‘อาจารย์ สจล.’ สะท้อนปัญหาการศึกษาไทยยุคเรียนเอาเกรด หลังพบเด็กส่งผลงานสุดหรู แต่ไม่รู้แม้เรื่องพื้นฐาน – ตอบคำถามไม่ได้
(15 ม.ค. 68) รศ. ธีรวัฒน์ ประกอบผล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า
"สัมภาษณ์ TCAS68...น่าห่วงกับการศึกษาไทย"
หลาย ๆ อย่างผมอาจคิดไปเองก็ได้ นักเรียนที่มาสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ความรู้ดี และเด็กไทยยุคนี้เกรด 4.00 แยะมาก เด็กส่วนใหญ่คะแนนสูง ๆ ทั้งนั้น แต่ผมก็อยากแนะนำไปถึงเด็ก ๆ และครูแนะแนวในการแนะแนวเด็กนักเรียนครับ
มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะมีการรับหลายรูปแบบ แม้ว่า TCAS รอบยื่นผลงาน แต่บางมหาวิทยาลัยอาจมีโครงการย่อยลงไปอีกที่แตกต่างกันไป ซึ่งนักเรียนควรศึกษาเรื่องแบบนี้ด้วย เพื่อเป็นช่องทางของตัวเอง
วันนี้ผมได้สัมภาษณ์ในส่วนของโครงการ "เด็กดีมีที่เรียน" และ "เด็กที่มีความสามารถพิเศษ" เมื่อเราจะยื่นโครงการลักษณะนี้ คำว่าเป็นเด็กดี เราก็ต้องแสดงออกมาว่าเราดีจริง ๆ และดีจนมหาวิทยาลัยอยากจะรับเรา การที่เราไปเป็นอาสาสมัคร หรือช่วยงานเป็นจ๊อบเล็ก ๆ เราก็ต้องดูว่าคู่แข่งของเรานั้นน่าจะมีผลงาน หรือทำดีมากกว่าเราอีกหรือไม่ การนำเสนอผลงานที่เราเป็นจราจรหน้าโรงเรียนนั้นเพียงพอหรือไม่ที่จะแสดงว่าเราเป็นเด็กดี ดังนั้นหลาย ๆ อย่างควรพิจารณา
การนำผลงานมาใส่ในแฟ้มผลงานก็ควรจะเลือก ให้ความสำคัญในแต่ละงาน เรื่องใดสำคัญมากกว่า มีงานเรื่องเป็นการประกวดภายในโรงเรียน มีบางเรื่องเป็นการแข่งขันนานาชาติ แต่เขามาจัดที่โรงเรียนเราโรงเรียนเดียว แล้วแข่งกับต่างประเทศนั้น ก็ลองคิดดูว่าการแข่งขันแบบนี้น่าจะถือว่าเป็นนานาชาติหรือไม่
เมื่อผมสัมภาษณ์ผมมักจะให้เด็กเขียนและแสดงความรู้ออกมา ว่าเรารู้เรื่องนั้นจริง การนำเสนอของนักเรียนบางคนมักจะเตรียมมาพูดมากกว่าจะให้กรรมการถาม แต่แม้ว่าเรามีผลงานออกมาดีเมื่อกรรมการถามสิ่งที่เกี่ยวข้องกันก็ควรจะตอบได้ เช่น มีผลงานการพัฒนาแอพ พัฒนาโปรแกรม แต่เมื่อกรรมการถามให้ลองเขียนโปรแกรมง่าย ๆ เช่น อัลกอริทึม หรือโปรแกรมคำนวณดัชนีมวลกาย หรือตรวจสอบว่าจำนวนนี้เป็นจำนวนเฉพาะหรือไม่ ก็ควรจะตอบได้
นักเรียนบางคนเรียนได้เกรดวิทย์ 4 หมด แต่ถามเรื่องโมเมนตัม เรื่องไฟฟ้ากระแสตรง ไฟฟ้ากระแสสลับพื้น ๆ กลับตอบไม่ได้ แต่กลับบอกสูตรได้ นำสูตรมาแทนค่าได้
ผมมักจะมองใบ ป.พ.1 ของนักเรียน ดูว่าเรียนอะไรกันมาบ้าง น่าเสียดายนักเรียนบางคนบอกว่าเรียนไม่ค่อยตรงกันที่ควรเรียน บางโรงเรียนวิทยาการคำนวณสอนแต่หุ่นยนต์ แต่ก็ต้องดูว่าเด็กทุกคนไม่ได้ชอบหุ่นยนต์ บางคนอยากไปแบบอื่น อยากเขียนโปรแกรมพื้นฐานให้ได้ ก็เขียนไม่ได้เลย เพราะครูสอนแต่หุ่นยนต์นั่นเอง
และเมื่อดูในใบ ป.พ.1 ซึ่งจะติดตัวนักเรียนไป ยังมีการเขียนที่แตกต่างกัน ซึ่งผมไม่รู้ว่าสะกดผิด หรือผมเข้าใจผิดเอง บางโรงเรียนมีสอนวิชาการเขียนโปแกรมไพทอน บางโรงเรียนก็ไพทรอน สะกดไม่เหมือนกัน บางโรงเรียนสอนวิชา STAM บางโรงเรียนสอนวิชาท่อน้ำ 1 ท่อน้ำ 2 ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าผมคิดผิดไปเอง หรือเขียนแบบนี้ถูก แต่ที่แน่ ๆ สิ่งนี้จะติดตัวนักเรียนไปตลอด
ทั้งนี้ทั้งนั้นผมอาจคิดไปเองก็ได้ เด็กส่วนใหญ่ตอบคำถามผมได้ดี แต่ก็มีบางคนที่ตอบไม่ได้อย่างที่ผมกล่าวมา
แต่ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของการศึกษาไทยในยุคนี้ละครับ ที่เด็กได้คะแนนเกือบ 4 กันเกือบทั้งหมดเลยครับ น่าชื่นชมจริง ๆ เด็กไทยเกรดสูง ไม่ค่อยมีตกซ้ำชั้น