‘ไทย’ ขึ้นแท่น ‘ฐานการผลิตรถยนต์’ เบอร์ 1 ของอาเซียน ผลพวงจากการส่งเสริมของภาครัฐที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวานนี้ (20 พ.ค.67) ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ตลาดยานยนต์ในไทยมีมูลค่ารวมกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18% ของ GDP ของประเทศ การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ของภาครัฐที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับ 10 ของโลก อันดับ 5 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของอาเซียน

โดยเฉพาะยานยนต์สันดาปภายใน ที่ไทยเป็นฐานการผลิตมายาวนานและภาครัฐให้ความสำคัญ โดยมุ่งเน้นการผลิตยานยนต์สันดาปภายในที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงสูงและมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ พร้อมตั้งเป้าหมายภายในปี 2030 ไทยจะมีสัดส่วนการผลิตยานยนต์สันดาปภายใน 70% และจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์สันดาปภายในแห่งสุดท้ายของโลก

สำหรับการส่งออก ประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกรถยนต์ใน 3 ภูมิภาคหลัก คือ เอเชีย โอเชียเนีย และตะวันออกกลาง มากกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณการส่งออกรวม สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมาก โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์ถึง 19,776.19 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 688,531.24 ล้านบาท จากแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของการส่งออกรถยนต์ของไทย ทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศที่มีมากกว่า 2,300 ราย มีการขยายตัวไปด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตยานยนต์แบบดั้งเดิมมาเป็นการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ที่เน้นด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกสูง ภายใต้นโยบายของภาครัฐที่มุ่งเน้นและผลักดันให้ยานยนต์ที่ผลิตในประเทศเป็นยานยนต์ที่สะอาด ประหยัด และปลอดภัย เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ควบคู่ไปกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน

จากมาตรการการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต การใช้งานและโครงสร้าง พื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของไทยขยายตัวอย่างวรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ทั้งจากประเทศจีนและญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนและมีแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในประเทศไทยในปี 2567 กว่า 9 ราย

นำโดย BYD, MG, Changan, NETA, GAC, Nissan ฯลฯ และมีกำลังการผลิตรวมกว่า 596,000 คันต่อปี ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ไทยเริ่มมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในประเทศ โดยมีปริมาณการผลิตรวม 2,466 คัน นำโดย ค่าย GWM, MG และ Honda (ผลิตรถยนต์ BEV HRV-en1 จำนวน 30 คัน ในเดือน มกราคม 2567 ที่ผ่านมา)

ขณะเดียวกันตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาไทยมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า BEV ทั้งสิ้น 73,568 คัน อัตราการขยายตัว 694% ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกของ ปี 2567 มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า BEV กว่า 19,131 คัน ซึ่งหากพิจารณาตามข้อมูลสถิติปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าสะสมในประเทศไทยพบว่า จนถึงปัจจุบันมีจำนวนรถไฟฟ้า BEV ที่จดทะเบียนแล้วกว่า 113,435 คัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ที่มา : ไทยรัฐ