วุฒิสภามีมติ 130 ต่อ 4 ไฟเขียว 'สมรสเท่าเทียม' มีผล 120 วันหลังประกาศราชกิจจานุเบกษา

(18 มิ.ย.67) การประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ มีวาระสำคัญ นั่นคือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
.
ผลปรากฏว่า มติที่ประชุม 130ต่อ 4เสียง ให้ความ “เห็นชอบ” เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยมีผู้งดออกเสียง18เสียง โดยกฎหมายฉบับดังกล่าว จะมีผลใช้บังคับหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน หรือประมาณช่วงปลายปีนี้ ทำให้ประเทศไทยจะถือเป็น ‘ประเทศแรก’ ในอาเซียนที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเป็นประเทศที่สามของเอเชีย ต่อจากไต้หวัน และเนปาล 

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะถูกส่งไปยัง คณะรัฐมนตรี(ครม.) จากนั้นนายกฯ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยความเห็นของสมาชิก อาทิ สว.คำนูณ สิทธิสมาน ในฐานะโฆษกคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นมิติใหม่ของสังคมไทย โดยเป็นกฎหมายที่มีความเป็นมาที่ต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 10 ปีจากกลุ่มบุคคลที่เราอาจไม่ได้สัมผัสกับเขาโดยตรง 

“ที่ผ่านมามีความพยายามจากสื่อมวลชนที่จะมาถามถึงความเห็นของวุฒิสภาว่ามีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร ตนได้ตอบไปว่า ไม่มีเหตุผลที่จะไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

“ขณะเดียวกันร่างกฎหมายที่เสนอเข้าสภา มีร่างหนึ่งที่เสนอจากภาคประชาชนโดยตรง ขณะที่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีเสียงคัดค้านแม้แต่เสียงเดียว ทั้งนี้แม้กระบวนการตามกฎหมายจะระบุให้วุฒิสภาแปรญัตติได้อย่างกว้างขวาง แต่ที่ผ่านมาวุฒิสภาก็ให้เกียรติในประเด็นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นสำคัญ

“ในวาระแรกวุฒิสภา ก็ได้รับหลักการร่างที่ผ่านความเห็นจากสภาผู้แทนราษฎร ฉะนั้นการจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้หลักการของสภาผู้แทนราษฎรมีหลักการที่ถูกแก้ไขก็อาจจะกระทบกระเทือนกฎหมายทั้งฉบับ และอาจมีผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายในอนาคตหลังจากนี้ต่อไปวินาทีนี้เป็นวินาทีประวัติศาสตร์ว่าเขาจะบันทึกการทำงานของเราไว้อย่างไร การลงมติครั้งนี้แม้จะเป็นการลงมติกฎหมายฉบับหนึ่งแต่จะถือเป็นการลงมติในวินาทีประวัติศาสตร์จึงขอให้สมาชิกทุกท่านใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ”

สำหรับประเด็นสำคัญในกฎหมายฉบับดังกล่าว ระบุให้ ‘บุคคลสองคน’ (ทุกเพศ) สมรสกันได้ รวมทั้งได้รับสิทธิ อาทิ...

>> สิทธิรับรองการหมั้น/สมรสทุกเพศ เมื่ออายุ 18 ปี

การหมั้น จะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว และการหมั้นจะสมบูรณ์ได้ เมื่อฝ่ายผู้หมั้นได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่ผู้รับหมั้น เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับผู้รับหมั้นนั้น

อนึ่งเมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้รับหมั้น

สำหรับ สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายผู้หมั้นให้แก่ บิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายผู้รับหมั้น แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่ผู้รับหมั้นยอมสมรส

ส่วนกรณี การสมรส จะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้วเช่นเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

เว้นแต่การสมรสกับบุคคลวิกลจริต คนที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือบุคคลสองคนซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี และบุคคลที่ทำการสมรสขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่

>> คู่สมรสจัดการทรัพย์สินสมรสร่วมกัน
สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่คู่สมรสได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นคู่สมรสกันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นคู่สมรสกันอยู่หรือภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นคู่สมรสกันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก ผู้ทำการโดยสุจริต โดยทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส นอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัว ย่อมเป็นสินสมรส

สินสมรส ใดที่มีเอกสารเป็นสำคัญ คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมกันในเอกสารนั้นก็ได้

>> คู่สมรสต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน

(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

ทั้งนี้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสิทธิในการ ‘หย่า’ เมื่อได้จดทะเบียนสมรสแล้ว การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ได้ เมื่อคู่สมรสได้จดทะเบียนหย่า โดยเหตุฟ้องหย่า 10 กรณีอีกด้วย


ที่มา: Bangkokbiznews