รู้จัก NEDA บทบาท 'ไทย' ช่วยเหลือการเงิน-วิชาการ 'เพื่อนบ้าน' ภายใต้สายเชื่อมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แบบ 'ช่วยเขา-ช่วยเรา'

จากรายการ THE TOMORROW มหาชน ต้องรู้ ได้พูดคุยกับนายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency) หรือ NEDA ถึงความเป็นมา พันธกิจ วิสัยทัศน์ขององค์กร โดยนายพีรเมศร์ กล่าวว่า...

NEDA ก่อตั้งมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ก่อนมีลักษณะเป็นกองทุนอยู่ภายใต้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง หลังจากนั้นหน่วยงานรัฐเริ่มเห็นความสำคัญว่าประเทศไทยควรมีบทบาทในการเป็นผู้นำพัฒนาอนุภูมิภาค เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศไทยอยู่ตรงกลางของอาเซียน จึงมีความจำเป็นในการช่วยเหลือสมาชิกใหม่ของอาเซียนให้มีส่วนร่วมมากขึ้น โดยให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ในรูปแบบให้เงินกู้รัฐบาลต่อรัฐบาล เพื่อนำเงินกู้นั้นไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงต่อกันในภูมิภาค ปัจจุบันช่วยเหลือไป 7 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม, ภูฏาน, ศรีลังกา และติมอร์-เลสเต ซึ่งคำว่าเพื่อนบ้านไม่ได้หมายถึงต้องมีพรมแดนติดกันเท่านั้น อาจมีวัฒนธรรมความเป็นอยู่คล้ายกัน หลัก ๆ อยู่ในภูมิภาคเอเชีย 

แล้วประเทศไทยได้ประโยชน์อะไร? นายพีรเมศร์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับประโยชน์มากมาย ได้แก่ สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาค ส่งเสริมผู้ประกอบการไทย เนื่องจากมีเงื่อนไขว่า ประเทศที่กู้เงินลงทุนต้องคัดเลือกผู้ประกอบการที่มาจากประเทศไทย อย่างน้อย 51% โดยผู้ให้บริการหลักต้องมาจากประเทศไทย จึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาค 

ส่วนการดำเนินงานที่ผ่านมา 19 ปี NEDA ได้ปล่อยเงินกู้ประเทศเพื่อนบ้านไปแล้ว กว่า 20,000 ล้านบาท ส่วนการพิจารณาลงทุนหรือการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน จะต้องเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศ โดยมีการศึกษารวมถึงหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาล ก่อนอนุมัติโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของทั้งสองประเทศ 

โครงการที่สนับสนุนส่วนใหญ่จะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม การประปา และการพัฒนาเมือง กำจัดขยะ เป็นต้น และในอนาคตอาจสนับสนุนการลงทุนในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีหลายโครงการที่โดดเด่น เช่น โครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา-บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง) สปป.ลาว ซึ่งรัฐบาลไทยผ่าน NEDA ได้ให้เงินกู้ สปป. ลาว จำนวน 1,977 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว โดยมีจุดเริ่มต้นที่บริเวณบ้านนาปุง เมืองหงสา แขวงไชยะบุรี สิ้นสุดที่บ้านเชียงแมน เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง ระยะทาง 114 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อก่อนเป็นถนนทางลูกรังทางเป็นหลุมเป็นบ่อ ใช้เวลาก่อสร้างเกือบ 3 ปี จึงแล้วเสร็จ ปัจจุบันใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้นก็ถึงที่หมาย จากการพัฒนาเส้นทางนี้ทำให้การท่องเที่ยวขยายตัวมากขึ้นเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว 

ส่วนโครงการสถานีรถไฟเวียงจันทน์บ้านคำสะหวาด เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างทางรถไฟไทย-ลาว ระยะที่ 2 (สายท่านาแล้งเวียงจันทน์) ส่วนที่ 2 สถานีรถไฟนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA พึ่งสร้างเสร็จไปเมื่อปีที่แล้ว ทำให้การเชื่อมโยงทางรางสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทดลองเดินรถและคาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างและพัฒนาระบบประปา 5 เมืองในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งได้สร้างโรงบำบัดน้ำประปาและดำเนินการต่อท่อประปาเข้าสู่บ้านเรือนประชาชน ทำในเมืองชนบทของ สปป.ลาว ซึ่งบางบ้านยังไม่มีน้ำบริโภค ได้มีโอกาสเข้าถึงน้ำสะอาด เป็นต้น

ท้ายสุด นายพีรเมศร์ กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ อยากให้เข้าใจว่าที่ NEDA ช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านด้วยการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือรูปแบบอื่น ๆ ถือว่าได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (Win-Win) ช่วยเขาเพื่อช่วยเรา ประโยชน์ที่ได้รับ เช่น โอกาสของผู้ประกอบการไทยได้ไปประกอบกิจการขยายธุรกิจ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค ทำให้ไทยส่งออกสินค้าและบริการได้มากขึ้น การค้าระหว่างประเทศเติบโตมากขึ้น ทำให้รัฐบาลไทยจัดเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น