Tuesday, 29 April 2025
ค้นหา พบ 47725 ที่เกี่ยวข้อง

‘เคทีซี’ ร่วมกับ ‘พีทีที สเตชั่น’ แบ่งเบาภาระ ‘ค่าน้ำมัน’ ช่วงวันหยุดยาว มอบเครดิตเงินคืนสูงสุด 4% ใช้คะแนนแลกรับเครดิตเงินคืนได้เพิ่มอีก 13%

(12 เม.ย. 68) เคทีซีตอกย้ำความเป็นบัตรเครดิตหลักในการใช้จ่ายทุกวัน จับมือพีทีที สเตชั่น จัดแคมเปญแบ่งเบาค่าใช้จ่ายคนไทยที่ใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และการเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงวันหยุดยาว พร้อมกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาว สมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 4% โดยไม่ต้องใช้คะแนน และรับเครดิตเงินคืนเพิ่มอีก 13% เมื่อใช้คะแนน KTC FOREVER ในการแลกรับ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2568 – 31 กรกฎาคม 2568 ณ สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ทั่วประเทศที่ร่วมรายการ

นายสุวัฒน์ เทพปรีชาสกุล ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต 'เคทีซี' หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การจัดแคมเปญ ‘โปรใหม่ ใหญ่กว่าเดิม’ เป็นความร่วมมือระหว่างเคทีซีกับพีทีที สเตชั่น สะท้อนกลยุทธ์ในการมอบประสบการณ์ความคุ้มค่าให้สมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี ทุกประเภท เพื่อให้บัตรเครดิตเคทีซีเป็นบัตรฯ ที่สมาชิกนึกถึงและเลือกใช้เป็นบัตรหลัก (default card) โดยเฉพาะในหมวดหมู่สถานีบริการน้ำมันและการเดินทาง นับเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายหลักในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ซึ่งเคทีซีเล็งเห็นถึงความสำคัญในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิก จึงได้จัดสิทธิพิเศษในรูปแบบต่างๆ และพบว่าการมอบเครดิตเงินคืนโดยไม่ต้องใช้คะแนน รวมถึงการแลกคะแนนในอัตราที่คุ้มค่าถือเป็นการคืนกำไรให้สมาชิกอย่างแท้จริง และยังสร้างการมีส่วนร่วม (engagement) กับฐานสมาชิกในระยะยาว” 

นายถนัดพล ดุละลัมพะ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์และการตลาดค้าปลีกน้ำมัน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า “สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ภายใต้การกำกับดูแลของ OR มุ่งเน้นการยกระดับประสบการณ์แก่ผู้บริโภค การร่วมมือกับเคทีซี ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการเติมเต็มความคุ้มค่าพร้อมทั้งส่งมอบน้ำมันคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค เพื่อเติมเต็มความมั่นใจ และความสะดวกสบายด้วยสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศตลอดการเดินทาง อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการออกแบบแคมเปญที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง และเชื่อว่าแคมเปญ ‘โปรใหม่ ใหญ่กว่าเดิม’ จะช่วยสร้างความพึงพอใจ และสิทธิประโยชน์ให้กับสมาชิกบัตรเคทีซี ในยุคที่ความประหยัดและความสะดวกเป็นหัวใจหลัก โดยพร้อมเดินหน้าพัฒนาแคมเปญที่สร้างประโยชน์ร่วมกัน”

สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี เมื่อใช้บริการเติมน้ำมัน ณ สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ทุกสาขาทั่วประเทศ คือ รับเครดิตเงินคืนสูงสุด 4% ไม่ต้องใช้คะแนนแลก (สูงสุด 40 บาทต่อเซลส์สลิป) เพียงเติมน้ำมันครบ 1,000 บาทขึ้นไปต่อเซลส์สลิป หรือรับเครดิตเงินคืน 3% (สูงสุด 21 บาทต่อเซลส์สลิป) เมื่อเติมน้ำมันครบ 700 – 999 บาทต่อเซลส์สลิป ตามเงื่อนไขที่กำหนด รวมทั้งแลกคะแนนรับเครดิตเงินคืนเพิ่มอีก 13% ได้ไม่จำกัด เมื่อแลกด้วยคะแนน KTC FOREVER เท่ายอดใช้จ่ายต่อเซลส์สลิป 

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ KTC 02 123 5000 หรือติดตามโปรโมชันของเคทีซีได้ที่ https://www.ktc.co.th สำหรับผู้ที่ต้องการสมัครสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี สามารถคลิกดูรายละเอียดได้ที่ลิงค์ https://ktc.today/apply-card หรือติดต่อศูนย์บริการสมาชิก 'เคทีซี ทัช' ทุกสาขาทั่วประเทศ ทั้งนี้ผู้ถือบัตรเครดิตควรใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 16% ต่อปี

‘ดร.กอบศักดิ์’ เผย!! ‘จีน-สหรัฐฯ’ ทำสงครามการค้า ผู้ประกอบการ ต้องเตรียมพร้อม ชี้!! ไทยมีโอกาสเข้าไปแทนที่ เปิดตลาดใหม่ ระบายสินค้า เมื่อยักษ์ใหญ่ไม่คุยกัน

(12 เม.ย. 68) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีใจความว่า...

ในช่วงต่อไป ถ้าไม่มีใครยอมใคร

สินค้าจีนที่ส่งไปสหรัฐ และสินค้าสหรัฐที่ส่งไปจีน คงต้องหาตลาดใหม่ให้ตนเอง
สินค้าเหล่านี้ กำลังจะมาที่ไทยและประเทศอื่นๆ

เราคงต้องเตรียมการรับมือ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในไทย
สินค้าเหล่านี้ประกอบด้วย 

จากจีน - Smartphones, Laptops, Batteries, Toys, Telecom Equipment

จากสหรัฐ - Soybeans, Aircraft and engines, IC, Pharmaceuticals, Petroleum

มูลค่าไม่น้อย โดยเฉพาะสินค้าจากจีน 438.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี และสินค้าจากสหรัฐฯ 143.5 พันล้าน สรอ. ต่อปี 

ประเทศใกล้ๆ อย่างไทย น่าจะเป็นเป้าหมายในการระบายสินค้าที่ดี

ส่วนผู้ส่งออก เมื่อเขาไม่ค้าขายกัน ไม่คุยกัน 

รายชื่อสินค้าเหล่านี้ เป็นเป้าหมายให้เราเข้าไปแทนที่ครับ

อย่าลืมว่า "ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ" 

เป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ

‘โอ๋ สุดซอย’ นำ!! ‘DSI – ตำรวจสอบสวนกลาง - คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า’ บุกทลายโกดัง ‘ซินเคอหยวน’ ค้นยึด เอกสาร เซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์ กล้องวงจรปิด

(12 เม.ย. 68) นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ‘หัวหน้าทีมสุดซอย’ ได้โพสต์ข้อความ ถึงกรณี ‘ซินเคอหยวน’ โดยมีใจความว่า ...

ร่วมภารกิจสุดซอย ตรวจค้นและยึดเอกสาร คอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์ - กล้องวงจรปิดของ SKY และตรวจสอบเพิ่มเติมในส่วนของโกดังที่อยู่ด้านหลังที่ปิดตาย ยังพบฝุ่นแดงที่ซ่อนไว้อีกกว่า 13,000 ตัน หากรวมกับของเดิมที่พบก่อนหน้า 43,000 ตัน ก็เท่ากับว่ามีฝุ่นแดงที่พบทั้งหมด 56,000 ตัน…ยิ่งตรวจยิ่งเจอ ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องขยายผลตรวจสอบต่อไป

ขอขอบคุณความร่วมมือในการปฏิบัติภารกิจจาก DSI (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) ตำรวจสอบสวนกลาง (บก.ปทส.) คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และสื่อมวลชนทุกท่าน ที่ร่วมภารกิจสุดซอยในครั้งนี้ และยังมีอีกหลายภารกิจร่วมกันต่อจากนี้

และที่สำคัญขอขอบคุณ #ทีมสุดซอย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่ทำงานกันอย่างหนักตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งเตรียมข้อมูล สืบค้น ตรวจหน้างานเพื่อหาหลักฐานบนข้อเท็จจริง

หลังจากนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะส่งข้อมูล เอกสาร เซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์-กล้องวงจรปิดทั้งหมด ให้กับ DSI เพื่อตรวจสอบและขยายผลต่อไป

‘ผู้ว่าฯ ธปท.’ ส่งหนังสือถึง ‘รมว.คลัง’ หลังเงินเฟ้อ หลุดกรอบ เผย!! มาจากเหตุปัจจัย ด้าน ‘อุปทานพลังงาน-อาหารสด’

(12 เม.ย. 68) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2568 รวมถึงระบุให้ กนง. มีจดหมายเปิดผนึกหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย นั้น

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เผยแพร่โดยกระทรวงพาณิชย์ของเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 1.3% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ถึงเดือนมกราคม 2568) อยู่ที่ 0.6% ซึ่งต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน ดังนั้น กนง. จึงขอเรียนชี้แจงรายละเอียด ดังนี้ 1.การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น2.สาเหตุที่เงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายและแนวโน้มในระยะข้างหน้า และ 3.นัยของอัตราเงินเฟ้อต่ำกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ

1.การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเพื่อแบบยืดหยุ่น

การดำเนินนโยบายการเงินมีพันธกิจหลักในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน (macro-financial stability) ผ่านการรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพ โดยเสถียรภาพราคา หมายถึง ภาวะที่เงินเฟ้อต่ำและไม่ผันผวน ซึ่งไม่สร้างอุปสรรคหรือเป็นภาระต่อการวางแผนบริโภคและลงทุนของประชาชนโดยที่เงินเพื่อระยะปานกลางยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ทั้งนี้ การดูแลเสถียรภาพด้านราคา ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexble Inflation Targeting: FIT) โดยมีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบช่วง (range target) ที่ 1-3% หมายความว่านโยบายการเงินจะมุ่งดูแลให้อัตราเงินเฟ้อไประยะปานกลางเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายและไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ค่าใดค่าหนึ่งตลอดเวลา โดยอัตราเงินเฟ้ออาจผันผวนออกนอกกรอบในระยะสั้นได้

กรอบเป้าหมายเงินเพื่อแบบยืดหยุ่นเหมาะสมกับการดูเสถียรภาพราคาในบริบทเศรษฐกิจไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิด พึ่งพาการนำเข้าพลังงาน และมีสัดส่วนของการบริโภคอาหารที่สูง ทำให้เงินเฟ้อไทยมักผันผวนทั้งจากปัจจัยต่างประเทศและปัจจัยด้านอุปทานในประเทศ อาทิ ราคาน้ำมันโลกหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ นโยบายการเงินจะมีบทบาทจำกัดในการตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงของราคาที่เป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน (supply shock) โดยนโยบายการเงินจะมีบทบาทมากกว่าในการดูแลเงินเฟ้อที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการในวงกว้างที่สะท้อนอุปสงค์ที่สูงหรือต่ำกว่าศักยภาพเศรษฐกิจ (demand shock) หรือการคาดการณ์เงินเฟ้อที่หลุดลอยและอาจนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงหรือต่ำยืดเยื้อจนกระทบเสถียรภาพด้านราคาได้

ทั้งนี้ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ยืดหยุ่นแบบ range target และกำหนดเป้าหมายเป็นเงินเฟ้อระยะปานกลาง เอื้อให้นโยบายการเงินสามารถมองข้ามความผันผวนระยะสั้น และไม่จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายบ่อยหรือแรงเกินไป ซึ่งอาจสร้างความผันผวนและส่งผลลบต่อเศรษฐกิจและระบบการเงิน

กรอบ FIT มีความยืดหยุ่นส่งผลให้นโยบายการเงินสามารถดูแลเสถียรภาพด้านราคาควบดูไปกับการรักษา macro-financial stability การที่นโยบายการเงินสามารถรักษาเงินเฟ้อในระยะปานกลางให้อยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน ทำให้การกำหนดกลยุทธ์นโยบายการเงินสามารถหันมาดูแลเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สอดรับกับแนวนโยบายแห่งรัฐที่ต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน รวมถึงดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินควบคู่กันไปได้ด้วย

ทั้งนี้ ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จำเป็นต้องคำนึงถึงและชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงด้านต่างๆ ต่อ macro-financial stability ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยล่าสุดนโยบายการเงินให้น้ำหนักกับการดูแลความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ โดยในการประชุม กนง.เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากประเมินว่า

1.แนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และมีความเสี่ยงสูงขึ้น 2.ความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงินปรับลดลง สะท้อนจากการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่ดำเนินต่อเนื่อง ขณะที่ภาวะการเงินมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น และสินเชื่อชะลอตัวลง และ 3.เสถียรภาพด้านราคาที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยแนวโน้มเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ใกล้เคียงขอบล่างของกรอบเป้าหมาย ในขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะยาวยังยึดเหนี่ยวได้ดี

การใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่ไปกับการใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอื่น (integrated policy) เข้ามาช่วยตอบโจทย์อย่างตรงจุดจะช่วยให้การดำเนินนโยบายการเงินมีประสิทธิผลและไม่สร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ทั้งนี้ กนง. ตระหนักว่าในภาวะปัจจุบันบางภาคส่วนของเศรษฐกิจยังมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข โดยภาคครัวเรือนมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง และธุรกิจ SMEs มีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อจากความเสี่ยงด้านเครดิต กนง.จึงสนับสนุนการดูแลกลุ่มเปราะบางและการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ เพื่อช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและการขยายตัวของเศรษฐกิจ

อาทิ การสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ที่ผลักดันให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงมาตรการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง ตลอดจนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และ ธปท. เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs

2.สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อใน 12 เดือนที่ผ่านมาต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และแนวโน้มในระยะข้างหน้า

อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาต่ำกว่ากรอบเป้าหมายจากปัจจัยด้านอุปทานในหมวดพลังงานและอาหารสด โดยในหมวดพลังงานเป็นผลจากการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐที่มีต่อเนื่อง อาทิ มาตรการลดราคาน้ำมันผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการลดภาษีสรรพสามิต รวมทั้งมาตรการลดค่าไฟฟ้า ทำให้ราคาหมวดพลังงานขยายตัวเพียง 1.0%

อย่างไรก็ดี หากไม่รวมผลของมาตรการดังกล่าว ราคาหมวดพลังงานจะขยายตัว 4.9% และทำให้ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.1% สำหรับราคาหมวดอาหารสดขยายตัวในระดับต่ำที่ 0.4% โดยเป็นผลจากปริมาณสุกรที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาผักที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ แรงกดดันด้านต้นทุนที่ขยายตัวต่ำนี้ทำให้การส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการอื่นๆ อยู่ในระดับต่ำด้วย ทำให้ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.6%

อย่างไรก็ดี ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.ผลของฐานราคาพลังงานในปีก่อนที่อยู่ระดับต่ำตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ และ 2.แรงกดดันด้านอุปทานที่ทำให้ราคาหมวดอาหารสดอยู่ในระดับต่ำมีแนวโน้มคลี่คลาย ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวใกล้ขอบล่างของกรอบเป้าหมายและมีโอกาสที่จะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในบางช่วง โดยอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำนั้นมาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก รวมถึงปัจจัยเฉพาะ อาทิ การแข่งขันจากสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน

3.นัยของอัตราเงินเฟ้อต่ำกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ

กนง.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อไทยที่ต่ำในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มในระยะข้างหน้าไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจาก

1.อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคา โดยอัตราเงินเฟ้อถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ อาทิ ราคาน้ำมันโลกและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ รวมทั้งสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันได้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้ว

ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ใน 5 ปีข้างหน้าทั้งจากผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจของ Asia Pacific Consensus Economics ณ เดือนตุลาคม 2567 และข้อมูลตลาดการเงิน ณ เดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ 1.8% ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นว่านโยบายการเงินจะดูแลเสถียรภาพราคาในระยะปานกลางได้ดี

2.อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำไม่ได้เป็นสัญญาณของภาวะเงินฝืด เนื่องจากราคาสินค้าและบริการไม่ได้ปรับลดลงในวงกว้าง โดยราคาสินค้าและบริการกว่า 3 ใน 4 ของตะกร้าเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นหรือไม่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมายังขยายตัวได้ที่ 4.4% ในปี 2567 จึงไม่ได้สะท้อนปัญหาด้านอุปสงค์

3.อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันและการลงทุน โดยปัจจัยที่ทำให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่ำไม่ได้มาจากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ แต่มาจากการที่ภาคเอกชนขาดแรงจูงใจให้ขยายกำลังการผลิต โดยภาคการผลิตถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการแข่งขันสินค้าจากสินค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเคมี ยางและพลาสติก และรถยนต์ EVเป็นต้น

ในขณะเดียวกันแนวโน้มเงินเฟ้อที่ต่ำและไม่ผันผวนมีส่วนช่วยให้ต้นทุนการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ของทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ในระดับต่ำ และช่วยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ประกอบการผ่านต้นทุนการผลิตที่ไม่เร่งสูงขึ้นและผ่านอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง (real exchange rate)

นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่ต่ำในช่วงที่ผ่านมายังมีส่วนช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนหลังจากที่ราคาสินค้าหลายรายการเพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่หลังวิกฤตโควิด โดยราคาพลังงานและอาหารที่จำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน อาทิ เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช และน้ำมันเชื้อเพลิง ยังอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดถึงประมาณ 20%

ในระยะต่อไป กนง. จะประเมินนัยของเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อไม่สูงหรือต่ำจนเกินไปจนกระทบต่อเศรษฐกิจและสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการแข่งขันและลงทุน โดยจะติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ ได้แก่ แนวโน้มราคาพลังงานที่อาจต่ำลงจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำกว่าราคา และความผันผวนของสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาอาหารสด

ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กนง. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 หากใน 6 เดือนข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า ยังคงเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้ง เพื่อเป็นการสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลเสถียรภาพด้านราคาให้แก่สาธารณชนเป็นการทั่วไป

‘Wicrosoft’ บริษัทร่วมทุน ‘Microsoft’ ปลดพนักงานในจีน 2,000 คน สะท้อนความรุนแรง!! ‘จีน-สหรัฐฯ’ ที่สั่นสะเทือน วงการไอที

เมื่อวันที่ (7 เม.ย.68) ที่ผ่านมา มีภาพหน้าจอมือถือที่เป็นอีเมลภายในของบริษัทเวยช่วงหร่วนเจี้ยน (Wicresoft,微创软件) บริษัทร่วมทุนกับไมโครซอฟท์ (Wicrosoft) หลุดออกมาทั่วโซเชียล โดยในอีเมลระบุว่า “ไมโครซอฟท์จะปรับแผนกลยุทธ์ทั่วโลก และจะยุติการดำเนินงานในจีนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. 2025” ซึ่งหมายความว่าโครงการที่เกี่ยวข้องของไมโครซอฟท์จะถูกยุติลงพร้อมกัน แม้ว่าอีเมลดังกล่าวจะไม่ใช่ประกาศอย่างเป็นทางการจากไมโครซอฟท์ แต่ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการไอทีในจีน

บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2002 เป็นบริษัทร่วมทุนแห่งแรกที่ไมโครซอฟท์ ลงทุนในจีน ปัจจุบันประธานบริษัทคือถังจวิ้น ที่เคยดำรงตำแหน่งประธานไมโครซอฟต์จีน ซึ่งบริษัทฯ ถูกมองว่าเป็นบริษัทเอาต์ซอร์ส หรือ องค์กรภายนอกหลักของไมโครซอฟท์ในจีน โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ และมีศูนย์ให้บริการ 36 แห่งทั่วโลก ครอบคลุมทั้งจีน สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยให้บริการลูกค้าแล้วกว่า 2,500 ราย และมีพนักงานกว่า 10,000 คน

ช่วงบ่ายของวันที่ 7 เม.ย. สื่อจีนรายงานว่าพนักงานหลายรายกล่าวว่าการเลิกจ้างเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน คาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อพนักงานในสำนักงานเซี่ยงไฮ้และอู๋ซีราว 2,000 คน พนักงานบางคนกล่าวว่าตอนเช้ายังสแกนบัตรเข้างานอยู่เลย ตอนเที่ยงก็โดนเลิกจ้างแล้ว ขณะที่บางคนบอกว่าไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้อย่างกะทันหัน และมีพนักงานจำนวนมากยกกล่องเอกสารออกมาจากบริษัทฯ

การเลิกจ้างในครั้งนี้เกี่ยวข้องกับคำสั่งผู้บริหารหมายเลข 14117 ของสหรัฐฯ ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 เม.ย. ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ “ประเทศที่ถูกจับตามอง” เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อนของชาวอเมริกัน ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมด้านกฎระเบียบข้อมูลในระดับโลก หลายคนจึงสงสัยว่าบริการสนับสนุนด้านเทคนิคของสินค้าไมโครซอฟท์จะยังคงให้บริการต่ออย่างไร 

พนักงานยกกล่องออกจากบริษัทฯ ส่วนใหญ่ได้รับค่าชดเชยตามสูตร N+1

สื่อจีนรายงานว่ามีพนักงานจำนวนมากทยอยยกกล่องเอกสารออกจากอาคาร และในจำนวนนี้มีพนักงานชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย ตรงข้ามอาคารคือสำนักงานของไมโครซอฟต์จีน สาขาหมิ่นซิ๋ง พนักงานไมโครซอฟท์คนหนึ่งยังเดินข้ามถนนมาดูสถานการณ์ พร้อมบอกว่าขณะนี้ภายในสำนักงานไมโครซอฟท์ยังไม่มีข่าวการเลิกจ้างลักษณะเดียวกันนี้

พนักงานนามสมมุติ 'หลี่เต๋อ' เปิดเผยว่าเขาเพิ่งสแกนบัตรเข้าออฟฟิศในตอนเช้า แต่กลับได้รับแจ้งเรื่องการเลิกจ้างทันที โดยทีมงานสนับสนุนด้านเทคนิคของไมโครซอฟท์ที่เขาอยู่มีพนักงานหลายร้อยคน ซึ่งเกือบทั้งหมดถูกเลิกจ้าง อีเมลภายในระบุว่าบริษัทจะจัดทำแผนการเยียวยาและเสนอการโยกย้ายไปทำงานในต่างประเทศให้พนักงานในสายงานเดิมของไมโครซอฟท์ก่อนเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตาม พนักงานเผยว่าขั้นตอนภายในสับสนวุ่นวาย ส่วนใหญ่ได้รับค่าชดเชยตามสูตร “N+1” เท่านั้น และมีเพียงส่วนน้อยที่อาจได้ย้ายไปต่างประเทศ

ไมโครซอฟท์จะยุติธุรกิจในจีนหรือไม่

ข่าวลือที่ว่า "ไมโครซอฟท์จะยุติการดำเนินงานในจีนตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. 2025" ทางไมโครซอฟท์ได้ออกมาปฏิเสธและชี้แจงว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง พร้อมระบุว่ากิจการของ Wicresoft ควรให้ทางบริษัทเป็นผู้ชี้แจงโดยตรง 

หลิวหรุน อดีตผู้บริหารไมโครซอฟท์ ออกมายืนยันว่าไมโครซอฟท์ไม่ได้จะยุติการดำเนินงานหรือหยุดโครงการเอาต์ซอร์สในจีน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการย้ายงานเอาต์ซอร์สที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลผู้ใช้ในต่างประเทศไปยังภูมิภาคอื่น อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังไมโครซอฟท์ได้ปรับลดขนาดธุรกิจในจีนหลายครั้ง สะท้อนถึงการปรับยุทธศาสตร์ในภูมิภาค

แม้ไมโครซอฟท์จะปฏิเสธการเลิกจ้างครั้งใหญ่ แต่การที่ทีมสนับสนุนของ Wicresoft ซึ่งมีพนักงานเกือบ 2,000 คนถูกเลิกจ้าง ก็ทำให้ผู้ใช้งานหลายฝ่ายแสดงความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพการให้บริการ Wicresoft ถือเป็นพันธมิตรเอาต์ซอร์สรายใหญ่ที่สุดของไมโครซอฟท์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และรับผิดชอบงานสนับสนุนด้านเทคนิคทั้งก่อนและหลังการขาย 

พนักงานกังวลหางานใหม่ไม่ทัน

ในมุมมองของจ้าวหู ผู้บริหารระดับสูงในบริษัทไมโครซอฟท์ในจีน กล่าวว่าแม้ว่าการเลิกจ้างครั้งนี้ดูเหมือนเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนด้านธุรกิจระหว่างไมโครซอฟท์กับบริษัทเอาต์ซอร์ส แต่ในความเป็นจริงแล้วสะท้อนถึงแนวโน้มเชิงลึกยิ่งกว่า นั่นคือการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรง และการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยข้อมูลที่เข้มงวดขึ้น 

ทั้งยังส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีต่างชาติเริ่มทบทวนกลยุทธ์การจ้างงานและกลไกการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านข้อมูลในจีน การเลิกจ้างพนักงานเกือบ 2,000 คนในครั้งเดียวถือว่าเกิดขึ้นไม่บ่อยในแวดวงอุตสาหกรรม และทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจลุกลามไปถึงพนักงานประจำของไมโครซอฟท์ หรือแม้แต่กระทบต่อแนวทางด้านทรัพยากรบุคคลของบริษัทต่างชาติในจีนโดยรวม

สำหรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ความท้าทายที่ต้องเผชิญคือ ตลาดแรงงานจีนในระยะสั้นไม่สามารถรองรับบุคลากรสายสนับสนุนด้านเทคนิคจำนวนมากเช่นนี้ได้ จ้าวหูกล่าวว่านี่คือช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสสำคัญในการทบทวนเส้นทางอาชีพ เสริมทักษะเชิงลึก และเพิ่มความยืดหยุ่นทั้งในด้านเทคโนโลยีและพื้นที่การทำงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top