'อ.แพท' ห่วง!! โพลชี้นำ 'เด็กไทย' อยากได้อะไรจากการศึกษา เบื้องหน้า 'Rocket Media Lab-แพธทูเฮลท์' เบื้องหลัง NED

(15 ม.ค. 67) 'อ.แพท' พัฒนพงศ์ แสงธรรม อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ (ภาควิชาภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pat Sangtum' ถึงความน่ากังวลต่อกรณีโพลสำรวจ 'เด็กไทย' อยากได้อะไรจากการศึกษาล่าสุด โดยระบุว่า...

จะแก้ไขการศึกษา ด้วยการลงนะที่สมอง หรือแก้ปีชง

การสำรวจของ Rocket Media Lab ร่วมกับ แพธทูเฮลท์ นำความไม่สบายอารมณ์มาสู่ผู้ห่วงคุณภาพการศึกษา และวิตกเรื่องทัศนะของเยาวชนไทย ไม่ว่าจะเป็นวิชาที่อยากเรียน และสิ่งที่อยากให้ยกเลิก

ก่อนอื่น การวิจัยครั้งนี้ ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดที่จะทำให้แน่ใจได้ว่าเป็นเช่นนั้น ยังขาดทั้งความเที่ยง (reliability) และความตรง (validity) 

ประการแรกคือ กลุ่มสำรวจ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ชั้น ป. 1 ไปจนถึงชั้น ม. 6 นั่นหมายถึงช่วงอายุตั้งแต่ 6-7-8-9 ขวบ ในชั้นประถม ไปจนถึงอายุ 15-16-17 ปี ความต้องการของเด็กประถม กับเด็กวัยมัธยมปลาย ก็ต่างกัน โลกทัศน์เกี่ยวกับอาชีพ เด็กประถมก็ไม่มีเท่าเด็กมัธยม 

-  เด็กประถมและมัธยมต้นสนใจเรียน เรื่องการเงินการลงทุน?
-  เด็กกลุ่มไหนอยากเรียนวิชาการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย? 
- เด็กวัยไหน ไม่อยากเข้าแถวเคารพธงชาติ ไม่ชอบวิชาศาสนาพุทธ? ... การสำรวจหัวข้อเหล่านี้

ตั้งแต่เด็กอายุ 6 ขวบ ไปจนถึงวัย 17 ปี ย่อมขาดความตรง (validity) ในการออกแบบงานวิจัย มีผลต่อความเที่ยง

ผลสำรวจเห็นได้ชัดว่าเป็นการสำรวจด้วย 'คำถามปลายปิด' โดยผู้ตอบแบบสอบถาม เลือกตอบจากคำตอบที่มีไว้ให้แล้ว... เช่น "การเงินการลงทุน" หากเป็นคำถามปลายเปิด ย่อมต้องมีคำตอบตามวัย เช่น "การเปิดร้านกาแฟ-ร้านอาหาร" "การขายสินค้าออนไลน์" ฯลฯ "การผลิตรายการติ๊กต็อกและยูทูบ" เป็นต้น

ในกลุ่มของสิ่งที่อยากให้ปรับปรุง แน่นอน ทั้งประเทศย่อมต้องการให้ปรับปรุงห้องน้ำ เพราะเชื่อว่าห้องน้ำตามโรงเรียนส่วนใหญ่ สภาพอาจมีแนวสยอง แต่รองลงมาคือห้องเรียน และโรงอาหาร (ต่ำว่า 10%) ไม่มีคำตอบปลายปิด ชี้นำให้ปรับปรุงห้องสมุด-ห้องคอมพิวเตอร์-ห้องแล็บ-โรงยิม ฯลฯ  (แบบสอบถามมองเห็นเท่านี้ ห้องน้ำ-ห้องเรียน-โรงอาหาร)

เรื่องกิจกรรมและวิชา ที่ต้องการให้ยกเลิก ก็สะท้อนช่วงอายุของนักเรียนมัธยมชัดเจน เด็กประถมคงไม่รำคาญวิชาหน้าที่พลเมือง

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรที่มองเห็นว่า ประเทศไทยมีศาสนาพุทธเพียงอย่างเดียว จึงมีวิชาพุทธศาสนา หรือค่ายธรรมะ โดยไม่มองไม่เห็นคริสเตียน มุสลิม ฮินดู ฯลฯ เป็นสิ่งที่เชยและน่าอาย

โรงเรียนสาธิต มธ. (และอาจที่อื่นด้วย) มีวิชาด้าน "การเงิน" สอนให้กับนักเรียน บรรดาผู้รู้ในเน็ตก็โวยวายว่ามันบ้าไปแล้ว ต่อต้านหลักสูตรของ สาธิต มธ. ที่ให้ทางเลิอกในการเรียนรุ้ไว้มากมาย วิชาด้านการเงิน สอนให้เด็กเริ่มมีวินัยทางการเงิน รู้จักจัดการกับเงิน เห็นความสำคัญในการเก็บออม เพื่อลงทุน ฯลฯ เนื้อหาเป็นไปตามช่วงการเรียนรู้... พอผลสำรวจของ Rocket Media ออกมายืนยันว่า นักเรียนสนใจเรื่องการเงิน... ผู้รู้ในเน็ต จะว่ายังไง...

เรื่องการลงโทษ ที่ทำให้อับอาย ก็เป็นกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก อายในกลุ่ม อายในชั้นเรียน อายในโรงเรียน อายต่อสังคม.... แต่เมื่อผลสำรวจได้ระบุมาแล้วว่า นักเรียนไม่ชอบโดนลงโทษแบบให้อับอาย ก็ต้องหาวิธีอื่นต่อไป... ส่วนเรื่องเสื้อผ้า ทรงผมนั้น กฎกระทรวงศึกษาได้ปรับเปลี่ยนระเบียบเรื่องทรงผม และประกาศตอกย้ำมาหลายหนแล้ว ถ้าจะทำการวิจัยและเล่นเนื้อหาเดิมๆ ไม่ตรงเหตุการณ์ปัจจุบัน ก็ดูเหมือนจะเป็นการวิจัยรอบวงเวียนไปหน่อย.

ผลสรุปที่ผู้วิจัยทำมาให้ คิดว่ามาจากตัวอย่างสำรวจกลุ่มไหน ประถม มัธยมต้น หรือมัธยมปลาย หรือเกลี่ยได้เท่ากันทุกกลุ่มจริงๆ

***หมายเหตุ: สำหรับการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ของทาง Rocket Media Lab นั้น จะได้รับเงินสนับสนุนจาก National Endowment for Democracy หรือ NED นับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2567