‘นักวิชาการ’ ห่วง!! ‘ทุเรียนไทย’ เสี่ยงแย่ ในอีก 5 ปีข้างหน้า ชี้!! 'ภัยแล้ง-คู่แข่ง-ต้นทุนขนส่ง' รุมเร้า แนะ!! รัฐรีบจัดการ

(13 พ.ค.67) นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์ ดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย ปี 2567 และประเมินทุเรียนไทยใน 5 ปีข้างหน้า ว่า ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจหนึ่งเดียวที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก ในปี 2566 ทุเรียนมีมูลค่าส่งออก 1.4 แสนล้านบาท แซงหน้ามูลค่าการส่งออกยางพารา และมันสำปะหลัง

แต่ยังเป็นรองมูลค่าการส่งออกข้าว โดยมูลค่าการส่งออกทุเรียนคิดเป็นสัดส่วน 25% ของมูลการค้าส่งออกรวมของพืชส่งออกหลัก 4 ชนิด คือ ข้าว ทุเรียน ยางพารา และมันสำปะหลัง ส่วนมูลค่าการส่งออกทุเรียนในปี 2567 นั้น ต้องลุ้นว่ายังสามารถรักษาระดับการส่งออกเหมือนในปี 2566 หรือไม่ เพราะมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ดัชนี DURI หรือ ดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย ปี 2567 และ 5 ปี พบว่า ดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย ปี 2567 อยู่ที่ 57 ซึ่งเป็นระดับที่ มีความเสี่ยงสูง เพราะเกิน 50 และค่าดัชนี DURI ใน 5 ปีข้างหน้ายังมีค่าเกิน 50 อย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพราะมีความเสี่ยงจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ปัญหาภัยแล้งของเกษตรกร การส่งออกทุเรียนเวียดนามที่เพิ่มสูงขึ้น และต้นทุนการขนส่งไปประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้น

นายอัทธ์ กล่าวว่า ช่วง 12 ปีผ่านมา ผลผลิตทุเรียนไทยเพิ่ม 180% เพิ่มจาก 5 แสนตัน เป็น 1.4 ล้านตัน จากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศกว่า 80% แต่ปัญหาภัยแล้งจะทำให้ ผลผลิตทุเรียนลดลง 50% ใน 5 ปีข้างหน้า หากรัฐไม่ปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ผลผลิตทุเรียนไทยจะลดลง 53% หรือหายไป 6.4 แสนตัน โดยปีนี้ ภัยแล้งจะทำให้ผลผลิตทุเรียนลดลง 42% หรือลดลง 5.4 แสนตัน

ขณะที่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตทุเรียนเวียดนามเพิ่ม 200% ปี 2566 มีผลผลิตทุเรียน 8 แสนตัน เพิ่มจาก 2.7 แสนตัน ในปี 2557 มีพื้นที่ปลูกเกือบ 7 แสนไร่ และในปี 2567 เวียดนามส่งออกไปจีนเพิ่ม 30% โดยไตรมาสที่ 1/2567 ส่งออกทุเรียนไปจีนเพิ่มขึ้น 105% อยู่ที่ 36,800 ตัน ขณะที่ไทยส่งออกได้เพียง 17,900 ตัน คาดว่าทั้งปี 2567 เวียดนามสามารถส่งออกทุเรียนไปจีนอยู่ที่ 5 แสนตัน ในขณะที่ไทยส่งออกอยู่ที่ 8 แสนตัน ลดลงเกือบ 2 แสนตัน

รวมทั้งต้นทุนการผลิตทุเรียนไทยก็สูงกว่าเวียดนาม 2 เท่า ปี 2566 ต้นทุนเวียดนามอยู่ที่ 15 บาท/กก เพิ่มขึ้นเป็น 19 บาท/กก.ในปี 2567 ระหว่างปี 2565 -2567 ล้งจีนเพิ่มขึ้น 665 ราย ในขณะที่ล้งไทยปิดตัวจาก 25 ราย เหลือ 10 ราย และในอนาคตคาดว่า ล้งไทยจะปิดตัวเพิ่มขึ้น เหลือไม่ เกิน 5 ราย

ดังนั้นวาระแห่งชาติ เร่งด่วนที่สุดของรัฐบาลคือ ต้องเร่งแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อ รายได้ของเกษตรกร และราคาสินค้าที่แพงขึ้น รวมทั้งเน้นการผลิตแบบคุณภาพ เพราะอีก 3 ปีข้างหน้า ทุเรียนเวียดนามจะผลิตได้คุณภาพใกล้เคียงกับทุเรียนไทย

อย่างไรก็ตาม ปี 2567 พบว่ามีการใช้จ่ายเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทุเรียนไทยราว 9.8 แสนล้าน เพิ่มขึ้นจากปี 66 เท่ากับ 1.4 แสนล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 16.2% เมื่อเทียบกับปี 66 โดยภาคตะวันออกมีเงินสะพัดมากที่สุด รองลงมาคือภาคใต้ และภาคเหนือ ตามลำดับ ธุรกิจที่มีเงินสะพัดมากที่สุดคือ ธุรกิจล้ง จำนวน 280 แสนล้านบาท