เปิดใจ 'วิชัย ทองแตง' ลั่น!! ขอใช้ทั้งชีวิตจากนี้ตามรอย 'ศาสตร์พระราชา' พร้อมผุด 'หยุดเผา-เรารับซื้อ' แก้โลกเดือด แถมช่วยเกษตรกรมีรายได้ยั่งยืน

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณวิชัย ทองแตง ทนายคนดังสู่มหาเศรษฐีของไทย ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปัจจุบัน ในหัวข้อ 'บุกตลาดคาร์บอนเครดิต แก้ปัญหาโลกเดือด'

คุณวิชัย กล่าวว่า ในเรื่องสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องกระตุ้นเตือนในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเดิมครอบครัวของตนเป็นครอบครัวที่ปลูกฝังเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมมายาวนาน โดยหลักง่ายๆ ที่วิชัยใช้สอนลูกหลาน คือ 4R ได้แก่ Rethink, Recycle, Reuse และ Reduce 

- Rethink ต้องคิดใหม่ว่าโลกใบนี้ห้อมล้อมเรา เราต้องอยู่กับโลกใบนี้ให้ได้ 
- Recycle การนำเอาวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้งานแล้วมา 'แปรรูป' กลับเอามาใช้ใหม่ได้ 
- Reuse ง่ายกว่าเรื่องใดๆ เพียงแค่นำมาใช้ซ้ำอีกครั้งโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการอะไร 
- ส่วน Reduce พยายามใช้ทรัพยากรให้น้อยหรือลดการใช้ เมื่อมาถึงเวลานี้ไม่ใช่เรื่องโลกร้อนธรรมดาแล้วแต่เป็นโลกเดือด

เมื่อถามว่า อะไรเป็นแรงผลักดันทำให้คุณวิชัยสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม? คุณวิชัยตอบว่า "ผมจะไม่เพิกเฉยกับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ ปัจจุบันครอบครัวเราได้ตั้งมูลนิธิหนึ่งน้ำใจขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาสตามชายแดน โดยปัจจุบันได้สร้างโรงเรียน 19 แห่ง ซึ่งล้วนเดินทางยากลำบากมาก 

"ขณะเดียวกัน ในช่วงตลอดระยะเวลา 19 ปี ที่ทีมงานของเราได้ขึ้นลงไปสำรวจในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่องนั้น ก็ทำให้ได้รับรู้ปัญหาอื่นที่ควบคู่ ผ่านความรู้สึกของชาวบ้านที่พูดถึงมหันตภัยสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ ซึ่งเราก็ช่วยเท่าที่ช่วยได้ แต่พอจังหวัดเชียงใหม่เกิดปัญหามีค่าฝุ่น PM 2.5 ขึ้นอันดับหนึ่งของโลก ผมรับไม่ได้ เลยพูดคุยถึงแนวคิด 'โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ' ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมองเห็นว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ชาวบ้านเผาป่า เราก็เลยคิดว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านหยุดเผา"

คุณวิชัย เผยว่า "วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้ คือ แปลงเป็นเงิน เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นไปในตัว โดยนำสิ่งที่จะเผา เช่น วัสดุทางการเกษตรทั้งต้นทั้งซังมาขายให้กับเรา ด้วยการให้นักธุรกิจในพื้นที่รวบรวมจากชาวบ้านแล้วส่งมาที่โรงงาน จากนั้นทางโรงงานก็จะแปรรูปเป็นชีวมวลอัดเม็ด (Biomass Pallets) ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น"

คุณวิชัย มองว่า ตรงนี้ถือเป็นการสร้างวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยมองไปที่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่และมีความต้องการสูงในเรื่องนี้ เช่น ประเทศญี่ปุ่นประเทศเดียวก็มีความต้องการ 10 ล้านตันต่อปีแล้ว และต้องการเซ็นสัญญายาวล่วงหน้า 20 ปี 

"หัวใจของธุรกิจนี้คือ ต้องมีวัสดุเหลือใช้มากพอเข้ามาป้อนโรงงาน จึงอยากให้นักธุรกิจในท้องถิ่นได้มีส่วนช่วยในการรวบรวมเศษวัสดุมาให้เรา ส่วนความคืบหน้าของโครงการฯ ตอนนี้เรามีหนึ่งโรงงานที่ อำเภอจอมทอง ส่วนโรงงานที่สองน่าจะเกิดขึ้นที่ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่"

คุณวิชัย เล่าอีกว่า "รู้สึกเสียดายที่โครงการนี้เกิดขึ้นได้ช้า เพราะหลักๆ เราใช้โมเดลที่ไม่ได้พึ่งพางบประมาณของรัฐบาลเลย โดยระดมทุนสร้างโรงงานมูลค่า 300 ล้านบาท รับซื้อแบบไม่จำกัด ซึ่งการรับซื้อก็ช่วยสร้างความยั่งยืนในระดับหนึ่ง แต่เราต้องเติมความยั่งยืนให้กับชาวบ้านอีกว่า เงินของชาวบ้านจะสามารถเพิ่มพูนงอกเงยขึ้นได้อีกอย่างไร...

"อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผมได้คุยกับทาง กฟผ. แล้ว ถ้าเราสามารถสร้างโรงงานพร้อมกันได้ 10 แห่ง ภายในปี พ.ศ. 2568 ปัญหาเรื่อง PM 2.5 ก็น่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากทางภาคเหนือแล้ว ตอนนี้เรามีการขยายไปทางภาคใต้ด้วย เช่น การพัฒนาสนามกอล์ฟรูปแบบ Carbon Neutral ที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นสนามกอล์ฟ Carbon Neutral อันดับที่ 2 ของเอเชียรองจากประเทศสิงคโปร์ และทีมงานยังได้ศึกษาต้นปาล์มด้วยว่าสามารถนำมาทำ Pallets ได้ไหมสรุปว่าสามารถทำได้ก็จะขยายความร่วมมือและต่อยอดต่อไป"

เมื่อถามถึงภาพรวมของตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย? คุณวิชัยกล่าวว่า "องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการเดินหน้าเป็นอย่างดี และมีการสร้างแพลตฟอร์มซื้อขายตลาดคาร์บอนเครดิตขึ้นเช่นกัน ผมได้เจอนักธุรกิจสิงคโปร์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกองทุน 'เทมาเส็ก' หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์ โดยกำลังทำแพลตฟอร์มด้านคาร์บอนเครดิตระดับเอเชีย จึงอยากขอให้ไทยมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งเขาก็ตอบรับและเข้ามาประชุมแล้ว เรียกว่ามีโอกาสสูงที่จะได้ร่วมมือกัน เพราะทางสิงคโปร์เองก็ต้องการคาร์บอนเครดิตอีกมาก ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย"

เมื่อถามถึงทิศทางการเติบโตคาร์บอนเครดิตในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป? คุณวิชัยกล่าวว่า "ผมมองเห็นการเติบโต เราสามารถแปลงวิกฤตเป็นโอกาสและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยทั่วประเทศได้ วัตถุดิบทางการเกษตรที่เหลือใช้หลายอย่างสามารถแปลงเป็นภาชนะที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้ ยกตัวอย่าง บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อแบรนด์ 'เกรซ' สามารถนำวัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้ เช่น ซังข้าว, ข้าวโพด, อ้อย และอื่นๆ มาแปลงเป็น ถ้วยชาม หลอด รักษ์โลก เราจึงพยายามเชื่อมโยงบริษัทฯ นี้กับพื้นถิ่นที่เรากำลังจะสนับสนุนด้านคาร์บอนเครดิต...

"เมื่อก่อนเราผลิตเพื่อทดแทนพลาสติก แต่ไม่สามารถทดแทนได้หมดเนื่องจากราคาสูง ปัจจุบันสามารถทำราคาได้ใกล้เคียงกับพลาสติกแล้ว ต่างกันแค่ 20-30% และสามารถเคลมคาร์บอนเครดิตได้ สร้างความยั่งยืนได้ เมื่อย่อยสลายสามารถกลายเป็นปุ๋ยได้ และยังฝังเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่นไว้ในผลิตภัณฑ์ทำให้กลายเป็นต้นไม้ได้อีก สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ ซึ่งเป็นความคิดของคนไทยที่น่าภาคภูมิใจ...

"ส่วนการขยายไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เกิดจากได้ทราบแนวคิดของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งจะเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับมาเลเซีย เลยมีแนวคิดนำคาร์บอนเครดิตลงไปแนะนำในท้องถิ่น ซึ่งถ้า SEC เกิดขึ้นจริง พื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีศักยภาพสูงพอที่จะสามารถลงทุนพัฒนาได้ในอนาคต"

เมื่อถามถึงเรื่อง BCG? คุณวิชัย เผยว่า "เราสนใจมานานแล้ว นักธุรกิจควรเน้นเรื่อง ESG (Environmental, Social, Governance) เป็นหลักโดยเฉพาะกองทุน ESG ต้องเชื่อมโยงกับกองทุนเหล่านี้ให้เร็วที่สุด ซึ่งเราก็พึ่งเริ่มทำ โดยพยายามถ่ายทอดความรู้ในเรื่องนี้ในการบรรยายให้กับธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ให้สนใจเรื่องนี้ เพื่อให้ธุรกิจนั้นเป็น ESG ด้วยหลักคิดง่ายๆ 4 ประการ ได้แก่ Net Zeo, Go Green, Lean เหลื่อมล้ำ, ย้ำร่วมมือ เป็นการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับประเทศตาม Passion ของผม เกษตรกรต้องไม่จน"

เมื่อถามถึงความคืบหน้าจากโครงการ 'กวี คีตา อัมพวาเฟส' ที่ผ่านมา? คุณวิชัย กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากแรงบันดาลใจเนื่องจากตนเป็นเขยสมุทรสงคราม มีความผูกพันกับแม่น้ำแม่กลอง ชอบธรรมชาติและใส่ใจในสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์สร้างโมเดล Cultural Carbon Neutral Event แห่งแรกของไทยและของโลก ด้วยการจัด Event วัฒนธรรมและสอดแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย 

"ผมอยากให้เกิดโมเดลแบบนี้ไปทั่วประเทศ จึงเกิดการต่อยอดโดยหลานทั้งสองของผม อายุ 16 ปีและอายุ 14 ปี ที่มีความคิดอยากทำตาม Passion ของปู่ ในเรื่องสิ่งแวดล้อม Carbon Neutral ให้ยั่งยืนต่อเนื่องกับอัมพวาจริงๆ ก็เลยมีแนวคิดเปลี่ยนเรือในคลองอัมพวา จากเรือสันดาปใช้พลังงานน้ำมัน เป็นเรือใช้พลังงานไฟฟ้า โดยจะเริ่มจากคลองเฉลิมพระเกียรติ หรือคลองบางจาก ใน Concept Net Zero อัมพวา อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งหลานๆ เกิดความสำนึกต่อการรักษ์โลกใบนี้ก็ถือว่าเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งแล้ว...

"ขณะเดียวกัน ก็มี 'สวนสมดุล' ที่เกิดจากลูกชายคนเล็กของผม ที่ขอไปเป็นเกษตรกรตามรอยศาสตร์พระราชา ทุกตารางนิ้วในสวนเป็น Organic ทั้งหมด ไม่ใช้สารเคมีเลย โดยมุ่งหวังสร้างผลิตภัณฑ์มาตรฐานไทยขึ้นมาซึ่งคุณภาพไม่ได้ด้อยกว่าออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เช่น ครีมอาบน้ำ น้ำยาล้างจาน เป็นต้น รวมถึงยังเลี้ยงผึ้งชันโรง และตั้งรัฐวิสาหกิจชุมชนอย่างแท้จริง"

เมื่อพูดถึงศาสตร์พระราชาถูกมาใช้ในการบริหารธุรกิจอย่างไร? คุณวิชัยกล่าวว่า "หลังจากผมประกาศว่าเมื่อผมอายุครบ 70 ปี อยากทำตาม Passion ตัวเอง 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.เกษตร 2.การศึกษา 3.ร้านค้าปลีกโชห่วยที่ได้รับความเดือดร้อน ผมก็ได้เดินสายบรรยายไปทั่วประเทศ แต่ทุกครั้งที่เดินสาย ถ้ามีโอกาสผมจะพูดถึงปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีความลึกซึ้งถ้าเรียนรู้และนำไปปรับใช้อย่างแท้จริงแล้ว เราจะไม่ได้เพียงการดำรงชีวิตที่อยู่ได้ แต่เรายังสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจที่ตัวเองทำ...

"ในหลวงท่านไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเทคโนโลยี แต่แนวคิดท่านทำให้คนเริ่มบาลานซ์เทคโนโลยีกับวิถีชีวิตจริง วิถีเกษตรกรรมที่สามารถสร้างผลตอบแทนมาที่ตัวเราได้โดยไม่ต้องต่อต้านเทคโนโลยี แต่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ อย่างเด็กเกษตรที่ผมเคยบรรยายก็ได้ตระหนักถึงปรัชญานี้ ผมจึงมีโครงการมาตรฐานการเกษตรที่ชลบุรีบ้านเกิดผม โดยจะแนะนำเทรนด์เรื่องการบริหารฟาร์มและสร้างหลักสูตรที่เรียกว่า 'เกษตรหัวขบวน' เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาให้เข้าใจเรื่องการบริหารจัดการฟาร์ม เข้าใจแผนงานการตลาดและความต้องการของตลาดในปัจจุบัน"

เมื่อถามถึงเป้าหมายสำคัญของ คุณวิชัย ที่สอดคล้องไปกับฉายา Godfather of Startup ว่าคืออะไร? คุณวิชัย เผยว่า ปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าเด็กไทยเก่งมาก แต่ขาดเวทีในการแสดงความสามารถ ซึ่งตนประกาศว่ากำลังตามหายูนิคอร์นตัวใหม่ วันนี้จึงขอฝากถึงทุกภาคส่วน เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มากขึ้น เพื่อที่จะทำให้ไทยพบช้างเผือกในป่าลึก กล้าคิด กล้าทำ กล้านำเสนอ ซึ่งจะสร้างความภาคภูมิใจให้ประเทศไทยได้ในอนาคต ขณะเดียวกันก็ฝากถึงนักธุรกิจที่อยากประสบความ ก็ต้องยึดหลัก กล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ ด้วย

"สิ่งหนึ่งที่เด็กไทยมักจะขาดก็คือความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในกระบวนการต่างๆ เช่น Collaboration, Connectivity, M&A ในการเริ่มต้นอย่าคิดว่าเก่งคนเดียวต้อง Collaboration ถ้าเก่งบวกเก่ง กลายเป็นซุปเปอร์เก่งเลย เราต้องทำให้สินค้าบริการให้ครบวงจร อย่ามอง Hedge Fund อย่างเดียว อาจไม่ยั่งยืน และต้องมีเป้าหมายยิ่งใหญ่ อย่าทำผ่านๆ ไป เป้าหมายจะไปที่ไหน ต้องเขียน Roadmap อย่างไร ถามว่าคุณวิชัยเคยล้มเหลวไหม คุณวิชัยตอบว่า เยอะมาก จำไว้เลยนะครับว่าไม่มีใครสำเร็จอย่างเดียว และไม่มีใครล้มเหลวอย่างเดียว ความล้มเหลว คือ บทเรียนที่คุ้มค่าให้เราเรียนรู้ได้เสมอ อย่ากลัวความล้มเหลว"

คุณวิชัย ฝากทิ้งท้ายบทสัมภาษณ์นี้อีกด้วยว่า "ประเทศนี้ให้ผมมาเยอะแล้ว ผมต้องสร้างคน สร้างธุรกิจใหม่ๆ พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า เพื่อคืนให้กับสังคม คืนให้กับประเทศชาติจนกว่าชีวิตผมจะหาไม่ ซึ่งเวลาผมไปบรรยายต้องให้ผู้ฟังช่วยปฏิญาณไปกับผมด้วยเสมอ คือ 1.เราจะไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อโกงหรือหลอกลวงผู้อื่น 2.เราจะเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีมีคุณธรรม 3.เราจะแบ่งปันความรู้และโอกาสให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่า เป็นสิ่งที่ผมอยากปลูกฝังระบบคุณธรรมให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป"