รู้จัก Uptick Rules ที่จะใช้กับตลาดหุ้น 1 ก.ค.นี้ ช่วยให้หุ้นไทยไม่ถูกเทขายได้จริงไหม?
ในที่สุดบ้านเราก็มีความชัดเจนมากขึ้นในการจะนำเอากฎ ‘Uptick Rule’ มาใช้กับตลาดหุ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นี้ค่ะ
‘Uptick Rule’ เป็นกฎเกณฑ์การซื้อขายหุ้นที่กำหนดว่า นักลงทุนสามารถขายชอร์ตหุ้นได้ก็ต่อเมื่อราคาเสนอซื้อ (Bid price) สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งล่าสุด (ขายชอร์ต คือการทำกำไรในขาลง เช่น ถ้าเรามองว่าหุ้น A จะลง ให้เราขายชอร์ตที่ราคาปัจจุบัน สมมติให้ราคาปัจจุบันคือ 10 บาท และต่อมาหุ้น A ลงไปอยู่ที่ 7 บาท เราก็จะได้กำไรส่วนต่างเท่ากับ (10-7)*จำนวนหุ้น) ซึ่งปัจจุบันการขายชอร์ตจะเป็นการขายชอร์ตได้ที่ราคาเท่ากันหรือสูงกว่า หรือเราเรียกวิธีนี้ว่า Zero-plus Tick ค่ะ
ส่วนผู้ดูแลสภาพคล่อง หรือ Market Maker ที่ต้องขึ้นทะเบียนกับทาง ตลท. เท่านั้นที่จะยังสามารถส่งคำสั่ง Short เป็น Zero-plus Tick หรือราคาเท่ากับหรือสูงกว่าราคาสูงกว่าได้
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ อย่างเช่น จากเดิมหากเราต้องการขายชอร์ตหุ้น A ที่ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 10 บาท ถ้านำเอากฎ Uptick Rule มาใช้เราจะไม่สามารถตั้งขายที่ราคา 10 บาทได้ แต่ต้องไปตั้งรอคิวที่ราคา 10.10 ขึ้นไปค่ะ
รวมถึงยังจะมีมาตรการกำกับดูแลพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการซื้อขายหุ้น เปิดเผยรายชื่อนักลงทุนที่ส่งคำสั่งที่ไม่เหมาะสม และในไตรมาส 4 จะมีการนำเอาการกำหนดเวลาขั้นต่ำก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่งซื้อได้ การหยุดเทรดชั่วคราวหากมีคำสั่งที่ไม่ปกติ รวมถึงยกระดับการตรวจสอบด้วยค่ะ
การทำแบบนี้จะเป็นการลดแรงกดดันในการเทขายหุ้นเพราะก่อนหน้านี้เวลาที่หุ้นตัวไหนมีการขายจำนวนมาก ระบบ Algorithmic Trading หรือโปรแกรมเทรดจะทำการขายตามทันที ทำให้ราคาหุ้นตัวนั้นลงเร็วและแรงค่ะ
การนำกฎ Uptick Rule มาใช้จะช่วยเรื่องความผันผวนในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง และเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนว่าหุ้นที่เขามีจะไม่โดนการทุบราคาอย่างรุนแรง แต่ก็ต้องแลกมากับสภาพคล่องที่จะหายไปด้วยค่ะ เพราะคนที่จะเข้ามาขายชอร์ตเพื่อเพิ่มสภาพคล่องก็จะทำได้ยากขึ้นด้วยค่ะ
ส่วน Uptick Rule จะช่วยให้หุ้นไทยไม่ถูกเทขายได้จริงไหม เราคงต้องมาดูว่าแรงขายที่เกิดในหุ้นตัวนั้น ๆ เกิดจากการเก็งกำไรหรือเป็นขายหุ้นเพราะปัจจัยพื้นฐานในหุ้นตัวนั้นที่เปลี่ยนแปลงไปค่ะ เพราะถึงแม้ว่าถ้าเอากฎ Uptick Rule มาใช้แต่แนวโน้มธุรกิจหรือเศรษฐกิจไม่ดี นักลงทุนก็ยังคงจะขายหุ้นตัวนั้นอยู่ดีค่ะ
สุดท้ายแล้วถ้าตลาดหุ้นไทยยังไม่มีปัจจัยบวก เศรษฐกิจยังไม่โต GDP ยังถูกปรับลด และยังคงมีความไม่แน่นอนทางการเมือง ตลาดหุ้นไทยก็จะยังไม่มีปัจจัยบวกอะไรที่จะสามารถดึงเงินนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติให้กลับเข้ามาลงทุน Fund Flow ต่างชาติก็ยังไม่กลับมาค่ะ เพราะท้ายที่สุดแล้วการลงทุนในหุ้นก็จำเป็นต้องนำเอาปัจจัยพื้นฐานเข้ามาพิจารณาประกอบด้วยเสมอค่ะ
เรื่อง: อรวดี ศิริผดุงธรรม, IP