'อธิบดีราชทัณฑ์' ไฟเขียว!! 'ทักษิณ' นอนโรงพยาบาลต่อ อ้าง!! ความเห็นแพทย์ อาการป่วยยังต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

(11 ม.ค. 67) นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยความคืบหน้ากรณีนายทักษิณ ชินวัตร ออกไปรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ เกิน 120 วัน ว่า นายทักษิณ มีโรคประจำตัวหลายโรคที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการ โดยโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และเนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ

แพทย์จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิตเห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่าโดยแนวปฏิบัติกรณีมีผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง และยังคงรักษาตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้

แพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยในหลายประการที่ต้องเฝ้าระวัง โดยแจ้งความเห็นว่า ผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทางและต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วย เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จึงได้รายงานมายังกรมราชทัณฑ์เพื่อดำเนินการพิจารณา ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563
ที่ระบุไว้ว่า

กรณีผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวที่สถานที่รักษาเป็นเวลานาน ให้ผู้บัญชาเรือนจำดำเนินการ ดังนี้ กรณีการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้พิจารณาจากความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาที่พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่ายังต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความครบถ้วนตามกฎหมาย จึงพิจารณาเห็นชอบ เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2567 ให้นายทักษิณอยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที

นายสหการณ์ กล่าวว่า ตั้งแต่กรมราชทัณฑ์ส่งนายทักษิณเข้ารักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ตนเองยังไม่เคยพบและเข้าเยี่ยมนายทักษิณแม้แต่ครั้งเดียว ส่วนจำนวนผู้ต้องขังที่เข้ารักษาตัวนอกเรือนจำเกิน 120 วัน ไม่ได้มีเพียง 3 ราย แต่ยังมีอีกนับหมื่นรายที่ต้องพิจารณาว่าจะให้นอนพักรักษาตัวเกิน 60 วัน หรือ 120 วัน ส่วนโครงการพักการลงโทษกรณีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป ถือเป็นคุณสมบัติของผู้ต้องขังอยู่แล้ว ซึ่งต้องรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 โดยราชทัณฑ์ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะผู้ต้องขังทั่วประเทศมีมากกว่า 1 แสนราย

สำหรับผู้ต้องขังที่จะได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขดังกล่าว มีทั้งการลดวันต้องโทษ ได้รับการพักโทษ หรือกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการพระราชทานอภัยโทษ โดยรายชื่อผู้ต้องขังที่จะผ่านเกณฑ์นี้ ผู้บัญชาการเรือนจำแต่ละแห่งจะต้องรวบรวมรายชื่อและพิจารณาคุณสมบัติของผู้ต้องขังก่อน ก่อนนำเสนอมายังตนเอง ในฐานะอธิบดีกรมราชทัณฑ์

กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ จึงรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 โดยกรมราชทัณฑ์ ยังคงยึดหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังพึงได้รับตามมาตรฐานสากลรวมถึงเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและตามจรรยาบรรณของแพทย์ ข้อมูลส่วนบุคคลหรือการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล จำเป็นต้องได้รับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลด้วย กรมราชทัณฑ์จึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยออกสู่สาธารณชนได้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ตลอดจนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 323 และข้อบังคับแพทย์สภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกร พ.ศ.2549 ข้อ 27 ซึ่งแพทย์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด