รู้จัก!! อาจารย์ ‘ตั๋ง’ แห่งโรงเรียนอมาตยกุล เจ้าตำรับ ‘นีโอ-ฮิวแมนนิสต์’ ตัวจริงของไทย

จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน FB ของผู้ปกครองที่เป็น Blogger เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก ได้โพสต์ข้อความที่เกี่ยวกับอาจารย์ ‘ตั๋ง’ (รศ.ดร.เกียรติวรรณ อมาตยกุล) และโรงเรียนอมาตยกุล จนกลายเป็นประเด็นดรามาขึ้น ทำให้มีผู้ข้องใจสงสัยในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอาจารย์ ‘ตั๋ง’ และโรงเรียนอมาตยกุล ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นลูกศิษย์ของท่าน จึงขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับตัวท่านและสิ่งที่ท่านสอนมาบอกเล่าให้สังคมได้รับทราบ

อาจารย์ ‘ตั๋ง’ (รศ.ดร.เกียรติวรรณ อมาตยกุล) เคยเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งเกษียณอายุ สำหรับ ‘โรงเรียนอมาตยกุล’ นั้น อาจารย์ ‘ตั๋ง’ และ คุณครู ‘กบ’ ภรรยาได้ร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนนี้ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2535 นานกว่า 40 ปีแล้ว โดยนำแนวคิด ‘นีโอ-ฮิวแมนนิสต์’ (Neo-Humanist) มาเป็นหลักสูตรในการสอน

แนวคิด ‘นีโอ-ฮิวแมนนิสต์’ เป็นแนวคิดทฤษฎีที่มีความเชื่อเกี่ยวกับมนุษย์ว่า มนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิตที่มีพัฒนาการสูงที่สุด พื้นฐานจิตใจของมนุษย์นั้น มีความดีงาม มีคุณค่า ใฝ่รู้มีความต้องการจากภายในที่จะพัฒนาตนเองไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การพัฒนาคนตามแนว ‘นีโอ-ฮิวแมนนิสต์’ จึงจะต้อง ช่วยพัฒนาศักยภาพแฝงเร้นที่มีอยู่ในตัวคนเราให้แสดงออกมาได้อย่างสูงสุดด้วย การทำให้ คนเราโดยเฉพาะในเด็ก ๆ ให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self Esteem) และการเข้าสู่สภาวะ คลื่นสมองต่ำ ในสภาวะนี้เองคนเราจะสามารถใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ 

หลักสูตร ‘นีโอ-ฮิวแมนนิสต์’ เน้นสอนให้ผู้เรียนได้รู้จักคิด และรู้จักการปฏิบัติตนต่อเพื่อนรอบตัวด้วยความเมตตา ความมีน้ำใจ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข เป็นการพัฒนาคนแนวใหม่ด้วยวิธีการด้านบวก เพื่อที่จะพัฒนาคนให้สมบูรณ์ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การพัฒนาคนตามแนวคิด ‘นีโอ-ฮิวแมนนิสต์’ จึงเป็นการพัฒนาในทุก ๆ ด้านของคนเราให้กลายเป็นคนที่พึ่งตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งมีลักษณะดังนี้...

- Physically Fit มีร่างกายที่แข็งแรง 
- Mentally Strong มีจิตใจที่มั่นคง เปิดกว้าง เฉลียวฉลาด 
- Spiritual Elevated มีจิตสาธารณะ 
- Academic Knowledge มีความรู้ที่จะนำไปประกอบอาชีพตามที่ตัวเองถนัดและต้องการได้

สำหรับการพัฒนาตามหลัก ‘นีโอ-ฮิวแมนนิสต์’ นั้นจะต้อง...
1. มีบรรยากาศที่สงบและเป็นมิตร เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ผ่อนคลาย สงบ และปลอดภัย เพราะหลักสูตรนี้เชื่อว่าสภาวะที่เต็มไปด้วยความกดดันและความตึงเครียด ส่งผลต่อคลื่นสมอง ทำให้ไม่มีสมาธิและขาดความกระตือรือร้นต่อการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ดังนั้น ถ้าสภาพแวดล้อมเป็นมิตร เต็มไปด้วยความสุข เสียงเพลง เสียงหัวเราะ แล้วย่อมเกิดการเรียนรู้ที่ดีกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่า

2. เน้นการพัฒนาเซลล์ประสานประสาท (Synapses) เพราะเซลล์ประสาท เป็นตัวเชื่อมระหว่างเซลล์สมอง ยิ่งมีเซลล์เหล่านี้มากเท่าไหร่ สมองจะยิ่งทำงานได้ดีขึ้น ส่งผลให้เรียนรู้ได้เร็ว มีความจำดี สมาธิดี และมีไหวพริบแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้พัฒนาการการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปแบบก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน ซึ่งกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นการพัฒนาเซลล์ประสาท อาทิ โยคะ การเต้นรำ กีฬายิมนาสติก ฯลฯ

3. เน้นการให้ความรัก การมอบความรักและกำลังใจเชิงบวก คือหัวใจหลักของหลักสูตรนี้ เพราะการที่ได้รับคำชม คำพูดให้กำลังใจ ความเข้าใจ การให้อภัย การกอด และความรักอย่างเต็มที่ จะช่วยให้หัวใจอ่อนโยน และมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ซึ่งหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและความสุขนี้จะช่วยให้เติบโตขึ้นด้วยความงดงามอย่างแน่นอน

4. ปลูกฝังจิตสำนึกเชิงบวก หลักสูตรนี้เน้นปลูกจิตสำนึกเชิงบวกตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อให้มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น มองโลกในแง่ดี และให้เคารพผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น เมื่อเติบโตขึ้น จะเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักคิด รู้จักทำ อ่อนน้อมถ่อมตน และพร้อมช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความหวังดีจากหัวใจ

สิ่งที่จะได้รับการเรียนตามหลักสูตร ‘นีโอ-ฮิวแมนนิสต์’ ได้แก่ ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ), ความฉลาดทางศีลธรรม (MQ) และความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) ควบคู่กันไป ทำให้มีความสุขกับชีวิตจากเรื่องง่าย ๆ รู้สึกดีกับตัวเอง รู้สึกภาคภูมิใจ เชื่อมั่นใจตัวเอง อารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส กล้าคิด กล้าพูด และกล้าแสดงออก เพราะได้รับความรักจากทั้งครูและคุณพ่อคุณแม่อย่างเต็มที่ พร้อมกันนั้นก็มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อทั้งเพื่อนมนุษย์ สัตว์ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ พร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งรอบข้างได้อย่างกลมกลืน และกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด

หลายปีมาแล้วที่อาจารย์ ‘ตั๋ง’ ใช้แนวคิด ‘นีโอ-ฮิวแมนนิสต์’ ในการสอนลูกศิษย์ทุกคน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนกระทั่งปริญญาเอก ผู้เขียนมีโอกาสเรียนรู้ใกล้ชิดกับอาจารย์ ‘ตั๋ง’ หลายปี เพราะอาจารย์ ‘ตั๋ง’ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์ของผู้เขียนด้วย ในช่วงหลายปีนั้นผู้เขียนไม่เคยเห็นอาจารย์ ‘ตั๋ง’ ตำหนิว่ากล่าวให้ร้ายใครเลยแม้แต่คนเดียว โดยเรื่องราวด้านลบที่อาจารย์ ‘ตั๋ง’ ยกมาเป็นตัวอย่างก็จะเป็นเรื่องราวที่ผ่านมาของตัวอาจารย์เอง 

ก่อนที่จะรับเอาแนวคิด ‘นีโอ-ฮิวแมนนิสต์’ มาปฏิบัติและสอนลูกศิษย์ จึงขอบอกเล่าเรื่องราวของอาจารย์ ‘ตั๋ง’ โรงเรียนอมาตยกุล และแนวคิด ‘นีโอ-ฮิวแมนนิสต์’ เพื่อให้เป็นที่เข้าใจของสังคมต่อไป


เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES