Monday, 28 April 2025
ค้นหา พบ 47718 ที่เกี่ยวข้อง

กต.สหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ปม ‘พอล แชมเบอร์ส’ ถูกจับด้วยมาตรา 112 พร้อม เรียกร้องให้ไทยเคารพ “เสรีภาพในการแสดงออก”

(9 เมษายน 2568) เพจเฟซบุ๊ก U.S. Embassy Bangkok ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่แถลงการณ์ของ แทมมี บรูซ (Tammy Bruce) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อกรณีการจับกุม พอล แชมเบอร์ส (Paul Chambers) พลเมืองอเมริกัน ด้วยข้อหาความผิดตามกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ว่า...

“สหรัฐอเมริการู้สึกตกใจต่อการจับกุม นายพอล แชมเบอร์ส พลเมืองอเมริกัน ในประเทศไทย ด้วยข้อหาความผิดทางอาญาฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และเรากำลังติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือพลเมืองอเมริกันในต่างประเทศอย่างจริงจัง และเรากำลังติดต่อกับทางการไทยเกี่ยวกับกรณีนี้

“กรณีนี้ตอกย้ำถึงความกังวลที่มีมาอย่างยาวนานของเรา ต่อการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยเคารพเสรีภาพในการแสดงออก และให้แน่ใจว่า กฎหมายจะไม่ถูกใช้เพื่อปิดกั้นการแสดงออกที่ได้รับอนุญาต ในฐานะพันธมิตรของประเทศไทยตามสนธิสัญญา เราจะติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดและสนับสนุนการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อนายพอล แชมเบอร์ส”

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่กงสุลของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในกรุงเทพฯ กำลังให้ความช่วยเหลือด้านกงสุลที่เหมาะสมทั้งหมดแก่แชมเบอร์ส และเรียกร้องขอเข้าพบแชมเบอร์ส เพื่อให้แน่ใจว่ามีความเป็นอยู่ที่ดี และให้การสนับสนุนที่จำเป็น

ทั้งนี้แชมเบอร์ส นักวิชาการสัญชาติอเมริกัน ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ถูกกองทัพภาคที่ 3 แจ้งความร้องทุกข์ด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2568 ต่อมาแชมเบอร์สได้เข้าพบพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา และศาลจังหวัดพิษณุโลกมีคำสั่ง ‘ไม่ให้ประกันตัว’ โดยให้เหตุผลว่า เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และผู้ต้องหาเป็นชาวต่างชาติ เกรงว่าจะหลบหนี

อินเดียปิดประตูใส่ BYD หวั่นโดนทุ่มตลาดจากจีน แต่เปิดช่องเจรจา Tesla ตั้งโรงงาน ดึงดูดทุนสหรัฐฯ

(9 เม.ย. 68) รัฐบาลอินเดียได้ตัดสินใจ จำกัดการเข้าถึงตลาด สำหรับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีนอย่าง BYD Co. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้าน EV ของโลก ท่ามกลางความพยายามของอินเดียในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทคู่แข่งสัญชาติอเมริกันอย่าง Tesla Inc.

แหล่งข่าวจากภาครัฐระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเวลาที่ Tesla กำลังพิจารณาการตั้งฐานการผลิตในอินเดีย ซึ่งทางรัฐบาลได้แสดงความตั้งใจอย่างชัดเจนในการอำนวยความสะดวกและเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับบริษัทของอีลอน มัสก์ ในขณะที่บริษัทจีนอย่าง BYD กลับถูก 'ควบคุมและจำกัด' มากขึ้นในด้านการเข้าถึงตลาดและการขยายกิจการ

การเคลื่อนไหวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลด้านความมั่นคงระดับชาติของอินเดียที่ยังคงมีต่อจีน แม้ในช่วงหลังความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะมีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้น โดยเฉพาะในเวทีการทูตระดับภูมิภาค

“รัฐบาลอินเดียยังคงระมัดระวังอย่างมากกับการลงทุนจากจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์อย่างยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีองค์ประกอบด้านเทคโนโลยีและข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญ” พียูช โกยาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ท่าทีดังกล่าว สะท้อนแนวทางปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศที่แข็งแกร่งมากขึ้น โดยอินเดียได้กำหนด ภาษีนำเข้ารถยนต์ที่ประกอบสำเร็จรูป (CBU) ไว้สูงถึง 100% ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอัตราภาษีนำเข้าที่ 'สูงที่สุด' ในบรรดาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วโลก

“นโยบายนี้เป็นเครื่องมือในการปกป้องผู้ผลิตรถยนต์ภายในประเทศ พร้อมทั้งผลักดันให้นักลงทุนต่างชาติสร้างฐานการผลิตภายในอินเดีย แทนการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป” นักวิเคราะห์จากมุมไบให้ความเห็น

อย่างไรก็ดี อินเดียถือเป็นหนึ่งในตลาด EV ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก และกำลังกลายเป็นจุดหมายสำคัญของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับโลก ท่ามกลางนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาดของนายกฯ อินเดีย นเรนทรา โมดีแต่การจัดการสมดุลระหว่างความมั่นคงและการลงทุนต่างชาติยังคงเป็นโจทย์ท้าทาย

ทั้งนี้ การตัดสินใจเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในปีที่แล้วนิวเดลีได้ปฏิเสธข้อเสนอการลงทุนมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 36,000 ล้านบาท) จาก BYD ที่ร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่น 

นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากจีนรายอื่นอย่าง Great Wall Motor Co. ขอถอนตัวออกจากอินเดียหลังจากไม่สามารถขอรับการอนุมัติที่จําเป็นจากหน่วยงานกํากับดูแลได้ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่บริษัทจีนต้องเผชิญในการพยายามเข้าสู่หรือขยายธุรกิจในตลาดอินเดีย

ในขณะที่อินเดียยังคงรักษาจุดยืนที่ระมัดระวังต่อการลงทุนจากจีน และกําลังแสวงหาความร่วมมือที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัทอเมริกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Tesla Inc อย่างไรก็ตามรายละเอียดของข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างอินเดียและ Tesla ยังไม่ได้รับการเปิดเผย

ขณะที่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอินเดียอย่าง Tata Motors และ Mahindra & Mahindra สามารถเติบโตได้ดี โดยก่อนหน้านี้พวกเขาต่างคัดค้านการผ่อนปรนภาษีนำเข้า เนื่องจากเกรงว่าจะเปิดทางให้ผู้เล่นต่างชาติเข้ามาทำตลาดในราคาที่แข่งขันได้ยากสำหรับผู้ผลิตท้องถิ่น

'วราวุธ' เผย พม. จัดงาน วันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันแห่งครอบครัว ประจำปี 2568 

เมื่อวันที่ (8 เม.ย.68) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า จากที่กำหนดวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็น 'วันผู้สูงอายุแห่งชาติ' เพื่อให้ประชาชนและสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญผู้สูงอายุที่ทรงคุณค่า อันเป็นองค์ความรู้และภูมิปัญญาของประเทศ อีกทั้ง กำหนดให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปีเป็น 'วันแห่งครอบครัว' เพื่อให้ประชาชนและสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของสถาบันครอบครัวที่อบอุ่นและเข้มแข็งในการหล่อหลอมประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ 

ทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงได้กำหนดจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันแห่งครอบครัว ประจำปี 2568 โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ภายใต้แนวคิด 'คุณค่าผู้สูงวัย สานสายใยพลังครอบครัว' ในวันที่ 10 เมษายน 2568 ที่ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ 

นายวราวุธ กล่าวว่า ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย 1. การกล่าวสารนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) เนื่องในโอกาส 'วันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันแห่งครอบครัว' ประจำปี 2568 2. พิธีถวายรางวัลผู้สูงอายุแห่งชาติ พุทธศักราช 2568 แด่สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย ป.ธ.8) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร 3. พิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่บุคคล ครอบครัว หน่วยงานองค์กร และสื่อดีเด่นด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุและครอบครัว 4. บูธนิทรรศการที่น่าสนใจ อาทิ ประวัติผู้สูงอายุแห่งชาติ พุทธศักราช 2568 นโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร กระทรวง พม. ผลงานของหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. และหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาทิ กรมกิจการผู้สูงอายุ , กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว , OPPY (โอพีพีวาย) สังคมอายุยืน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ และกองทุนการออมแห่งชาติ และ 5. บูธแสดงการสาธิตและผลิตภัณฑ์สินค้าจากศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ 12 แห่ง และศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวทั่วประเทศ 

'นายกฯอิ๊งค์' ขอหัวหน้าส่วนราชการเรียกความเชื่อมั่น โวยถูกเกมการเมืองบิดเบือนเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ยันกาสิโนแค่ในคอมเพล็กซ์ไม่ใช่ทั้งประเทศ

(9 เม.ย.68) ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 4/2568 มีปลัดกระทรวงเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง โดย น.ส.แพทองธาร กล่าวเปิดประชุมตอนหนึ่งว่า วันนี้ดีใจมากที่ได้มาเจอทุกท่าน หนักเหตุการณ์แผ่นดินไหวก็หนักพอสมควร ขณะนี้อยู่ในช่วงเคลียร์พื้นที่ ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมตัวให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ตั้งแต่นาทีแรกที่เกิดเหตุการณ์ ต่อจากนี้คงต้องช่วยกันต่อไป วันนี้มาที่ ททท. ช่วยกันเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมา ให้ต่างชาติรู้ว่าเป็นเดือนแห่งความสนุกสนานมีเทศกาลสงกรานต์กระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนอื่นให้ไปต่อ ส่วนการเคลียร์พื้นที่ก็ต้องทำไป การเยียวยารัฐบาลต้องดูแล ส่วนการตรวจสอบขอย้ำให้ทุกภาคส่วนสืบหาข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ แต่ภาคอื่นๆ ต้องลุยแล้วในเรื่องสงกรานต์ การสร้างความเชื่อมั่นการท่องเที่ยวที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ เราต้องขายของเดิมของเราก่อนให้เต็มพลัง เอาตัวเลขของนักท่องเที่ยวกลับมาเพื่อบูธทุกภาคส่วนด้วยสิ่งที่เรามีให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น หลังประสบภัยธรรมชาติ ต้องร่วมมือทุกภาคส่วน มีอะไรตนพร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนอยู่แล้ว ตอนนี้ขอให้ทุกท่านนอนให้เต็มที่พอเข้าสงกรานต์แล้วจะหนักนิดหนึ่งให้กำลังใจทุกท่าน

น.ส.แพทองธาร กล่าวด้วยว่า เรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ มีประเด็นหลายอย่างมาก ซึ่งเราถูกบิดเบือนในคำพูดว่าเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ คือกาสิโน จริงๆแล้วกาสิโนที่จะถูกกฎหมายคือถูกกฎหมายในเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไม่ได้แปลว่าประเทศไทยเปิดบ่อนที่ไหนถูกกฎหมายทั้งหมด และในเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ก็มีกาสิโน แค่10% ของพื้นที่ ไม่ใช่ใครก็ได้เปิดกาสิโนได้หมดทุกที่เต็มไปด้วยกาสิโนทั้งหมดไม่จริงนี่เป็นเกมการเมือง เป็นการบิดเบือนความหมายและเจตนา นโยบายนี้อยู่ในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หวังเป็นอย่างยิ่งเราจะได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ จะเกิดการจ้างงาน จะเกิดการพัฒนาฝีมือแรงงานให้เข้าไปทำงาน ทุกคนต้องมีสกิลที่สูงขึ้น มีตำแหน่งงานเป็นร้อยเป็นพัน มีการก่อสร้างมีการจ้างงาน ประชาชนก็จะต้องผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นเพราะในนั้นต้องมีการทานอาหาร ต่างชาติที่อยากได้ของไทยมาที่นี้หมดถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก้อนใหญ่ แต่ถูกบิดเบือนพูดว่ากาสิโน ทั้งหมดไม่ได้เปิดได้ทุกที่ มีแต่ในคอมเพล็กซ์เพื่อเอาเงินเหล่านั้นมาหมุนคืนทุนในการก่อสร้างอยากให้หัวหน้าหน่วยราชการทุกท่านช่วยกันสื่อสารว่าเราไม่ได้เปลี่ยนประเทศให้เป็นประเทศกาสิโน ไม่ใช่อยู่แล้ว มันแค่หนึ่งที่หนึ่งคอมเพล็กซ์ต่อใบอนุญาติ วันนี้ใครชอบเล่นการพนันเล่นที่ไหนที่นั่นถูกกฎหมายหรือไม่ จ่ายภาษีให้รัฐหรือไม่ มันไม่ถูกกฎหมาย ไม่ได้รับการดูแลแต่มันก็มีอยู่ดี เราต้องรู้ว่าประเทศของเราจะขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจไปข้างหน้าได้อย่างไรบ้าง

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#1 'สงครามเวียดนาม' ปฐมบทของสงครามอินโดจีนยุคใหม่

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาติเจ้าอาณานิคมตะวันตกต่างพากันกลับมายังดินแดนอาณานิคมของตนซึ่งถูกคู่สงครามยึดครองในระหว่างสงครามฯ เพื่อกลับมากอบโกยทรัพยากรของดินแดนอาณานิคมเหล่านั้นกลับไปยังประเทศของตนอีกครั้งหนึ่ง และ 'ฝรั่งเศส' ก็เป็นประเทศหนึ่งที่เป็นเจ้าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสในอินโดจีนประกอบด้วย 3 รัฐ ได้แก่ เวียตนาม ลาว และกัมพูชา 

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสทั้ง 3 รัฐนั้น ถูกยึดครองโดย กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น และดินแดนส่วนหนึ่งในกัมพูชาและลาวถูกไทยซึ่งเคยครอบครองดินแดนส่วนนั้นยึดคืน แต่ได้รับคืนภายหลังสงครามฯ ฝรั่งเศสก็ได้รับดินแดนดังกล่าวคืนจากไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะซึ่งประกอบด้วย 3 ชาติหลักคือ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรนำโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต อังกฤษ จีน และฝรั่งเศส 

แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสองขั้วค่ายที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันคือ ฝ่ายโลกเสรีนำโดยสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร และค่ายคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียต และชาติร่วมอุดมการณ์ ตลอดจนประเทศบริวารอีกจำนวนหนึ่ง เป็นสงครามที่มีเพียงการเผชิญหน้าหรือที่เรียกว่า 'สงครามเย็น (Cold war)' และเกิดสงครามที่มีลักษณะตัวแทน (Proxy war) ของสองฟากฝ่ายในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก อาทิ สงครามระหว่างสองเกาหลี สงครามในตะวันออกกลาง ฯลฯ และสงครามอินโดจีนก็เป็นหนึ่งในสงครามที่มีลักษณะดังกล่าว

สงครามอินโดจีนแบ่งออกเป็นสองระยะ ระยะแรกตั้งแต่ปี 1946 ถึง 1954 เป็นสงครามที่ขบวนการเรียกร้องเอกราชในเวียตนามซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถทำการรบเอาชนะกองกำลังยึดครองอาณานิคมของฝรั่งเศสได้ และระยะที่ที่ 2 คือ สงครามเวียตนามหรือสงครามอเมริการะหว่างปี 1955-1975 ซึ่งเวียดนามเหนือและเวียตกงซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและจีนสามารถเอาชนะและผนวกเวียดนามใต้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรส่วนหนึ่งได้สำเร็จในวันที่ 30 เมษายน 1975

สงครามในอินโดจีนเป็นสงครามที่มีการทำลายล้างอย่างรุนแรง และผลกระทบที่เกิดขึ้นยังคงมีอยู่และรู้สึกได้จนถึงทุกวันนี้ เมื่อเปรียบเทียบในแง่ของปริมาณลูกระเบิดที่ถูกทิ้งจากเครื่องบินรบแล้ว กองทัพอเมริกันทิ้งระเบิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าปริมาณระเบิดทั้งหมดที่ทุกฝ่ายทิ้งในพื้นที่ทั้งหมดของสงครามโลกครั้งที่สองรวมกัน โดยเฉพาะในลาวซึ่งกลายเป็นประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดมากที่สุดในโลก ทุ่นระเบิดหรือสนามกับระเบิดยังถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในสงครามครั้งนี้ และส่งผลทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านในเวียดนาม ลาว กัมพูชา และในระดับที่น้อยกว่าคือ ไทย ยังคง บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตจากกับระเบิดและระเบิดนานาชนิดที่ยังคงตกค้างอยู่ในปริมาณมหาศาลเป็นประจำ

สงครามอินโดจีนเริ่มต้นขึ้นจากสงครามเพื่ออิสรภาพของชาวเวียตนามเพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ซึ่งสงครามดังกล่าวกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น อันเป็นการต่อสู้ระหว่างพันธมิตรตะวันตกของสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตและจีน นอกจากนี้แล้วยังเป็นสงครามแห่งความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับลัทธิทุนนิยมอีกด้วย ฝ่ายคอมมิวนิสต์ถูกแบ่งออกเป็นฝ่ายที่สนับสนุนโดยโซเวียตและฝ่ายที่สนับสนุนโดยจีนในปี 1961 ซึ่งจุดแตกหักก็คือสงครามในปี 1969ระหว่าง 'โซเวียต' กับ 'จีน' ซึ่งเคยเป็นประเทศ 'พี่น้อง' ร่วมอุดมการณ์ในอดีต

ภูมิหลังและสงครามอินโดจีนครั้งแรก ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทและกลายเป็นเจ้าอาณานิคมแทนที่จีนและสยาม (ไทย) ในฐานะเจ้าอาณานิคมในภูมิภาคในขณะนั้นคือเวียตนาม ลาว และกัมพูชา ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ยึดครองพื้นที่ทั้งหมด เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ ฝรั่งเศสได้ตั้งเป้าที่จะยึดเอาดินแดนอาณานิคมคืน แต่ถูกพันธมิตรโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา คัดค้าน ลาวและกัมพูชาจึงได้รับเอกราช แต่ไม่นานรัฐบาลของทั้งสองประเทศก็เผชิญกับกองกำลังกบฏคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโซเวียตและจีน

สำหรับเวียตนามแล้ว สถานการณ์ภายในมีความซับซ้อนกว่าขึ้นมาก เดิมฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตกลงกันว่า จะมอบดินแดนตอนเหนือของเวียตนามจะมอบให้จีนคณะชาติดูแล และมอบให้อังกฤษดูแลดินแดนตอนใต้จนกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลเวียตนามสำเร็จ แต่ในเวลานั้นทั้งสองประเทศต่างก็ประสบปัญหาต่าง ๆ เช่นกัน ได้แก่ สงครามกลางเมืองในจีน และการก่อความไม่สงบของคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ในมาลายา ดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ ดังนั้นทั้ง 2 ประเทศจึงไม่สามารถทำหน้าที่ดังกว่าในเวียตนามได้ “เวียตมินห์” ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรต่อต้านอาณานิคมฝักใฝ่คอมมิวนิสต์และได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต จึงได้ประกาศเอกราชในดินแดนตอนเหนือ (เหนือเส้นขนานที่ 17) ในขณะที่ฝรั่งเศสกลับมามีบทบาทอำนาจอีกครั้งในเวียตนามตอนใต้ ในปี 1947 ฝรั่งเศสและเวียตนามเหนือก็เปิดฉากสงครามระหว่างกัน หลังปี 1949 รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนได้ให้การสนับสนุนเวียตมินห์ (เวียตนามเหนือ) อย่างเต็มที่ โดย สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนฝรั่งเศส แต่ ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธที่จะส่งกำลังทหารอเมริกันไปสนับสนุนฝรั่งเศสในเวียตนาม และภายหลังจากฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างยับเยินในสมรภูมิเดียนเบียนฟู ทำให้เกิดข้อตกลงเจนีวาในปี 1954 ซึ่งยุติสงครามในครั้งนั้นลง

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า 'เวียตนาม' ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น 'เวียดนาม' สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top