Sunday, 18 May 2025
ค้นหา พบ 48179 ที่เกี่ยวข้อง

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ร่วมประชุมกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ออสเตรเลียด้านการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ

วันนี้ (16 มี.ค.66) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศพดส.ตร. ได้เดินทางมายังกรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อร่วมการประชุมกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ออสเตรเลียด้านการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ (Mekong-Australia Partnership on Transnational Crime: MAP-TNC) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 มี.ค.66 ณ โรงแรมคราวน์พลาซ่า กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยมีผู้แทนจากกลุ่มประเทศในเขตลุ่มแม่น้ำโขง อาทิเช่น ประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเมียนมา รวมทั้งประเทศคู่เจรจา ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศแคนาดา โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการแสวงหาความร่วมมือในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติในทุกรูปแบบ

ในการประชุมดังกล่าว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้นำเสนอเกี่ยวกับการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้กับทางการสหรัฐอเมริกาทราบ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.66 ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการนำเสนอผลการปฏิบัติทั้งในคดีค้ามนุษย์และคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าหลายปีที่ผ่านมารวมกัน โดยในปีนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้มีการเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยเชิญผู้ที่เคยเป็นผู้เสียหายเข้ามาร่วมในคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพื่อให้ตัวผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการนำประสบการณ์มาใช้พัฒนากระบวนการให้บริการผู้เสียหายให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้แนวคิดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังได้นำเสนอเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับ NGOs อย่างใกล้ชิด และมีการซักซ้อมการปฏิบัติตามกระบวนการ NRM โดยมีการเริ่มใช้ในจังหวัดสตูลในการคัดแยกผู้เสียหายจากการโยกย้ายถิ่นฐานของบุคคลต่างด้าว ซึ่งประเทศไทยไม่มีการกักตัวผู้เสียหายที่เป็นเด็กในห้องกักอีกต่อไป อีกทั้งได้ขยายการใช้กระบวนการ NRM ให้ครบทุกภูมิภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ในยุคปัจจุบัน สถานการณ์ค้ามนุษย์จำเป็นจะต้องมองในระดับภูมิภาค เพื่อให้การขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากประเทศใดไม่ให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง จะต้องมีการกดดันในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ อาชญากรรมหลายประเภทสามารถนำไปสู่การค้ามนุษย์ได้ และมีความเชื่อมโยงกันทั้งหมด จึงต้องพัฒนาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

รมว.พิพัฒน์ ประชุม หารือ กับผู้ประกอบการจังหวัดกระบี่ เปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงเกาะลันตา - ลังกาวี

วันนี้ (16 มี.ค.66) เวลา 14.30 น. ณ ห้องประชุมพนมเบญจา ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดกระบี่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการประชุมหารือเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงเกาะลันตา - ลังกาวี ของจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำโดย นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ,นางศุภิดา อ่อนบรรจง ผู้อำนวยการกลุ่มงานต้านตลาดในประเทศ ,นายสมชาย ชมพูน้อย ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคภาคใต้ ,นายอะหมาน หมัดอะดัม ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานกระบี่ ,นายไพรัช สุขงาม  ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานสตูล ,นายสุรัตน์ จรณโยธิน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกระบี่ น.ส.ศศิธร กิตติธรกุล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.กระบี่ ภาคเอกชนและผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า “เมื่อวันที่ 6 มค ที่ผ่านมาได้เดินทางไปยังเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย พร้อมกับ ททท เพื่อหารือกับผู้บริหารพื้นที่พิเศษของลังกาวี ก็มีความคิดตรงกันว่าจะทำอย่างไร ให้เป็น Destination to Island คือ หนึ่งสถานที่ท่องเที่ยว สองเกาะ สองประเทศ จึงเป็นที่มาของการหารือในวันนี้ร่วมกับจังหวัด ว่าหากจะเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวเกาะลันตา - ลังกาวี ว่าจะพร้อมขนาดไหน ซึ่งท่านผู้ว่าบอกว่าได้มีการเตรียมความพร้อมในการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง ที่ศาลาด่าน เกาะลันตา ซึ่งได้ลงไปดูพื้นที่แล้ว และหารือในรายละเอียดด้านการเดินทาง ว่าจะเดินทางอย่างไร โดยมีข้อจำกัดว่าลังกาวีไม่อนุญาตให้นำเรือสปีดโบ้ทเข้าไป ก็น่าจะมีทางออกว่า ใช้เรือเฟอรี่ ซึ่งก็จะได้ดำเนินการต่อไปทั้งสองส่วนคือเกาะลันตาและลังกาวี เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวนี้ได้”

นอกจากนี้ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ยังได้กล่าวด้วยว่า “การท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ เคยมีรายได้พีคสุดในปี 62 คือ 120,000 ล้านบาท เราจะพัฒนาได้มั๊ยว่าจะเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวได้มากขึ้นอย่างไร เพราะจังหวัดกระบี่ยังมีศักยภาพที่ยังพัฒนาได้อีกมาก โดยขณะนี้ก็ได้วางโครงสร้างไว้ คือ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ซึ่งภูเก็ตเราจะพูดถึงเมืองในอนาคต Smart City และพังงา ได้กำหนดเป็นการท่องเที่ยว Low Carbon ส่วนจังหวัดกระบี่ ก็จะชูคลองท่อมเมืองสปา เนื่องจากอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำพุร้อน แต่ที่พิเศษไปกว่านั้น คือ เรามีน้ำพุร้อนเค็ม ซึ่งเป็น 1 ใน 2 แห่งของโลกเท่านั้น เราจึงต้องการพัฒนาให้อำเภอคลองท่อมเป็นเมืองสปา ควบคู่กับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชื่อมต่อไปยังการท่องเที่ยวทางทะเล” 

ด้านนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่มีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยว เป็นเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ข้อมูลตั้งแต่หลังโควิด ช่วง ต.ค. 65 - ก.พ.66 เรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่เกือบ 800,000 คน ซึ่งถือว่าสูงมาก วันนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ได้หารือการเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ไปยังเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย เพื่อเป็นโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว  และจะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ และหากมีการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะลันตาเสร็จก็จะสามารถเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของทั้งจังหวัด ททท และกระทรวง ที่จะต้องช่วยกันผลักดัน ซึ่งจังหวัดกระบี่ก็พร้อมที่จะพัฒนาด้านการท่องเที่ยวร่วมกันเพื่อความยั่งยืนต่อไป "

17 มีนาคม ของทุกปี วันนักมวย หรือ วันมวยไทย รำลึกถึงบรมครูมวยไทย ‘นายขนมต้ม’

วันมวยไทย หรือวันนักมวย ตรงกับวันที่ 17 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งในวันนี้ถือเป็นวันระลึกเหตุการณ์ในอดีตสมัยกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 ที่ ‪ 

วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2317 นายขนมต้ม‬ นักมวยคาดเชือกชาวกรุงศรีอยุธยา ได้ขึ้นชกมวยต่อหน้าพระที่นั่งพระเจ้ามังระ และสามารถชนะได้ถึงสิบคน ทำให้ศิลปะการต่อสู้ การป้องกันตัวของไทยได้เป็นที่รู้จัก และมีชื่อเสียงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาพร้อมกันนี้นายขนมต้มยังได้รับการยกย่องให้เป็นเสมือน 'บิดามวยไทย' อีกด้วย

นายขนมต้ม เกิดที่ตำบล บ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายเกิดและ นางอี มีพี่สาวชื่อ เอื้อย แต่หลังการบุกของทัพพม่าได้ทำให้พ่อแม่และพี่สาวถูกพม่าฆ่าตายทั้งหมด มีเพียงแต่นายขนมต้มคนเดียว ที่รอดชีวิตมาได้ จากการถูกจับเป็นเชลยในระหว่างการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และได้ไปอาศัยอยู่ในวัดตั้งแต่เล็ก ก็ได้เรียนรู้วิชาการต่อสู้แม่ไม้มวยไทยอย่างต่อเนื่อง จนมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ ดังปรากฏในพงศาวดารว่า

“เมื่อพระเจ้ามังระโปรดให้ปฏิสังขรณ์และก่อเสริมพระเจดีย์ชเวดากองในเมืองย่างกุ้งเป็นการใหญ่นั้น ครั้นงานสำเร็จลงในปี พ.ศ. 2317 พอถึงวันฤกษ์งามยามดี คือวันที่ 17 มีนาคม จึงโปรดให้ทำพิธียกฉัตรใหญ่ขึ้นไว้บนยอดเป็นปฐมฤกษ์ แล้วได้ทรงเปิดงานมหกรรมฉลองอย่างมโหฬาร ขุนนางพม่ากราบทูลว่า “นักมวยไทยมีฝีมือดียิ่งนัก”

พระเจ้ามังระจึงตรัสสั่งให้เอาตัวนายขนมต้ม นักมวยดีมีฝีมือตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามาถวาย พระเจ้ามังระได้ให้จัดมวยพม่าเข้ามาเปรียบกับนายขนมต้ม โดยจัดให้ชกต่อหน้าพระที่นั่ง ปรากฏว่านายขนมต้มชกพม่าไม่ทันถึงยกก็แพ้ถึงเก้าคนสิบคนก็สู้ไม่ได้

พระเจ้ามังระทอดพระเนตรยกพระหัตถ์ตบพระอุระตรัสสรรเสริญนายขนมต้มว่า

“คนไทยนี้มีพิษสงรอบตัว แม้มือเปล่ายังเอาชนะคนได้ถึงเก้าคนสิบคน นี่หากว่ามีเจ้านายดี มีความสามัคคีกัน ไม่ขัดขากันเอง และไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว และโคตรตระกูลแล้ว ไฉนเลยกรุงศรีอยุธยาจะเสียทีแก่ข้าศึก ดั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ”

18 มีนาคม ของทุกปี ‘วันท้องถิ่นไทย’ รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ร.5

18 มีนาคม ของทุกปี เป็น วันท้องถิ่นไทย เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะ ตำบลท่าฉลอมขึ้นเป็นสุขาภิบาลท่าฉลอม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2448 ถือเป็น 'ปฐมบทแห่งการปกครองท้องถิ่นไทย'

ในปี ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานดำริในการกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่นขึ้น โดยทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ 'พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116' ขึ้นจากการที่ทรงมอบหมายให้ไปศึกษาดูงานการปกครองในแถบประเทศพม่า มลายู และยุโรป และได้เริ่มทำการทดลองเพื่อเป็นการศึกษาขึ้นในกรุงเทพมหานคร แต่การบริหารงานของสุขาภิบาลกรุงเทพฯ นี้ดำเนินการโดยข้าราชการทั้งหมด จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 เป็นการปกครองท้องถิ่น เนื่องจากประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลแห่งแรกขึ้นที่ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร อันถือเป็นสุขาภิบาลแห่งแรกของชาติไทย ปฐมบทแห่งการปกครองท้องถิ่น รากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

19 มีนาคม พ.ศ.2533 วันสถาปนาคณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นับเป็นคณะแพทยศาสตร์ลำดับที่ 9 ของประเทศไทย

วันนี้ เมื่อ 33 ปีก่อน เป็นวันสถาปนา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับเป็นคณะแพทยศาสตร์ ลำดับที่ 9 ของประเทศไทย

นโยบายจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 โดยมี ศ.ปรีดี พนมยงศ์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีขณะนั้น จัดตั้งคณะกรรมการร่างโครงการจัดตั้งขึ้นชุดหนึ่ง และได้ดำเนินการอย่างจริงจังในสมัย ศาสตราจารย์คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ 8/2526 ได้ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับนโยบายทางวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ประยุกต์ โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตแพทย์ และมอบหมายให้อธิการบดีดำเนินการตามนโยบาย

โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดำเนินตามแผนโดยการสร้างโรงพยาบาลขึ้น โดยศาสตราจารย์คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มีคำสั่ง ที่ 747/2529 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2529 แต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาทุนสร้างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีศาสตราจารย์ สุธี นาทวรทัน เป็นประธานกรรมการ และ นายประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น เป็นประธานกิตติมศักดิ์ ระดมทุนจากศิษย์เก่าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การดำเนินการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ ได้ดำเนินการต่อมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นชอบด้วยตามหนังสือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร.0203/126 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2529 ซึ่งอธิการบดีได้พบปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ขอดำเนินการโรงพยาบาลให้ครบ 1 ปีก่อน เพื่อเป็นพื้นฐานของคณะแพทยศาสตร์ แล้วจึงจะดำเนินการเรื่องคณะแพทยศาสตร์ โดยมีการสานต่อในสมัย ศาสตราจารย์เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม ดำรงตำแหน่งอธิการบดีในปี พ.ศ. 2531


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top