การบินไทยแจง 6 ข้อ ปมเหมาซื้อ ‘Boeing 787’ กว่า 80 ลำ ลั่นโปร่งใสตามแผนฟื้นฟู ไม่มีคอมมิชชั่นแอบแฝง พร้อมเปิดรับการตรวจสอบ

(17 เม.ย. 68) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ออกหนังสือชี้แจงอย่างเป็นทางการจำนวน 6 ประเด็นหลัก เพื่อตอบข้อสงสัยกรณีจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787 (Boeing  787) รวมกว่า 80 ลำ ซึ่งถูกหยิบยกในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” เมื่อวันที่ 6 เมษายน โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสม ความปลอดภัย และแรงจูงใจในการจัดซื้อ

การบินไทยระบุชัดเจนว่า การจัดซื้อเครื่องบินรุ่น Boeing 787-9 Dreamliner จำนวน 45 ลำ พร้อมสิทธิ์จัดซื้อเพิ่มเติมอีก 35 ลำ ภายในปี 2576 เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด ซึ่งมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพฝูงบิน รักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนการเติบโตในเส้นทางการบินระยะไกล พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่มีบุคลากรของบริษัทฯ คนใดได้รับผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนใด ๆ จากผู้ผลิตเครื่องบิน

ในจดหมายดังกล่าว ฝ่ายสื่อสารองค์กรของการบินไทย ชี้แจงโดยละเอียดว่า

1. เครื่องบินโบอิ้ง 787-9 พร้อมเครื่องยนต์ GEnx ของ GE Aerospace ถูกเลือกจากเหตุผลด้านสมรรถนะ ความประหยัดพลังงาน และความสามารถในการบำรุงรักษา อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

2. กระบวนการจัดซื้อเป็นไปตามมาตรฐานสากล ที่สายการบินชั้นนำทั่วโลกใช้อย่างแพร่หลาย พร้อมย้ำว่าไม่มีการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ใด

3. เครื่องยนต์ GEnx ของ GE มีชั่วโมงบินสะสมมากกว่า 50 ล้านชั่วโมงทั่วโลก เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ที่น่าเชื่อถือที่สุดในอุตสาหกรรมการบิน

4. การบินไทยเลือกใช้เครื่องบินและเครื่องยนต์ที่ผ่านการรับรองจาก FAA (สหรัฐฯ), EASA (ยุโรป) และ กพท. (ไทย) รวมถึงอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

5. บริษัทเลือกใช้ Boeing 787-9 รุ่นล่าสุด ซึ่งต่างจากรุ่น 787-8 ที่เคยมีปัญหาในอดีต โดยนำบทเรียนครั้งนั้นมาใช้ในการตัดสินใจในครั้งนี้

6. ย้ำว่าการจัดซื้อครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างศักยภาพฝูงบินของประเทศ และช่วยผลักดันกรุงเทพฯ สู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค

การบินไทยยังกล่าวขอบคุณนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่เป็นสื่อกลางสะท้อนข้อสงสัยจากสาธารณชน พร้อมเชิญชวนหากมีข้อมูลเพิ่มเติมโดยเฉพาะเรื่องคอมมิชชัน ให้แจ้งหรือเปิดเผยต่อบริษัทฯ เพื่อการตรวจสอบโดยโปร่งใส ยืนยันว่าบริษัทเปิดรับข้อมูลจากทุกฝ่าย และมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้จริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสาธารณะ