‘ท่องเที่ยวเกาหลีใต้’ ร้องรัฐฯ ทบทวนมาตรการคัดกรอง นทท. หลังยอด ‘นักท่องเที่ยวไทยตัวจริง’ ลดฮวบ แต่ ‘ผีน้อย’ กระฉูด

(27 มิ.ย.67) ทางเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดอะโคเรียไทมส์ รายงานอ้างการเปิดเผยของกระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 67 ว่า คนไทย ครองสัดส่วนอันดับ 1 ผู้ที่พำนักอาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมาย หรือ ผีน้อย

ข้อมูลถึงช่วงปลายเดือน พ.ค. มีถึง 145,810 คน คิดเป็น 35.1% แซงหน้าผีน้อยจากประเทศเวียดนาม 79,366 ราย, จีน 64,151 ราย, ฟิลิปปินส์ 13,740 ราย, อินโดนีเซีย 12,172 ราย, กัมพูชา 10,681 ราย

ทำให้ระบบตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดของเกาหลีใต้ ทางออนไลน์ K-ETA ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวไทยลดลงมากในปีนี้

จากข้อมูลเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 มีนักเดินทางชาวไทยเพียง 119,000 คน ลดลงถึง 21.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

กระทรวงยุติธรรม หน่วยงานที่พิจารณาคำขอของระบบ K-ETA ไม่ได้เปิดเผยเหตุผลที่ปฏิเสธคำขอการเดินทางเข้าเกาหลีใต้ แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมยืนยันว่าใช้หลักเกณฑ์เดียวกันหมดกับทุกประเทศ

การท่องเที่ยวเกาหลีใต้ จึงได้ร้องขอให้กระทรวงยุติธรรม ยกเว้นประเทศไทยไม่ต้องขอ K-ETA ชั่วคราวไปจนถึงสิ้นปี 2567 เนื่องจากมีเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ 20 ล้านคนในปีนี้

กระทรวงยุติธรรมเปิดเผยกับสำนักข่าวยอนฮับว่า จำเป็นต้องใช้แนวทางที่ระมัดระวัง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวอาจส่งผลให้จำนวนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ช่วงเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว กระทรวงยุติธรรมได้กล่าวปกป้องระบบคัดกรองคนเข้าเมืองนี้ โดยระบุว่ามีคนไทยมากถึง 78% ที่พำนักอยู่ในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย เป็นหน้าที่โดยชอบธรรม ของกระทรวงยุติธรรมที่จะลดจำนวนผู้ลักลอบอาศัยอย่างผิดกฎหมาย

ทางด้าน อริญชยา เลิศวัฒนชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาดองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี KTO (Korea Tourism Organization) กล่าวว่า ปัจจุบันเทรนด์การท่องเที่ยวเกาหลีของนักท่องเที่ยวไทยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการซื้อแพ็กเกจทัวร์ เป็นการวางแผนเดินทางด้วยตนเอง

"ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย คือ นักท่องเที่ยวไทย ไม่ผ่าน ตม. ขณะที่ ผีน้อยไทย ผ่าน นักท่องเที่ยวไทยจึงลดจำนวนลงเรื่อย ๆ เพราะไม่อยากเสี่ยงถูกส่งกลับ และหาสาเหตุไม่ได้ว่า ทำไมตัวเองถึงไม่ผ่าน ไม่ได้เข้าประเทศ"

ผู้จัดการฝ่ายการตลาด องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี กล่าวเสริมว่า “เราได้ส่งคอมเมนต์ไปทางเกาหลีที่สำนักงานใหญ่ ว่า อยากให้ปรับปรุงระบบของ K-ETA ในการคัดกรองนักท่องเที่ยวให้ดีขึ้น เพราะมีประเด็นว่า นักท่องเที่ยวจริง พอยื่นแล้วเข้าไม่ได้ หรือขอ K-ETA ไม่ผ่าน เราก็ทำเรื่องไปที่สำนักงานใหญ่ให้เขาช่วยคุยกับหน่วยงานนี้หน่อย ให้คัดกรองให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเราก็ทำได้แค่นี้"

มีคนกล่าวว่า “ผีน้อยที่ผ่าน อาจเพราะมีเอเจนซี่ มีการสอนมาอย่างดี ขณะที่นักท่องเที่ยว คิดว่าตัวเองเป็นนักท่องเที่ยว ก็แค่ถ่ายรูปพาสปอร์ตลงไป รูปไม่สวยบ้าง ไม่ตรงปกบ้าง”

"ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวบางคนขอ K-ETA แล้วไม่ผ่าน ก็ท้อใจ บอกว่าเกาหลีเข้ายาก ไม่ไปเกาหลีดีกว่า”

“ซึ่งการตรวจคัดกรองของเขาควรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตม. ก็เช่นกัน ควรตรวจคัดกรองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราไม่สามารถไปแก้ไขมาตรการต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเราเอง เพราะการคัดกรองเข้าประเทศ มันเป็นสิทธิ์ของแต่ละประเทศอยู่แล้ว สิ่งที่เราทำได้ คือ เสนอเขาไป”


ที่มา: Bangkokbiznews