‘Nieves Fernandez’ ผู้นำกองโจรต้านทัพญี่ปุ่น ผู้สังหารทหารญี่ปุ่นกว่า 200 นาย ในสงครามโลกครั้งที่ 2

รู้จักคุณครู Nieves Fernandez วีรสตรีแห่งฟิลิปปินส์ ผู้นำกองกำลังต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้สังหารทหารญี่ปุ่นมากกว่า 200 นาย

ในช่วงทศวรรษที่ 1930 จักรวรรดิญี่ปุ่น ได้เริ่มบุกรุกขยายดินแดนในทวีปเอเชียเพื่อเพิ่มพลังอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศตะวันตกและเอเชียหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาซึ่งมีดินแดนอาณานิคมขนาดใหญ่ในทวีปนี้ ต่อมาเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นเหตุให้มีเริ่มสงครามระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเปิดฉากโจมตีที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพสหรัฐฯในภูมิภาคแปซิฟิกที่อ่าวเพิร์ลในปี 1941 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามแปซิฟิกซึ่งเป็นพื้นที่ของความขัดแย้งที่ใหญ่กว่าและรู้จักกันในชื่อสงครามโลกครั้งที่สอง

ในช่วงเวลานั้น ฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา และรัฐบาลเครือจักรภพแห่งฟิลิปปินส์ (ภายใต้สหรัฐฯ) พึ่งจัดตั้งขึ้น แต่เนื่องจากการที่ยุทธศาสตร์ทางการทหารของสหรัฐฯเน้นไปที่พื้นที่สงครามในยุโรปมากกว่า ทำให้กำลังทางทหารของสหรัฐฯและรัฐบาลเครือจักรภพแห่งฟิลิปปินส์จึงที่ด้อยกว่ากองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น จึงทำให้กองทัพญี่ปุ่นสามารถเข้าควบคุมพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศฟิลิปปินส์ได้อย่างรวดเร็ว แม้จะมีการต่อต้านอย่างหนักจากกองกำลังของสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์แล้วก็ตาม

คุณครู Nieves Fernandez น่าจะแต่งงานแล้วเมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายที่คาดว่าเป็นของเธอ

พื้นที่แห่งหนึ่งที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดครองก็คือเมือง Tacloban ที่ซึ่งคุณครู Nieves Fernandez อาศัยอยู่ ก่อนสงคราม เธอทำงานเป็นคุณครูของโรงเรียนในพื้นที่ มีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับชีวิตในวัยเด็กของเธอ นอกเหนือไปจากการเกิดในราวปี 1906 ซึ่งอาจเป็นเชื้อสาย Waray (ชนพื้นเมืองชาติพันธุ์หนึ่งในฟิลิปปินส์) และน่าจะแต่งงานแล้วเมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายที่คาดว่าเป็นของเธอ ‘Nieves’ ชื่อของเธอเป็นภาษาสเปนแปลว่า ‘หิมะ’ และเธอเป็นที่รู้จักในฐานะ “ผู้หญิงผิวขาวกว่าผู้หญิงพื้นเมืองส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้” นักเรียนของเธอมักเรียกเธอว่า ‘Miss Fernandez’ ซึ่งเป็นชื่อที่เธอใช้ต่อไปหลังสงครามสิ้นสุดลง

ปืน 'Paltik'

ในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครอง ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และเขตเมืองโดยรอบของเกาะ Leyte ได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายจากทหารญี่ปุ่น รวมถึงการกดขี่ ขูดรีด ปล้น ฆ่า และข่มขืน คุณครู Fernandez กล่าวด้วยคำพูดของเธอเองว่า “ไม่มีใครสามารถเก็บอะไรไว้ได้ พวกเขาเอาทุกอย่างที่พวกเขาต้องการไป” คุณครู Fernandez เป็นหนึ่งในอีกหลาย ๆ คนที่ต่อสู้กับการยึดครองของญี่ปุ่นในฟิลิปปินส์ เธอเดินเท้าเปล่าและสวมชุดคลุม เธอเริ่มคัดเลือกชาวพื้นเมืองที่มีจำนวน 110 คน ในตอนแรกกลุ่มของเธอมีปืนเล็กยาวอเมริกันเพียงสามกระบอก โดยส่วนใหญ่ใช้ ปืน 'Paltik' (ปืนลูกซองทำเองจากแป๊บน้ำ) ระเบิดแสวงเครื่อง (จากปลอกกระสุนที่บรรจุตะปูเก่า ๆ ) และมีด Bolo ต่อมาพวกเขาได้หาซื้ออาวุธปืนของญี่ปุ่นและอเมริกันเพิ่มเติม แล้วทางใต้ของเมือง Tacloban ก็กลายเป็นสมรภูมิของคุณครู Fernandez และกองโจรของเธอกับกองทัพญี่ปุ่น

มีด Bolo

เธอได้รับฉายาว่า 'ผู้กอง Fernandez' และ 'ฆาตกรเงียบ (Silent killer)' ด้วยผลงานของเธอ โดยเธอได้ทำการฝึกฝนลูกน้องของเธออย่างแข็งขันทั้งในการผลิต-ดัดแปลงอาวุธ และการซุ่มโจมตี ตัวเธอเองมีความรู้ในการใช้มีด Bolo ระหว่างการซ่อนเร้นทั้งยังได้สาธิตให้ทหารอเมริกันที่พบเธอดูด้วย ปฏิบัติการของเธอทำให้กองทัพญี่ปุ่นต้องสูญเสียทหารไปกว่า 200 นาย และบังคับให้กองทัพญี่ปุ่นตั้งค่าหัวของเธอเป็นเงิน 10,000 เปโซ เธอได้รับบาดเจ็บสามครั้ง และได้ทิ้งรอยแผลเป็นบนหน้าผากอีกด้วย

ภาพประวัติศาสตร์ คุณครู Fernandez สาธิตการใช้มีด Bolo สังหารทหารญี่ปุ่น
ให้พลทหาร Andrew Lupiba ดู

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดฟิลิปปินส์ก็ได้รับการปลดปล่อยจากการยึดครองของญี่ปุ่นในปี 1945 แต่ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับคุณครู Fernandez ในช่วงหลายปีหลังจากนั้น แม้ว่าจะมีข่าวว่า เธออาศัยอยู่ที่เมือง Tacloban จนอายุ 90 ปีกับลูกชายและหลาน ๆ ของเธอ 

ประวัติการต่อสู้ของคุณครู Fernandez ได้รับการบันทึกไว้เป็นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ The Lewiston Daily Sun และ Associated Press ในปี 1944 เมื่อทหารอเมริกันมาเยี่ยมเธอหลังสงคราม Stanley Troutman หนึ่งในนั้น ได้ถ่ายรูปเธอขณะสอนพลทหารอเมริกัน Andrew Lupiba ฆ่าคนด้วยมีด Bolo ปัจจุบันภาพถ่ายประวัติศาสตร์นี้ถูกจัดเก็บโดยองค์กร Rare Historical Photos และ Dustin Koski จาก Top Tenz จัดให้คุณครู Fernandez อยู่ในอันดับที่ 8 ในรายชื่อ '10 สตรีที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์'


เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล