
นาฬิกาเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้วัดและกำหนดสิ่งต่างต่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาในยุคเริ่มแรกตั้งแต่ นาฬิกาแดด นาฬิกาทราย นาฬิกาไขลาน นาฬิกาออโตเมติก จนกระทั่งนาฬิกาไขดิจิตอล ไปจนถึงนาฬิกาชีวภาพในวิชาชีววิทยา ฯลฯ
จากหลักการทำงานของนาฬิกาดังกล่าวข้างต้น ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเพื่อจัดทำนาฬิกาสำหรับทำหน้าที่พยากรณ์จุดจบของโลกขึ้นมา
Doomsday Clock (นาฬิกาวันสิ้นโลก) จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. 1947) โดยสมาชิกคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และความมั่นคงในคณะผู้จัดทำหนังสือจดหมายเหตุของนักวิทยาศาสตร์ปรมาณู (Bulletin of the Atomic Scientists) ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการด้านต่าง ๆ ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล ๑๘ คนร่วมอยู่ด้วย
Doomsday Clock ไม่ได้เป็นนาฬิกาที่เป็นตัวเรือน แต่เป็นเพียงแผ่นหน้าปัดนาฬิกาที่ถูกจัดทำขึ้น มีลักษณะเป็นเชิงสัญลักษณ์ โดยเปรียบการนับถอยหลังจากเกิดมหันตภัยต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น สงครามนิวเคลียร์ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งนาฬิกาถูกปรับให้เข้าใกล้เที่ยงคืนมากเท่าใด บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างก็เชื่อว่าโลกของเราก็ยิ่งเข้าใกล้การเกิดภัยพิบัติมากขึ้นเท่านั้น
ประวัติของ Doomsday Clock นาฬิกาที่แสนจะแปลกประหลาดและไม่เป็นมงคลเรือนนี้ เริ่มขึ้นภายหลังการสิ้นสุดของมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ สมัยนั้นประชาชนพลโลกทั่วไปยังไม่มีความรู้ถึงภัยร้ายแรงจากอาวุธนิวเคลียร์ รู้อย่างมากแค่ว่า อาวุธนิวเคลียร์เป็นอาวุธที่มีอานุภาพรุนแรงจนสามารถบีบให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้สำเร็จ กลุ่มคนที่เล็งเห็นและตื่นตัวถึงภัยคุกคามนี้เป็นพวกแรก ๆ ก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่ก็คือ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มที่ประดิษฐ์ระเบิดปรมาณูขึ้นมานั่นเอง

Eugene Rabinowitch ผู้ร่วมกันก่อตั้ง Bulletin of the Atomic Scientists
จากความกังวลเรื่องนี้เองทำให้ Eugene Rabinowitch นักชีวะ-ฟิสิกส์ กับ Hyman Goldsmith นักฟิสิกส์ ชาวอเมริกัน จึงได้ร่วมกันก่อตั้งนิตยสารชื่อ Bulletin of the Atomic Scientists ขึ้นมา แปลเป็นภาษาไทยว่า จดหมายเหตุจากนักวิทยาศาสตร์ปรมาณู ซึ่งเริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) โดยมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากมายในยุคนั้นให้การสนับสนุนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Morton Grodzins, Hans Bethe, Anatoli Blagonravov, Max Born, Harrison Brown, Stuart Chase, Brock Chisholm, E.U. Condon, Albert Einstein, E.K. Fedorov, Bernard T. Feld, James Franck, Ralph E. Lapp, Richard S. Leghorn, J. Robert Oppenheimer, Lord Boyd Orr, Michael Polanyi, Louis Ridenour, Bertrand Russell, Nikolay Semyonov, Leó Szilárd, Edward Teller, A.V. Topchiev, Harold C. Urey, Paul Weiss, James L. Tuck ฯลฯ

Hyman Goldsmith ผู้ร่วมกันก่อตั้ง Bulletin of the Atomic Scientists

จุดประสงค์ของนิตยสารก็คือ เป็นแหล่งความรู้สำหรับผู้ที่มีความสนใจในวิทยาศาสตร์ และ ให้ความรู้แก่ประชาชนชาวอเมริกันในเรื่องของอันตรายจากอาวุธนิวเคลียร์ และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. 1947) จึงได้เพิ่ม Doomsday Clock (นาฬิกาวันสิ้นโลก) เข้าไป อันเป็นการเริ่มต้นการเดินของนาฬิกาเรือนนี้ วิธีการอ่านค่าเวลาจากนาฬิกาวันสิ้นโลกนั้นไม่ยากเลย โดยส่วนประกอบและลักษณะรูปลักษณ์ของจะไม่ต่างจากนาฬิกาทั่วไป ประกอบด้วย เข็มยาว เข็มสั้น จุดบอกเวลา ฯลฯ แต่จุดกำหนดเวลาบนหน้าปัดจะมีเพียงเลข ๙ ไปจนถึงเลข ๑๒ คือ มีแต่ส่วนบนซ้ายของหน้าปัทม์นาฬิกา ซึ่งเมื่อเวลาเที่ยงคืนมาถึงจะหมายถึงว่า โลกได้เข้าถึงขีดสุดแห่งความหายนะแล้ว และเป็นการเข้าสู่วันสิ้นโลก แต่เมื่อ ภยันตราย ความรุนแรง และเหตุวิกฤต ลดลงเมื่อใด เข็มเวลาก็จะยิ่งออกห่างจากเวลาเที่ยงคืนมากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่าง เช่น เวลา 23:55 น. จะวิกฤตน้อยกว่าเวลา 23:58 น.
การบ่งบอกว่า โลกเข้าใกล้จุดหายนะที่เป็นการสิ้นสุดของโลกมากน้อยขนาดไหน จะใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกเป็นตัวแปร ตัวกำหนด เช่น สงคราม ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ภัยคุกคามของระเบิดนิวเคลียร์ สภาวะโลกร้อน ฯลฯ เดิมทีนาฬิกาเรือนนี้ถูกแขวนบนกำแพงในสำนักงานของจดหมายเหตุฯ ภายในมหาวิทยาลัยชิคาโก และกลายเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของภัยคุกคามสงครามนิวเคลียร์ที่ชาติต่าง ๆ ต่างพากันสะสมไปจนทั่วโลก ทว่า หลัง พ.ศ. ๒๕๕๐ มีการนำเอาผลสะท้อนอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงพัฒนาการใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งอาจทำให้เกิดภัยต่อมนุษยชาติอย่างร้ายแรงจนไม่อาจกู้คืนหรือแก้ไขได้

RDS-1 ระเบิดปรมาณูลูกแรกของสหภาพโซเวียต
เวลา 23:53 น. หรือ ๗ นาทีก่อนเที่ยงคืน ถูกตั้งให้เป็นเวลาตอนที่ Doomsday Clock (นาฬิกาวันสิ้นโลก) เริ่มเดินเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. 1947) โดยสมัยนั้นเป็นช่วงที่โลกเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาได้ไม่นาน และกำลังก้าวเข้าสู่ยุคนิวเคลียร์ พร้อมกับการก่อตัวขึ้นของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตหรือที่รู้จักกันในชื่อของ “สงครามเย็น (Cold war)” สองปีต่อมา นาฬิกาถูกปรับให้เป็นเวลา 23:57 น. โดยเกิดจากการที่สหภาพโซเวียตทดลอง RDS-1 ระเบิดปรมาณูลูกแรกเป็นผลสำเร็จ จึงนับเป็นประเทศที่สองของโลกที่ครอบครองอาวุธมหาประลัยชนิดนี้ ภายหลังสหรัฐอเมริกาเพียง 4 ปี และเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย

การทดลองระเบิดไฮโดรเจน ซึ่งมีประสิทธิภาพการทำลายล้างสูงกว่าระเบิดปรมาณูหลายเท่าตัว
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ (ค.ศ. 1953) นาฬิกาถูกปรับให้เหลือเวลา ๒ นาทีก่อนเที่ยงคืน อันเป็นผลมาจากสหรัฐฯ กับโซเวียตตัดสินใจทดลองระเบิดไฮโดรเจน ซึ่งมีประสิทธิภาพการทำลายล้างสูงกว่าระเบิดปรมาณูหลายเท่าตัว หลังจากที่นาฬิกาถูกปรับให้ใกล้เที่ยงคืนไปหลายครั้ง ในที่สุดเวลาก็ได้ถูกเลื่อนให้ออกห่างจากเวลาเที่ยงคืนเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ (ค.ศ. 1960) สาเหตุจากท่าทีประนีประนอมของทั้งสองขั้วอำนาจต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น เช่น วิกฤตสุเอซ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ (ค.ศ. 1956) และมีความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายผ่านการประชุมต่าง ๆ

วิกฤตสุเอซ

ประวัติการปรับเวลาของ Doomsday Clock ตั้งแต่ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. 1947) จนถึง พ.ศ. ๒๕๖๐ (ค.ศ. 2017)
สามปีให้หลังต่อมา เวลาของ Doomsday Clock ถูกปรับเป็น 23:48 น. หรือ ๑๒ นาทีก่อนเที่ยงคืน อันเป็นผลมาจากสนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์บนพื้นดิน แต่ยังคงอนุญาตมีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ที่ใต้ดินอยู่ สนธิสัญญานี้แสดงให้เห็นว่า มีความพยายามจากทั้งสองฝ่ายที่จะลดอัตราการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ลง และร่วมกันปกป้องสภาพอากาศที่เสียหายจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์