ตรวจพบ DNA ‘ปลาหมอสีคางดำ’ เอี่ยวเอกชนรายใหญ่นำเข้าเมื่อปี 2553 โป๊ะ!! มีการขออนุญาตนำเข้า แต่หลุดระเบียบความปลอดภัยทางชีวภาพ
(10 ก.ค.67) จากเพจ 'BIOTHAI' ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกรณีปลาหมอสีคางดำที่กำลังระบาดในไทย ระบุว่า...
มีความพยายามจากบุคคลบางกลุ่ม เพื่อบิดเบือน เบี่ยงเบน ปัดความรับผิดชอบ โดยปล่อยเอกสารผ่านสื่อ อ้างว่าปลาหมอสีคางดำ (Sarotherodon melanotheron) ที่ระบาดเพราะมีการนำเข้าจากกลุ่มเพาะเลี้ยงปลาหมอสีสวยงาม (โดยอ้างสถิติการส่งออกปลาหมอสี ซึ่งเป็นคนละสปีชีส์ และไม่ใช่เอเลี่ยนสปีชีส์เดียวกับที่บริษัทเอกชนรายใหญ่นำเข้าในปี 2553 แถมดันเอาสถิติการส่งออกปี 2556-2559 มาโชว์)
แต่ผลการวิเคราะห์ DNA จากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์กรมประมง ทำให้บริษัทเอกชนที่ละเมิดระเบียบความปลอดภัยทางชีวภาพ ไม่อาจหลบเลี่ยงความรับผิดชอบจากปัญหาที่เกิดขึ้นได้อีกต่อไป
การศึกษาเรื่อง 'การวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในเขตพื้นที่ชายฝั่งของไทยจากโครงสร้างพันธุกรรมของประชากร' โดย อภิรดี และคณะ (2565) กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด พบว่าประชากรปลาหมอสีคางดำที่แพร่ระบาดในประเทศไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน และความแตกต่างระหว่างกลุ่ม haplotype อยู่ในระดับการเปลี่ยนแปลงเพียง 1-2 ลำดับเบสเท่านั้น ซึ่งสามารถอธิบายความแตกต่างทางพันธุกรรมของประชากรแต่ละจังหวัดไว้ว่า น่าจะเกิดจากกลไกของจีเนติกดริฟท์ หรือความคลาดเคลื่อนจากการสุ่มตัวอย่าง ซึ่งเกิดจากปลาที่นำไปปล่อย มากกว่าเกิดจากการนำเข้าหลายครั้ง (multiple introduction)
ดังนั้น "การศึกษาครั้งนี้ช่วยยืนยันที่มาของการแพร่ระบาด โดยข้อมูลระยะห่างทางพันธุศาสตร์ และการจัดลำดับความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการ ชี้ให้เห็นว่าประชากรปลาหมอสีคางดำที่แพร่ระบาดในประเทศไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน"
หมายเหตุ : ขอบคุณทีมนักวิจัย กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ของกรมประมงมาก ๆ ครับ อย่าลืมสรุปและส่งรายงานวิจัยนี้ให้ท่านอธิบดีอ่านโดยด่วนด้วยครับ
ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดรายงานศึกษาได้ที่ https://www4.fisheries.go.th/local/file_document/20221018152857_1_file.pdf
ที่มา: https://www.facebook.com/share/p/FN8ocvY4YGTJvkEM/?mibextid=oFDknk