‘แฟนพันธุ์แท้วัดไทย’ พาเที่ยว ‘วัดโพธิ์’ ชี้!! นี่คือ ‘เรเนซองส์ของสยาม’

(15 มิ.ย.67) ที่บริเวณมิวเซียมใต้ดิน รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสนามไชย เขตพระนคร กรุงเทพฯ ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง พร้อมด้วยพันธมิตร จัดกิจกรรม ‘Happy Journey with BEM มรดกสยาม 3 สมัย’ ระหว่างวันที่ 14-16 มิถุนายนนี้

โดยหนึ่งในกิจกรรมไฮไลต์ของงาน ได้แก่ ‘History Trip ชมวัดโพธิ์โสภาสถาพร’ เลียบเจ้าพระยาชมวัด-วัง ซึ่งเส้นทางทริปเดินทางเยี่ยมชมสถานที่สำคัญจาก รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) สถานีสนามไชยมายังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร นำชมโดย ดร.ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล หรือ ต้า แฟนพันธุ์แท้วัดไทย

เวลา 08.45 น. บรรยากาศของกิจกรรมเริ่มต้นในช่วงเช้า มีประชาชนเดินทางหลั่งไหลมาจุดลงทะเบียนบริเวณมิวเซียมใต้ดิน ทั้งผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมมาล่วงหน้า และผู้เดินทางมาร่วมกิจกรรมแบบวอล์กอินจำนวนมาก ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จัดคิวตามลำดับ

เวลา 09.30 น. ผู้เข้ากิจกรรมเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) สถานีสนามไชย มุ่งหน้าไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เพื่อเยี่ยมชมสถานที่สำคัญและรับฟังเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์

ในตอนหนึ่ง ดร.ธนภัทร์กล่าวว่า วัดโพธิ์เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่ยุคปลายกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 1 โดยได้รับการซ่อมของเดิมเพื่อให้ใช้งานได้ และสร้างของใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา รวมถึงการบูรณะครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 3

“งานช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 มีความเป็นจีนสูง เนื่องจากเราเคยค้าขายกับจีนมาก่อน เห็นได้จากตุ๊กตาจีนที่เรามักจะเรียกว่า ‘อับเฉา’ ด้วยความเข้าใจว่าสิ่งนี้คือสิ่งถ่วงเรือ แต่จากการตรวจสอบหลักฐานปัจจุบันพบว่า ของเหล่านี้เป็นของตั้งใจไปซื้อมาเพื่อประดับวัด เพราะซื้อมาง่ายกว่าการสร้างใหม่ ง่ายกว่าการมาแกะสลักใหม่ ซึ่งก็สวยงามเหมือนกัน” ดร.ธนภัทร์กล่าว

ดร.ธนภัทร์กล่าวว่า หลายคนจะเรียกว่าวัดโพธิ์ ว่าคือ ‘มหาวิทยาลัยแห่งแรก’ แต่ส่วนตัวแล้วตนจะเรียกว่า ‘หอสมุดแห่งแรก’ มากกว่า เพราะว่าสมัยก่อนไม่ใช่ว่าทุกคนจะอ่านหนังสือออก เราไม่ได้มีโรงเรียนสอนหนังสือกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะแบบในปัจจุบัน คนไทยสมัยก่อนแค่พออ่านออกเขียนได้

“ถ้าใครเคยอ่านเอกสารโบราณ หรือ จารึก จะเห็นว่าคำเดียวกันมีการสะกดไม่เหมือนกัน เช่น คำว่า ‘ศาสนา’ แต่ในบางจารึกเขียนว่า ‘สาสนา’ ขอแค่เสียงตรงกันบางทีเขาไม่ได้สนใจพยัญชนะด้วยซ้ำ ดังนั้น จารึกวัดโพธิ์ไม่ใช่ว่าทุกคนจะอ่านออก ซึ่งวัดโพธิ์มีการจัดจารึกหลายเรื่องมาก ไม่ใช่ว่าจะเอาจารึกมาจัดวางตรงไหนก็ได้ รวมถึงจารึกในวิหารต่างๆ โคลงกลอน ตำรายา รวมถึงการเขียนถึงเมืองในประเทศราชด้วย” ดร.ธนภัทร์กล่าว

ดร.ธนภัทร์กล่าวว่า ‘วัดโพธิ์’ เป็นเหมือนการรวมความรู้ทุกอย่างที่คนในสมัยรัชกาลที่ 3 รู้ ถูกจารึกไว้ที่นี่ทั้งหมด มันเหมือนการสังคายนาพระไตรปิฎก แต่อันนี้เป็นการสังคายนาความรู้ อารมณ์เหมือนเป็นเรเนซองส์ของสยาม

“ส่วนตัวผมถ้าเราจะเรียกว่ายุคไหนว่าเป็นเรเนซองส์ของกรุงเทพ หรือ ไทย ผมจะเรียกยุคนี้ เพราะความรู้ทั้งหมดที่รู้มาตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา จนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ถูกสังคายนาใหม่และทำให้ถาวร เพราะเอกสารสมัยก่อนเราทำด้วยกระดาษ แน่นอน พอผ่านกาลเวลาไปดูแลไม่ดี ไฟไหม้ น้ำท่วม มีความชื้น กระดาษพวกนั้นจะหายไปก่อน พวกนี้ไม่ พวกนี้ทนกว่าเยอะ เพราะฉะนั้นจารึกจึงเป็นหลักฐานยืนยันว่าในสมัย ร.3 เรารู้เรื่องเหล่านี้” ดร.ธนภัทร์ระบุ

จากนั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเข้ากราบสักการบูชาพระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร และพระพุทธไสยาสน์ หรือ พระนอน รวมถึงเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ (วังหน้าพระลาน), อาคารนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตึกถาวรวัตถุ) และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เป็นต้น

ทั้งนี้ งานมรดกสยาม 3 สมัย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 มิถุนายนนี้ เวลา 09.00-20.00 น. ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผู้สนใจสามารถเดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า MRT สถานีสนามไชย ทางออกที่ 1 จากนั้นขึ้นรถอีวี มาต่อ บริการฟรี ตั้งแต่เวลา 11.00 – 20.30 น. ระหว่าง MRT สถานีสนามไชย – พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ไม่เสียค่าใช้จ่าย