‘สหรัฐฯ’ ขยายขอบเขตความผิดไปถึงผู้ปกครอง ตั้งข้อหาฆาตกรรมแก่แม่ของเด็กก่อเหตุกราดยิง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘สหรัฐฯ’ คือประเทศที่เกิดเหตุ ‘กราดยิง’ ขึ้นบ่อยครั้ง จนแทบจะกลายเป็นภาพจำแล้วว่า ทุกครั้งที่มีข่าวกราดยิง หลายคนจะคิดว่าเกิดขึ้นที่สหรัฐฯ ไว้ก่อนเลย

แต่หากจะพูดถึงเหตุกราดยิงที่สร้างความช็อกให้กับสังคม หลายคนอาจนึกถึงเหตุกราดยิงโรงเรียนอ็อกซ์ฟอร์ดไฮสคูลในรัฐมิชิแกนเมื่อปี 2021 ซึ่งเด็กชายวัย 15 ปีรายหนึ่งเปิดฉากกราดยิงนักเรียนและครู จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 7 คน

สำหรับผู้เสียชีวิต 4 คนเป็นนักเรียนทั้งหมด ส่วนผู้บาดเจ็บเป็นนักเรียน 6 คน และครู 1 คน

คดีนี้เป็นที่สนใจของสาธารณชน เพราะมีความพยายามที่จะเอาผิดพ่อและแม่ของเด็กชายผู้ก่อเหตุ คือ เจมส์ ครัมบลีย์ และเจนนิเฟอร์ ครับลีย์ ด้วย ฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา และมีการสอบสวนพยานหลักฐานมาโดยตลอด

เจนนิเฟอร์ถูกตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าวครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. 2021 แต่เธอปฏิเสธข้อกล่าวหา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา คณะลูกขุน 12 คนซึ่งใช้พิจารณาคดีนานกว่า 10 ชั่วโมง ในที่สุดก็มีคำตัดสินให้ เจนนิเฟอร์ มารดาของผู้ก่อเหตุ มีความผิดในข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา 4 กระทง ถือเป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ ที่จะมีการเอาผิดพ่อแม่หรือผู้ปกครองของผู้ก่อเหตุ ให้ได้รับโทษฐานฆาตกรรมด้วย

ด้วยคำตัดสินนี้ เจนนิเฟอร์อาจถูกพิพากษารับโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี โดยการพิจารณาพิพากษาโทษของเธอจะมีขึ้นในวันที่ 9 เม.ย. 2024

ขณะนี้เธอถูกนำตัวกลับเข้าห้องขังอีกครั้ง โดนเธออยู่ในห้องขังนับตั้งแต่ถูกจับกุมไม่กี่วันหลังเหตุกราดยิง

คดีนี้ถือเป็นกลยุทธ์ทางกฎหมายที่ไม่ธรรมดาและแปลกใหม่ และแสดงถึงความพยายามที่จะขยายขอบเขตความผิดจากเหตุกราดยิงไม่ให้จบอยู่แค่ที่ตัวผู้ก่อเหตุเท่านั้น

แม้ว่าก่อนหน้านี้ผู้ปกครองจะต้องรับผิดต่อการกระทำของบุตรหลาน เช่น การปล่อยปละละเลยหรือข้อหาเกี่ยวกับอาวุธปืน แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้ปกครองของเด็กที่ก่อเหตุกราดยิงต้องรับผิดชอบโดยตรง

เครก ชิลลิง พ่อของ จัสติน ชิลลิง นักเรียนวัย 17 ปีที่เสียชีวิตจากเหตุที่อ็อกซ์ฟอร์ดไฮสคูล กล่าวว่า “มันเป็นสิ่งที่เรารอมานาน แต่แน่นอนว่ามันเป็นก้าวสำคัญในเรื่องของความรับผิดชอบ...มันเป็นเป้าหมายของเรามาโดยตลอด”

ด้าน เจมส์ พ่อของผู้ก่อเหตุ มีกำหนดขึ้นศาลในข้อหาเดียวกันนี้ในช่วงต้นเดือน มี.ค.

ส่วนตัวของผู้ก่อเหตุ ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 17 ปี ได้รับสารภาพในข้อหาก่อการร้ายที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 กระทง ข้อหาฆาตกรรม 4 กระทง และอีก 19 กระทงที่เกี่ยวข้องกับเหตุกราดยิง และเมื่อปีที่แล้ว เขาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ต้องรอลงอาญา

อัยการระบุว่า ที่เจนนิเฟอร์ต้องรับผิดชอบต่อเหตุกราดยิงนี้เพราะเธอ ‘ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง’ ในการมอบปืนให้กับลูกชายของเธอ ซึ่งในขณะนั้นอายุ 15 ปี และไม่ได้ให้คำแนะนำทางจิตที่เหมาะสมแม้ลูกชายของเธอจะแสดงสัญญาณอันตรายบางอย่างก็ตาม

คาเรน แม็กโดนัลด์ อัยการเขตโอ๊คแลนด์ กล่าวว่า “มันเป็นกรณีที่พบไม่บ่อยนักที่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงอันร้ายแรง...นั่นคือการทำอะไรไปโดยไม่คิด และเธอก็ทำสิ่งหนึ่งโดยไม่คิด ด้วยเหตุนี้จึงมีเด็กถึง 4 คนต้องเสียชีวิต”

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจำเลยแย้งว่าความผิดเป็นของคนอื่นต่างหาก เช่น สามีของเธอที่เก็บอาวุธปืนไว้อย่างไม่เหมาะสม หรือโรงเรียนที่ไม่แจ้งให้เธอทราบเกี่ยวกับปัญหาด้านพฤติกรรมของลูกชาย รวมถึงตัวลูกชายเองที่วางแผนและดำเนินการก่อเหตุด้วยตัวเขาเอง

แชนนอน สมิธ ทนายฝ่ายจำเลยกล่าวว่า คดีนี้จะทำให้ผู้ปกครองทั่วโลกเป็นอันตราย “พ่อแม่ทุกคนสามารถรับผิดชอบต่อทุกสิ่งที่ลูกทำได้จริง ๆ หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นเหตุไม่คาดฝัน”

ด้านเจนนิเฟอร์ยืนหยัดในการปกป้องสิทธิของเธอเอง โดยเธอไม่ได้แสดงความเสียใจกับการกระทำของเธอ และบอกว่า “ฉันถามตัวเองว่าจะทำอะไรที่แตกต่างออกไปหรือไม่ และฉันคิดว่าคงจะไม่”