‘ณัฐวุฒิ’ เปลือยเบื้องลึกหวนคืนสู่เส้นทางสายการเมือง รับบท ‘กุนซือการเมือง’ เคียงข้าง ‘แพทองธาร’

(8 ต.ค. 67) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกฯ ให้สัมภาษณ์นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าว ผ่านเพจ 'สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว' ว่า

กรณีที่นายสรยุทธ สอบถามว่าถือเป็นการกลืนน้ำลายตัวเองหรือไม่ที่กลับมาช่วยพรรคเพื่อไทยทั้งที่ในปี 2566 ได้ประกาศออกจากหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เพราะไม่เห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยจับมือกับ 3 ลุง โดยนายณัฐวุฒิ ตอบนายสรยุทธว่า ไม่ เพราะตนมีเหตุผล เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป การเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรอำนาจซึ่งสถานการณ์ขณะนั้นเป็นหมากล็อก ถึงต้องตั้งรัฐบาลแบบนี้

ที่ถอยออกมาเพราะได้ประกาศกับประชาชนไปแล้วและหวังว่าเมื่อเกิดรัฐบาลแบบนี้ก็น่าจะประคับประคองและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ในหลายเรื่อง แต่เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี นายเศรษฐา ทวีสิน กลับพ้นตำแหน่งคือทุกอย่างเกิดขึ้นภายในสัปดาห์เดียว คือพรรคก้าวไกลถูกยุบตามด้วยนายเศรษฐาพ้นตำแหน่ง พอตนเห็นแบบนี้ก็เป็นห่วงนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร

ตนไม่คิดว่านายเศรษฐาจะอยู่แค่ปีเดียว เมื่อเป็นแบบนี้ก็เลยเป็นห่วงน.ส.แพทองธาร แล้วทางนี้ก็อยากให้ตนเข้ามาช่วยด้วย

โดยตนจะเข้ามาร่วมกับทีมงานในการคิดประเมินสถานการณ์ทางการเมือง ออกความเห็นทางการเมืองรายงานต่อนายกฯ รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารออกสู่ประชาชน ซึ่งหลายคนในทีมงานก็จะมีประสบการณ์มาช่วยคิดอ่านสถานการณ์ทางการเมืองกัน

เมื่อถามว่ามาช่วยวิเคราะห์กับดักนายกฯ นายณัฐวุฒิ ไม่ปฏิเสธ พร้อมขยายความว่ามาช่วยสื่อสารกับสังคม มีทีมทำงานอยู่ซึ่งเป็นปกติของทุกนายกฯ ที่จะมีทีมงานแบบนี้

เมื่อถามต่อว่าแล้วทีมงานบ้านพิษณุโลก 5-6 ท่านถือว่าเป็นทีมเดียวกันหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ภารกิจจะไม่ได้เกี่ยวเนื่องกัน เพราะบ้านพิษณุโลกเน้นนโยบายและเอกสารที่จะขับเคลื่อนนโยบาย ส่วนตนจะเกี่ยวข้องกับตัวนายกฯ สถานการณ์ต่าง ๆ ที่แวดล้อมนายกฯ อยู่

เมื่อถามว่าถือเป็นพี่เลี้ยงนายกฯ นายณัฐวุฒิ ปฏิเสธว่าไม่ใช่พี่เลี้ยงนายกฯ นายกฯไม่จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยง เพราะมีศักยภาพ มีความชัดเจนเด็ดขาดแบบที่น.ส.แพทองธารเป็น

เมื่อถามต่อว่า พรรคเพื่อไทยโดนข้อหาตระบัดสัตย์ เมื่อนายณัฐวุฒิกลับเข้ามาทำให้ภาพตระบัดสัตย์นี้กลับมาอีกครั้ง นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ไม่ เราจะไปห้ามไม่ให้พูดไม่ได้ ตนคิดว่าอย่าไปเปลืองเวลา เพียงแต่เราต้องบอกเหตุผลกับตัวเราเองให้ได้ก่อน เมื่อบอกเหตุผลกับตัวเองได้แล้วก็จะบอกสาธารณะได้ ส่วนว่าจะเชื่อหรือไม่ก็เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของคนฟัง


ที่มา Matichon