อน-การที่ กกพ.ประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด ประเภทโรงไฟฟ้าโซลาร์ (แบบราคารับซื้อคงที่) 2.16 บาท/หน่วย และโรงไฟฟ้าโซลาร์+แบตเตอรี่ที่ 2.8 บาท/หน่วย เป็นการทำให้ค่าไฟประเทศไทยแพงไปอีก 25 ปีหรือไม่ ?

หากท่านได้ดูโครงสร้างที่ผมเขียน จะเห็นเลยว่าไม่จริงครับ เพราะวันนี้ต้นทุนเฉลี่ยค่าผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศนั้นอยู่ที่เกือบ 3.3 บาท/หน่วย โดยคละกันทั้งไฟฟ้าถูกและไฟฟ้าแพง

การที่เรารับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ 2 บาทกว่า/หน่วย จะเป็นการทำให้ต้นทุนไฟฟ้าค่าเฉลี่ยของประเทศถูกลงด้วยซ้ำ ไม่ใช่แพงขึ้นอย่างที่หลายท่านเข้าใจผิด

ประเด็นที่ 2.) (ที่ไม่มีใครเคยกล่าวถึงเลย) คือในปี 2568-2577 จะมีโรงไฟฟ้าก๊าซและน้ำมัน ซึ่งมีต้นทุนแพงกว่าพลังงานสะอาดอย่างมาก กำลังจะถูกปลดระวางออกจากระบบอีก 14,573 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าเอกชน 10,396 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า กฟผ. 4,177 เมกะวัตต์

ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดในครั้งนี้ จึงเป็นการเอาโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ใหม่กว่าและถูกกว่าเข้ามาทดแทนโรงไฟฟ้าก๊าซและน้ำมันที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และกำลังจะหมดอายุ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าผลิตไฟถูกลงอีกเกือบ 1 บาท/หน่วย

ประเด็นที่ 3.) ราคารับซื้อไฟที่ 2.16 บาท/หน่วย มันเป็นราคาที่แพงหรือไม่ และราคาแผงโซลาร์มันมีแต่ลงจริงหรือไม่ ?

ผมต้องนำเรียนทั้งคุณศุภโชติ และนายพีระพันธุ์ ที่เบรกการรับซื้อไฟฟ้าครั้งนี้ ว่ามันไม่แพงเลยครับ

ผมในฐานะที่ทำธุรกิจรับติดตั้งโซลาร์เซลล์ และขายไฟ (ให้เอกชน) บอกได้เลยว่าราคานี้ไม่ได้เป็นราคาที่แพงเลย เพราะผู้ชนะประมูลต้องลงทุนทั้งที่ดิน ซึ่งโรงไฟฟ้าโซลาร์ 1 เมกะวัตต์ ต้องใช้ที่ดินมากถึง 6 ไร่ และไหนจะเรื่องการดูแลระบบ การล้างแผงโซลาร์ การกำจัดหนู แมลงไม่ให้ไปกัดสายไฟ และการเดินระบบสายส่ง+ปักเสาไฟฟ้าไปจุดเชื่อมต่อของการไฟฟ้า ล้วนแต่มีต้นทุนที่สูง นอกจากนี้ แผงโซลาร์ยังมีอัตราการเสื่อมของแผงอยู่ที่ 0.5% ต่อปีอีกด้วย เพราะฉะนั้น Factor เหล่านี้ มันต้องถูกนำไปคำนวณด้วยครับ

ค่าแผง Solar นั้นคิดเป็นเพียง 15% ของต้นทุนโครงการ Solar Farm เท่านั้น และยังมีต้นทุนอื่น ๆ อีกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าแรง ค่า O&M ค่าสายส่ง ค่าที่ดิน หรือค่าเช่าที่ดิน ที่เป็นราคาแปรผัน จึงไม่สามารถนำแค่ค่าแผงมาคิดเป็นต้นทุนได้

ราคาแผงโซลาร์เองก็ไม่ได้มีแต่ลงอย่างเดียว โปรดอย่าเข้าใจผิดว่ามันมีแต่ถูกลง อย่างช่วงไตรมาสนี้ ราคาแผงโซลาร์มีการปรับขึ้นเนื่องจากรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตแผงโซลาร์รายใหญ่สุดของโลกมีการเพิ่มภาษีส่งออก 5% ตั้งแต่ ธ.ค. 2567 ไม่รวมกับเรื่องของราคาที่แปรผันของ Wafer ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของแผงโซลาร์อีกด้วย

เพราะฉะนั้นแล้วผู้ที่จะเข้าประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดลอตใหม่ต้องเอาปัจจัยความไม่แน่นอนเหล่านี้มาคำนวณความเสี่ยง เพราะต้องยืนราคาขายไฟยาว 25 ปี ยังไม่นับการเปลี่ยนระบบอินเวอร์เตอร์และแบตเตอรี่ที่มีอายุใช้งานสั้นกว่าแผงโซลาร์อย่างมาก เพราะต้องเปลี่ยนใหม่ทุก 10 ปีครับ

ประเด็นที่ 4.) โอกาสของประเทศไทย

วันนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องดึงดูดนักลงทุนต่างชาติกลุ่มใหม่อีกมาก โดยเฉพาะกลุ่ม Data Center ที่มีความประสงค์อยากมาลงทุนในภูมิภาคเรา

ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้ต้องการมาลงทุนในประเทศที่สามารถส่งพลังงานสะอาดให้กับเขาได้เท่านั้น เพราะบริษัทเหล่านี้ได้เซ็นพันธสัญญาสู่ Net Zero Carbon เอาไว้ (ยกตัวอย่าง Amazon Web Service)

อนาคตของประเทศไทยจึงจำเป็นที่ต้องสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มีราคาถูกให้เกิดขึ้นในอนาคต

สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญที่จะทำให้ค่าไฟถูกลง คือการกำจัดโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูง และโรงไฟฟ้าเก่าที่ด้อยประสิทธิภาพออกจากระบบ

ผมอยากฝากเพื่อน สส.พรรคประชาชน รวมถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่าเราจะทำอย่างไรให้โรงไฟฟ้าสะอาด (แบบเก่า) ที่มีค่า Adder และก็ได้คืนทุนไปนานโขแล้ว ปลดระวางออกจากระบบ

ซึ่งหากท่านจำได้ ผมเองเคยเอาสัญญามาเปิดให้พวกท่านดูแล้ว ว่าโรงไฟฟ้ากลุ่มนี้ นอกจากจะได้ค่าไฟสูงถึง 8-12 บาท/หน่วย ในช่วงมี Adder แล้ว หลังหมด Adder ก็ยังสามารถขายไฟฟ้าต่อไปได้เรื่อย ๆ แบบไม่มีวันหมดอายุ ในราคาขายที่ 4.5 บาท/หน่วย ซึ่งแพงกว่าสัญญารับซื้อไฟฟ้าฉบับใหม่ที่ 2.16 บาทกว่าเท่าตัว !

นี่เป็นเคราะห์กรรมหนักที่ประชาชนคนไทยต้องรับไว้ และรอคอยความหวังให้นักการเมืองที่มีความตั้งใจเข้ามาปลดสัญญาทาสเหล่านี้ ไม่ใช่การไปเบรกซื้อพลังงานสะอาดราคาถูกที่จะมาทดแทนโรงไฟฟ้า Fossil แบบเดิมครับ

‘ภูมิธรรม’ เผยผลพูดคุย ‘ไทย-มาเลเซีย’ คืบหน้า ย้ำปัญหาชายแดนใต้ไม่ง่าย แต่พร้อมเดินหน้าพัฒนาเพื่ออนาคตร่วมกัน

(24 เม.ย. 68) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการที่นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการ สมช. เข้าร่วมประชุมสภาความมั่นคงอาเซียนที่มาเลเซีย โดยระบุว่ามีการพูดคุยกับนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ด้วย

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการหารือคือปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน และผลการพูดคุยของผู้นำทั้งสองประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยเน้นย้ำว่าทั้งไทยและมาเลเซียมีความตั้งใจร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม นายภูมิธรรมยอมรับว่า ปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย เนื่องจากมีความซับซ้อนและสั่งสมมานาน แต่การหารือครั้งนี้อาจนำไปสู่แนวทางใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการในหลายมิติควบคู่กันไป

25 เมษายน พ.ศ. 2148 ครบรอบปีที่ 420 วันสวรรคต ‘สมเด็จพระนเรศวรมหาราช’ รำลึกพระมหากษัตริย์ผู้ปลุกสำนึกรักชาติให้คนไทยชั่วนิรันดร์

วันที่ 25 เมษายน พุทธศักราช 2148 เป็นวันสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย เนื่องจากเป็นวันที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จสวรรคต ขณะมีพระชนมพรรษา 50 พรรษา ขณะนั้นพระองค์ทรงยกทัพไปยังเมืองหาง เพื่อจะตีเมืองอังวะของพม่า และสวรรคตระหว่างการตั้งทัพอยู่ที่เมืองสวางคบุรี (เมืองสองแควในจังหวัดพิษณุโลกปัจจุบัน)

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกอบกู้เอกราชของชาติไทยจากพม่า โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญคือ ยุทธหัตถี ที่ทรงกระทำกับพระมหาอุปราชาแห่งพม่า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและอิสรภาพของไทย

พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของผู้นำที่กล้าหาญ เสียสละ และทรงอุทิศพระวรกายเพื่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง ภายใต้การปกครองของพระองค์ ประเทศชาติมีความมั่นคง แข็งแกร่ง และได้รับการฟื้นฟูจากภัยสงคราม จนสามารถยืนหยัดเป็นอิสระได้อีกครั้ง

ปัจจุบัน วันที่ 25 เมษายนของทุกปี ได้รับการน้อมรำลึกในฐานะ วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีการจัดกิจกรรมวางพวงมาลา พิธีถวายราชสักการะ และจัดงานทางประวัติศาสตร์ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ และปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top