‘ไทยเบฟ’ ตั้ง ‘ลิตเติ้ล จอห์น ดิจิทัล’ ทุนจดทะเบียน ‘หมื่นล้าน’ ลุยธุรกิจดิจิทัล
(7 ก.ย.67) มีกระแสข่าวใหญ่ ‘บิ๊กดีล’ ของ ‘บิ๊กคอร์ป’ ยักษ์เครื่องดื่มและอาหารในภูมิภาคอาเซียนอย่าง ‘ไทยเบฟเวอเรจ’ ที่ถูกเอ่ยไปอยู่ในโผของรายชื่อที่สนใจธุรกิจแพลตฟอร์ม Food Dlivery อย่าง ‘โรบินฮู้ด (Robinhood)’ ที่ก่อนหน้านี้ประกาศ ‘ยกธงขาว’ จะปิดให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood เป็นการถาวร วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 หลังบริษัทเผชิญ ‘ขาดทุนบักโกรก’ สะสมกว่า 5,000 ล้านบาท
เกิดความปราชัยในสนามธุรกิจไม่ทันไร เห็นการกลับลำ เลื่อนการยุติให้บริการออกไปก่อน เมื่อมีบรรดา ‘นายทุนใหญ่’ ให้ความสนใจยื่นเสนอเจรจาซื้อกิจการ ‘รับไม้ต่อ’ เพื่อเป็นหนึ่งใน ‘ขั้วที่ 3’ รายใหญ่ สู้ศึกฟู้ดเดลิเวอรี่ยกใหม่
‘ทุนใหญ่’ ที่ถูกเผยจะเป็นผู้นำทัพ ‘โรบินฮู้ด’ ปรากฏชื่อของ ‘บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน)’ ที่มี ‘เจ้าสัวหนุ่ม ฐาปน สิริวัฒนภักดี’ ทายาทของราชันย์น้ำเมา ‘เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็น 1 ใน 3 รายชื่อที่อยู่ในวงบิ๊กดีล! ดังกล่าว
ความเคลื่อนไหวของ ‘ไทยเบฟ’ สอดรับกับกระแสข่าวรุกฟู้ดเดลิเวอรี่เห็นชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาใหม่ภายใต้ชื่อ ‘บริษัท ลิตเติ้ล จอห์น ดิจิทัล จำกัด’ (Little John Digital) ซึ่งมีทุนจดทะเบียนมากถึง 1 หมื่นล้านบาท(10,000 ล้านบาท) ประกอบด้วยหุ้นสามัญ 1,000,000 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท
ขณะที่การลงทุนดังกล่าว จะเป็นเงินทุนที่จัดจากภายใน ส่วนการถือหุ้นนั้น มีบริษัทโดยอ้อมของเครืออย่าง “โอเพน อินโนเวชั่น”(Open Innovation) ที่เป็นบริษัทลงทุนด้านเทคโนโลยี และดิจิทัล ถือหุ้นใน ‘ลิตเติ้ล จอห์น ดิจิทัล’ สัดส่วน 99.9999%
ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวมีรายนาม ‘คณะกรรมการบริษัท’ ที่เป็นแม่ทัพนายกองของ ‘ไทยเบพ’ ครบครัน! ทั้ง นายอวยชัย ตันทโอภาส ผู้เป็นขุนพลธุรกิจสุราให้กับเจ้าสัวเจริญมาอย่างยาวนาน นายโฆษิต สุขสิงห์ ที่เป็นขุนพลข้างกายเจ้าสัวหนุ่ม ฐาปน และดูแลธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ธุรกิจโลจิสติกส์ รวมถึง ‘เทคโนโลยี-ดิจิทัล’ ด้วย ยังมี นางต้องใจ ธนะชานันท์ ซึ่งดูแลด้านความยั่งยืน นางสาวนันทิกา นิลวรสกุล นายโสภณ ราชรักษา ที่ก้าวเป็น ‘แม่ทัพธุรกิจอาหาร’ ให้กับกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ หมาด ๆ และเป็นการสลับเก้าอี้กับ ‘นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล’ ที่เปลี่ยนจากเคลื่อนธุรกิจอาหาร ไปดูแลธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ นายกฤษฎา วรรธนภาคิน และนายพิพิธ จริยวัฒนวิจิตร
‘ไทยเบฟ’ เป็นอาณาจักรเครื่องดื่มและอาหารที่ใหญ่ มีแบรนด์สินค้ามากมาย โดยงวด 9 เดือน (ปีงบประมาณ ต.ค.-66 ก.ย.67) บริษัททำรายได้จากการขายที่ 217,055 ล้านบาท เติบโตเล็กน้อย 0.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรก่อนหักภาษี (EBITDA) 38,595 ล้านบาท เติบโต 2.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เครื่องดื่มโดยรวมทั้ง เหล้า เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ทำเงินมหาศาล ส่วน ‘อาหาร’ 9 เดือน มีรายได้จากการขาย 15,022 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไรก่อนหักภาษี 1,438 ล้านบาท ลดลง 0.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
พอร์ตโฟลิโออาหารเต็มไปด้วย ‘แบรนด์แกร่ง’ ที่ยืนหนึ่งยาวนานนับสิบปี เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่น โออิชิ แกรนด์ ชาบูชิ ยังมีเสริมทัพด้วยแบรนด์ระดับโลกทั้งไก่ทอดเบอร์ 1 ‘เคเอฟซี’ และร้านกาแฟ ‘สตาร์บัคส์’ ฯ ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่พร้อมต่อจิ๊กซอว์ สร้างการเติบโตในอนาคต
ดังนั้น ภาพใหญ่เครื่องดื่มเป็น ‘หัวใจ’ สำคัญของบริษัท แต่เครื่องดื่มเป็นสินค้าคู่ (Combination) ‘อาหาร’ อยู่เสมอ กินแล้วต้องดื่ม ทำให้บริษัทยังหาช่องเพื่อเบ่งพอร์ตโฟลิโอให้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งครึ่งปีแรก ‘อาหาร’ มีสัดส่วนรายได้เพียง 6.7% เท่านั้น และ ‘กำไรสุทธิ’ เพียง 3.6% สะท้อนว่ายังโตได้อีก!
หากสร้างการเติบโตของไทยเบฟอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ PASSION 2025 ที่จะขยายตลาด สร้างแบรนด์ ‘เข้าถึงผู้บริโภค’ ให้มากขึ้น
หากดีลประวัติศาสตร์รุกคืบเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีอย่าง ‘โรบินฮู้ด’ จะเสริมแกร่งให้กับ ‘ไทยเบฟรอบทิศ’ ไม่ว่าจะเป็นการเสิร์ฟอาหารถึงมือผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันจะสตาร์บัคส์ เคเอฟซี และอื่นๆ ล้วนมีบริการดังกล่าว ซึ่งบางอย่างพึ่งพาพันธมิตร แต่มีบางอย่างที่ทำเองอย่าง โออิชิ
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญสุดหากได้ ‘โรบินฮู้ด’ มาอยู่ใต้เงา ‘ไทยเบฟ’ นั่นคือการได้ ‘คลังแสงข้อมูล’ (Big Data) ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้ออาหารของผู้บริโภค ซื้อเมนูอะไร ราคาต่อบิลเท่าไหร่ ความถี่เป็นอย่างไร ฯ ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์ ต่อยอดการทำตลาด จัดโปรโมชั่นเพื่อ ‘กระตุ้นยอดขาย’ ได้อีกมากโข
ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้ข้อมูลบรรดา ‘หน้าร้านอาหาร’ ต่างๆ ที่จะเป็นอีกหนึ่ง ‘จิ๊กซอว์’ ให้ไทยเบฟ ต่อยอด ‘การขายเครื่องดื่มทุกหมวด’ ไม่ว่าจะเป็นเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
นี่มองแค่การเสริมแกร่งไทยเบฟ ยังไม่นับทั้งอาณาจักร ‘ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น’ หรือทีซีซี กรุ๊ป มองยังไง
เป็นที่ประจักษ์ว่า ‘โรบินฮู้ด’ อยู่ใต้เงา ‘เอสซีบี เอกซ์’ (SCB X) ที่จุดเริ่มต้นอยากช่วยเหลือคนตัวเล็กช่วงวิกฤติโควิด-19 ทว่า การลงสนามฟู้ดเดลิเวอรี หนึ่งในธุรกิจเผาเงิน เพื่อแลกกับผู้บริโภคมาใช้แพลตฟอร์มไม่ได้แจ้งเกิดง่ายๆ ยิ่งต้องกลืนเลือด 5,000 กว่าล้านบาท ใน 4 ปี จะกัดฟันฝืนขาดทุนต่อ ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะไม่ต่อยอดธุรกิจหลัก (Core business)
เมื่อ ‘เอสซีบี เอ็กซ์’ จะทิ้ง ‘โรบินฮู้ด’ สร้างมาแล้วไม่สูญเปล่า นายทุนใหญ่ต้องการรับช่วงต่อ ได้เม็ดเงินมา ‘บรรเทาบาดแผลธุรกิจ’ ได้ไม่มากก็น้อย ส่วนทุนใหม่รับศักยภาพจากดีลนี้ คือการได้ยอดลูกค้าที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไม่น้อยเพราะมีจำนวน ‘นับล้านราย’ ร้านค้าบนแพลตฟอร์มที่พร้อมเสิร์ฟลูกค้า ‘ร่วมแสนราย’ เหล่า ‘ไรเดอร์’ อีกนับ ‘หมื่นชีวิต’
แบรนด์ ‘โรบินฮู้ด’ ติดตลาดแจ้งเกิดแล้ว และภาพลักษณ์แบรนด์ถือว่าครองใจผู้บริโภค คนใช้งานอย่างดี เมื่อมีทุนมาใส่เงินต่อ การ ‘ลุกขึ้นเดิน-วิ่ง’ สู้ต่ออีกครั้งย่อมไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ยิ่งถ้าอยู่ภายใต้ ‘ไทยเบฟ’ รับรองว่า ‘สงครามฟู้ดเดลิเวอรี่’ 8.6 หมื่นล้านบาท เดือด!!
ในแวดวงธุรกิจ จะเห็น ‘ไทยเบฟ’ เดินทางลัด ‘ซื้อและควบรวมกิจการ’ (M&A) อยู่เป็นนิจ เพราะมีเงิน มันสมอง(ขุนพลนายกอง) พร้อมต่อยอดสิ่งที่ซื้อมาให้เติบโต และซีนเนอร์ยี ทั้งอาณาจักรแสนล้านบาทได้
เห็นการซื้อกิจการบ่อย ๆ ของไทยเบฟ และล้วนเป็นบิ๊กดีลระดับ ‘หมื่นล้าน-แสนล้านบาท’ แทบทั้งสิ้น
ปัจจุบันไทยเบฟมีภาระหนี้ทั้งจากกู้เงินธนาคาร หุ้นกู้ ที่จะครบกำหนดชำระ เช่น 5 ปี และอื่นๆ รวมมูลค่า 209,044 ล้านบาท (ณ สิ้นมิ.ย.67) แต่กระนั้น อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน หรือ Interest Bearing Debt to Equity Ratio อยู่ในระดับต่ำ 0.68% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ระดับ 0.65% สะท้อนฐานะทางการเงินขององค์กรแกร่ง
อย่างไรก็ตาม แม้ ‘ไทยเบฟ’ จะมีชื่ออยู่ในโผผู้สนใจเจรจา ‘โรบินฮู้ด’ แต่ดีลนี้ ยังไม่ใช่!สำหรับยักษ์เครื่องดื่มและอาหาร เพราะรายงานข่าวระบุว่า ‘รายอื่น’ คือผู้คว้า ‘โรบินฮู้ด’ ไปต่อยอดธุรกิจเรียบร้อยแล้ว