เปิดข้อมูล 'กากแคดเมียม' อันตรายแค่ไหน? ถึงขั้นต้องประกาศเขตภัยพิบัติหรือไม่?

(11 เม.ย.67) จากเฟซบุ๊ก 'Sompob Pordi' ได้โพสต์ทำความเข้าใจถึงกากแคดเมียมที่พบเจอในไทยและทำให้ผู้คนเกิดความตระหนก ไว้ดังนี้...

กากแคดเมียม 

แคดเมียม (Cd) เป็นธาตุโลหะ ที่ปกติในธรรมชาติจะอยู่ร่วม/ปะปนกับธาตุโลหะอื่นเช่น สังกะสี ตะกั่ว ฯ มีจุดหลอมเหลวที่ 321 เซลเซียส หรืออุณหภูมิสูงกว่านํ้ามันทอดไก่เคเอฟซี 175 เซลเซียสเกือบสองเท่า มีจุดเดือดที่กลายเป็นไอที่ 767 เซลเซียส 

ปัจจุบัน ราคาแคดเมียม 99.99% วิ่งขึ้นลงอยู่ระหว่าง $4 ถึง $5 กว่า ๆ ต่อกก. ดังนั้นแคดเมียม 1 ตันหรือ 1,000 กก. จะมีราคาอย่างตํ่า ๆ ก็ $4,000 หรือเกือบ ๆ แสนห้าหมื่นบาท 

ดังนั้น ข่าวที่ว่ามีการแอบเก็บแคดเมียมที่เป็นอันตรายเป็นพิษต่อสุขภาพเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ ตันก็คือการปั่นดี ๆ นี่เอง ไม่ต่างอะไรกับที่เคยปั่นสามกีบเรื่องกัมมันตรังสีจากซีเซียม จนหลอน แตกตื่น ชักดิ้นชักงอ เมื่อปีที่แล้ว 

เพราะแคดเมียมในข่าวเป็นแค่กากแคดเมียม หรือเศษดินหินจากเหมืองที่มีแคดเมียมปะปนอยู่ด้วยในปริมาณที่น้อยมากในรูปของ แคดเมียมซัลไฟด์ หรือ แคดเมียมคาร์บอเนต ซึ่งพบได้ในธรรมชาติ ที่มีปริมาณแคดเมี่ยมน้อยมากจนยังไม่คุ้มที่สกัดแยก/ทำให้บริสุทธิ์เพื่อการพาณิชย์

ส่วนเรื่องความเป็นพิษของแคดเมียมนั้นเป็นความจริง แต่เป็นความจริงที่มีเงื่อนไข คือ แคดเมียมต้องเข้าสู่ร่างกายของเราก่อน ถึงจะเป็นพิษภัยต่อสุขภาพ ถึงจะก่อให้เกิดมะเร็งได้ ซึ่งก็มีแค่สองทางเท่านั้นที่จะเข้าสู่ร่างกายเราได้ คือ การกิน และ การหายใจเข้าไป 

การกิน ก็ตรงไปตรงมา ไม่มีใครกินแคดเมียมหรือกากแคดเมียมแน่นอน เพราะไม่อร่อย หน้าตาไม่น่ากิน ส่วนที่ห่วงว่าอาจจะละลายนํ้าแล้วเผลอกินก็ไม่ต้องห่วง เพราะแคดเมียมคาร์บอเนตไม่ละลายนํ้า และแคดเมียมซัลไฟด์ละลายนํ้าได้น้อยมาก

การหายใจเอาไอแคดเมียมเข้าสู่ร่างกาย ก็ยากไม่แพ้กัน เพราะแคดเมียมจะเป็นไอที่ 767 องศาเซลเซียส โอกาสเดียวคือ ไฟไหม้สถานที่เก็บเท่านั้น แต่ปริมาณที่น้อยนิดและสภาพเศษหินเศษดินที่กล่าวมาแล้วทำให้ความเสี่ยงน้อยลงเป็นทวีคูณ โกดังเก็บแบตเตอรี่และถ่านไฟฉายประเภท นิกเกิลแคดเมียม อันตรายมากกว่าเป็นล้านเท่า

ทั้งหมดนี้ ไม่ได้บอกว่าการลักลอบเก็บกากแคดเมียมในเขตพื้นที่อยู่อาศัยและการพาณิชย์ตามข่าวเป็นสิ่งที่ดี ที่ควรทำ ที่น่าชื่นชม แต่ต้องการบอกว่า มันไม่ได้เป็นอันตรายใหญ่โตอย่างที่ปั่น ไม่มีความจำเป็นต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติอย่างที่ทำใด ๆ ทั้งสิ้น แค่ขนย้ายไปเก็บในที่ ๆ เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นโกดังอุตสาหกรรม หรือลานซีเมนต์โล่ง ๆ ในเขตอุตสาหกรรม หรือเร่งให้เจ้าของส่งออกไปตามที่ตั้งใจ ก็จบแล้ว 

ไหน ๆ ก็โพสต์เรื่องพิษภัยของสารเคมีก็แถมให้หน่อยละกัน 

ความเป็นพิษของสารทุกชนิดต่อมนุษย์เราขึ้นกับ...

1. Exposure การได้รับหรือการสัมผัส

2. Concentration ปริมาณ/ความเข้มข้นที่ได้รับหรือสัมผัส

ยกตัวอย่างเช่น...

เกลือทะเล หรือ โซเดียมคลอไรด์ ถ้าเราไปสปา พนักงานเขาทำนํ้าเกลือเข้มข้นให้เราลงไปแช่ตัว หรือเอาเกลือทานวดตัว เหลือไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายเราทางผิวหนังได้ ก็ไม่สามารถเป็นพิษภัยอะไร

ถ้าเรากินเกลือในปริมาณปกติ ร่างกายเราก็ได้ประโยชน์ ถ้ากินมากไป นิดหน่อยร่างกายเราก็จะกำจัดและขับถ่ายออกมา แต่ถ้ามากเกินไปมาก ถึงจะเริ่มมีอาการ เริ่มเป็นอันตราย

ดังนั้น อย่ากลัว อย่าตื่นตระหนกจนเกินไป เดี๋ยวชีวิตจะไม่มีความสุข