Monday, 19 May 2025
ค้นหา พบ 48185 ที่เกี่ยวข้อง

“บิ๊กตู่” เข้าทำเนียบฯ เตรียมประชุม ศูนย์บริการเศรษฐกิจ บ่ายนี้ จับตาเคาะมาตรการ เปิดเมืองภูเก็ต (Phuket Sandbox) รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 ก.ค.นี้ นำร่องก่อนเปิดรับอีก 9 จังหวัด

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ว่า วันเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรี เข้าทำเนียบรัฐบาล ช้ากว่าปกติ เมื่อเวลา 10.00 น.และเตรียมเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 2/2564  หรือ ศบศ.ในเวลา 13.30 น. โดยมีวาระที่น่าสนใจ คือการรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดและความคืบหน้ามาตรการด้านเศรษฐกิจที่ดำเนินการไปแล้ว ทั้งโครงการเราชนะ ม.33 เรารักกัน รวมถึงมาตรการสนับสนุนให้สินเชื่อผู้ประกอบธุรกิจ 

นอกจากนี้จะพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกระตุ้นการซื้อการลงทุนด้านอสังหาฯของชาวต่างชาติซึ่งต้องเป็นสมาชิกบัตรไทยแลนด์ Elite Card ภายใต้โครงการ Elite Flexible Program ขณะเดียวกันจะปรับปรุงระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจและดึงดูดการลงทุน ที่สำคัญ ที่ประชุมจะพิจารณาแผนการเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นำร่อง 10 จังหวัด ในไตรมาสที่ 3และ 4 โดยนายกรัฐมนตรีจะได้พิจารณาและรับทราบแผนที่การการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะเปิดเมืองภูเก็ต (Phuket Sandbox) เพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป  ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วรวมถึง เช่น ไม่กักตัวนักท่องเที่ยวหากฉีดวัคซีนครบโดส โดยแสดงหลักฐานใบรับรองการรับวัคซีน โดยหมายกลุ่มแรกที่จะเดินทาง เข้ามาท่องเที่ยว คือ กลุ่มยุโรป อเมริกา เป็นหลัก ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ถึง 129,000 คน  ส่วนนักท่องเที่ยวในประเทศใกล้เคียงต้องจับตาดูนโยบายของแต่ละประเทศ ซึ่ง ททท.จะประเมินสถานการณ์ในทุกๆ เดือน 

ส่วนอีก 9 จังหวัด แหล่งท่องเที่ยว สมุย กระบี่ พังงา พัทยา เชียงใหม่ หัวหิน ชะอำ บุรีรัมย์ และ กทม. ที่กำลังจะเปิดรับนักท่องเที่ยวก็ต้อง ดู ภูเก็ตโมเดล ก่อน  พร้อมกันนี้ ททท. จะรายงาน แผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทั้งโครงการเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ทัวร์เที่ยวไทย ที่จะเริ่มในกลางเดือน ก.ค.นี้

"แรมโบ้” จวก “จาตุรนต์" นักการเมืองเสื่อมคุณภาพ บิดเบือนข้อมูลวัคซีน แจงเหตุไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์เหตุที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ของประเทศไทย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงไปแล้วว่าไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้วัคซีนฟรี

แต่ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีนที่จะให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันได้เพียงพออย่างแน่นอน ขออย่าตำหนินายกฯ และรัฐบาล เพียงอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมานายจาตุรนต์ ก็เห็นแล้วว่านายกฯ รัฐบาล ทำงานหนัก ทำทุกอย่างเต็มที่ แตกต่างกับคนที่ไม่ได้ทำอะไรเพื่อชาติบ้านเมือง มีแต่ออกมาตำหนิกล่าวหาคนทำงาน และนายจาตุรนต์ ควรหัดทำตัวเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง อย่าเอาวัคซีนมาตีกินทางการเมือง หรือฝ่ายค้านตกงาน ว่างงานมาก จึงพยายามตีกินเรื่องวัคซีน แต่ประชาชนไม่ได้โง่และเข้าใจรัฐบาลดีและเห็นว่าฝ่ายค้านพยายามให้ข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงมาตลอด ส่วนนายจาตุรนต์ ก็เกาะกระแสบิดเบือนไปด้วยจนกลายเป็นนักการเมืองที่ไร้คุณภาพไปในสายตาประชาชน 

"เครือข่าย We Fair" ยื่นหนังสือ จี้ "กมธ.งบ 65" จัดลำดับความสำคัญงบ ทุ่มนโยบายสวัสดิการสังคมมากกว่าซื้ออาวุธ ด้าน "พิธา" อัด เป็นการจัดงบระหว่างอภิสิทธิ์ชน-ปชช. ในขณะที่ประเทศดิ่งเหว

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน เวลา 09.40 น ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล น.ส.ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย  และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นตัวแทนรับหนังสือจากเครือข่าย We Fair เพื่อขอให้กรรมาธิการงบประมาณฯจัดลำดับความสำคัญในนโยบายสวัสดิการสังคม ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา ประกันสังคม ที่อยู่อาศัย เงินอุดหนุนเด็ก บำนาญประชาชนมากกว่านโยบายที่ไม่ใช่ลำดับความสำคัญ เช่น งบประมาณการจัดซื้ออาวุธ

โดยนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ แกนนำเครือข่าย We Fair กล่าวว่า งบประมาณ 65 ไม่ตอบโจทย์ 3 ประเด็น ได้แก่

1.ทำไมงบสวัสดิการของประชาชนถึงลดลง 10% ขณะที่ยังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 แต่งบราชการยังเพิ่มสูงขึ้น และยังไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของงบโดยเฉพาะงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่ยังคงสูงมากเป็นลำดับที่ 4 แต่กลับมีการปรับลดในส่วนของประกันสังคม บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และงบประมาณสปสช. ทำให้มีข้อกังวลว่าจะทำให้มีการปรับลดลงอีกหรือไม่ในวาระที่ 2 

2.การจัดงบครั้งนี้ยังพบวิกฤตการณ์ของความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะเงินอุดหนุนประชาชนใน 3 นโยบาย ได้แก่ นโยบายดูแลเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี และนโยบายเบี้ยผู้สูงอายุที่ยังไม่มีการปรับขึ้น รวมถึงเบี้ยนโยบายคนพิการก็ยังเท่าเดิม แต่เงินสวัสดิการราชการกลับมากกว่าสวัสดิการของประชาชน เพราะงบประมาณ 40% ล้วนแต่เป็นเงินข้าราชการที่าจากงบประมาณของประเทศ ดังนั้น ต้องมีการปฏิรูประบบข้าราชการ ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ความสำคัญกับกำลังพล กองทัพ มากกว่าข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาหรือไม่ ซึ่งดูได้จากงบประมาณกระทรวงกลาโหมที่ได้มากกว่ากระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ

3.วิกฤติการณ์โควิดและไม่ตอบโจทย์กับเศรษฐกิจ ทางเครือข่ายจึงเดินทางมายื่นหนังสือถึงกมธ. เพื่อขอให้พิจารณาและให้ครม.ต้องทบทวนการจัดสรรงบประมาณใหม่

ด้านนายพิธา กล่าวว่า ยืนยันว่างบประมาณปีนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองและไร้สามัญสำนึก มีการจัดงบระหว่างอภิสิทธิ์ชนกับประชาชนในยามที่ประเทศดิ่งเหว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสังคมไทยว่ายังเป็นแบบไหน เรามีหน้าที่ปกป้องสวัสดิการของประชาชนที่ให้สัญญาไว้ คือ การรีดไขมันเพื่อนำงบของอภิสิทธิ์ชนและงบของทหารมาเป็นกองกลางให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปจัดซื้อวัคซีนมากว่าการจัดซื้ออาวุธและกระจายงบประมาณคืนกลับหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ต้องถูกตัดงบไป ทั้งนี้จะไปพูดคุยในกมธ.และรัฐบาลถึงเรื่องรัฐสวัสดิการในประเทศให้เขาได้เข้าใจ เพราะเราต้องโอบอุ้มคนเปราะบางให้ใช้ชีวิตต่อไปได้และประเทศไทยต้องฟื้นฟูใหม่

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.งบฯ ฉบับนี้ถือว่าเป็นกฎหมายที่เราต้องทำให้เกิดประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะปัจจุบันประเทศเกิดวิกฤตเชื้อโรคที่โจมตีกับทุกคน ดังนั้นชีวิตมนุษย์ย่อมสำคัญกว่าวัตถุ โดยการจัดงบประมาณปี 65 ให้ความสำคัญกับวัตถุ การก่อสร้าง และการซื้ออาวุธมากกว่าชีวิตประชาชน ทางกมธ.งบประมาณฯ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดและสื่อไปถึงรัฐบาลว่าประชาชนไม่ใช่ลูกหนี้ผู้รับใช้ แต่รัฐบาลและข้าราชการเป็นหนี้กับประชาชนเพราะเงินเดือนทุกบาทมาจากภาษีของประชาชน

ด้าน น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณไม่ใส่ใจประชาชน ซึ่งในวาระแรกในชั้นพิจารณารับหลักการ ทางส.ส.ฝั่งรัฐบาลก็อภิปรายอย่างดุเดือด ชี้ให้เห็นความบกพร่องถึงร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้แต่ท้ายสุดกลับลงมติรับหลักการ ซึ่งตนคิดว่าเราต้องติดตามในการพิจารณาหลักการในวาระ 2 และจะร่วมกันตรวจสอบต่อไป

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุม เชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามและประเมินผลแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 4 และยก (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 5 ครั้งที่ 1 พื้นที่ภาคใต้

วันนี้ (4 มิถุนายน 2564) เวลา 09.00 น. นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามและประเมินผลแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 และยก (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2556 - 2570) ครั้งที่ 1 ในพื้นที่ภาคใต้ ผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ Cisco Webex Meeting โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้มีส่วนร่วมสะท้อนปัญหา และ ร่วมจัดทำแผนระดับพื้นที่พัฒนาเป็นแผนระดับชาติ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 และยก (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ และคณะเป็นที่ปรึกษาโครงการ 

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วน โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในระดับพื้นที่นำมาวิเคราะห์ยก (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2556 - 2570) กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพนำเสนอร่างเข้าสู่การกระบวนการ พิจารณาของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป เพื่อให้แผนสามารถประกาศใช้ได้ทันตามรอบเวลา ทั้งนี้การประชุมฯ ดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม จำนวน ประมาณ 80คน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ จำนวน 4ครั้ง ดังนี้ (1) พื้นที่ภาคเหนือ ในวันพุธที่ 9 มิถุนายน 2564 (2) พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน 2564 (3) พื้นที่ภาคกลาง ในวันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน 2564 (4) พื้นที่กรุงเทพมหานคร ในวันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม 2564 

69 เครือข่ายแพทย์แผนไทย ร้องประธานสภาฯ ขอโอกาสมีส่วนร่วมเข้ารักษาผู้ป่วยโควิด-19

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.เวลา 10.15 น.ที่รัฐสภา นายแทนคุณ จิตต์อิสระ คณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือร้องเรียน จาก 69 เครือข่ายแพทย์แผนไทย  ที่ขอให้ประธานสภาฯ ส่งเรื่องไปยังรัฐบาลเปิดโอกาสให้แพทย์แผนไทยมีส่วนเข้ารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการคลายกฎระเบียบที่ห้ามใช้การแพทย์แผนไทย ทำการรักษาและช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 จัดตั้งศูนย์กระจายยาสมุนไพรที่ใช้ในสถานการณ์แพร่ระบาดให้ทั่วถึงควบคู่กับการกระจายการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงการดูแลสุขภาพ และเปิดโอกาสให้คลินิกการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศรักษาผู้ติดเชื้อที่ยังต้องรอการส่งตัวเข้าสู่โรงพยาบาลได้ด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด เช่น การสอบถามอาการทางโทรศัพท์ การจัดส่งยาให้แทนการเข้าไปยังสถานพยาบาล พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้แพทย์แผนไทยสามารถช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ต่างๆ ได้ เช่น พื้นที่ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนหรือในโรงพยาบาลต่างๆ และให้แพทย์แผนไทยสามารถช่วยดูแลผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก ใน Hospitel และในสถานกักกันผู้ติดเชื้อ ที่ยังไม่มีอาการและผู้มีอาการไม่มาก ใช้การรักษาด้วยสมุนไพรตามตำรับแพทย์แผนไทยที่มีในบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมทั้งสนับสนุนเรื่องการจ่ายยา ยาแพทย์ทางเลือก เพื่อความสอดคล้องกับวิชาชีพแพทย์แผนไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top