4 มกราคม พ.ศ. 2547 จุดเริ่มต้น ‘ความไม่สงบ-ขัดแย้ง’ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘ค่ายปิเหล็ง’ ในตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง โดยเหตุการณ์ครั้งนี้นับได้ว่าเป็น ‘จุดปะทุของความรุนแรงในสถานการณ์ไฟใต้’ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้มีทหารเสียชีวิต 4 นาย ทางด้านกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า คนร้ายได้อาวุธปืนไปทั้งสิ้น 413 กระบอก ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ยึดคืนมาได้ 94 กระบอก

ส่วนผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับคดี ป.วิอาญา ร่วมกันบุกปล้นปืน โดยมีจำนวน 11 คน ถูกจับได้ 2 คน คือ นายมะซูกี เซ้ง และนายซาอีซูน อับดุลรอฮะ พร้อมอาวุธปืนของกองพันพัฒนาที่ 4 ถูกนำไปใช้ก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถึงปี พ.ศ. 2555

โดยในระหว่างปี 2547 - 2554 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่สงบนี้กว่า 4,500 คน และได้รับบาดเจ็บกว่า 9,000 คน นับเป็นความขัดแย้งที่มียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2554 สถานการณ์กลายเป็นการคุมเชิงระดับต่ำ ส่วนใหญ่ลักษณะการก่อเหตุเป็นการประกบยิง แต่มีเหตุระเบิดแสวงเครื่อง เฉลี่ย 12 ครั้งต่อเดือน มีเหตุการณ์ความรุนแรงกว่า 11,000 ครั้ง และการวางระเบิดกว่า 2,000 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ไม่สงบเหล่านี้ ทางฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเอง ไม่มีข้อเรียกร้องทางการเมืองออกมาชัดเจน จึงไม่สามารถสาเหตุได้ชัดเจนว่า เหตุใดความไม่สงบจึงปะทุกลับมาอีกครั้ง 

ทั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์ วิเคราะห์ว่า การก่อเหตุได้มีการเปลี่ยนจากเป้าหมายด้านเชื้อชาติและชาติพันธุ์และแบ่งแยกดินแดนมาเป็นอิสลามิสต์หัวรุนแรง สถานที่ก่อเหตุย้ายจากป่าเข้ามาในหมู่บ้าน เมืองและนคร ในโครงสร้างแบบเซลล์ โดยใช้กลุ่มผู้ก่อเหตุขนาดเล็กประมาณ 5-10 คน โครงสร้างแบบเซลล์นี้ทำให้ไม่ต้องใช้เงินทุนสนับสนุนมากนัก

ช่วงกลางปี 2549 ตำรวจประเมินว่ามีแนวร่วมก่อเหตุราว 3,000 คน ปฏิบัติการใน 500 เซลล์ จากจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 1,574 แห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

รายงานของกลุ่มวิกฤตระหว่างประเทศปี 2548 ระบุว่า ผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน เคร่งศาสนา ติดอาวุธไม่ดีและพร้อมสละชีพเพื่ออุดมการณ์ กลางปี 2548 ยอดผู้เสียชีวิตชาวมุสลิมสูงกว่ายอดผู้เสียชีวิตชาวพุทธ ซึ่งเชื่อว่ามุสลิมที่ตกเป็นเป้านั้นใกล้ชิดกับทางการไทยหรือค้านความคิดอิสลามิสต์

จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ พบว่า ความถี่ของการก่อเหตุขึ้น ๆ ลง ๆ แต่สูงสุดในปี 2550 (2,409 เหตุการณ์) และ ปี 2555 (1,851 เหตุการณ์) ซึ่งศูนย์ฯ ตั้งข้อสังเกตว่าความถี่ของเหตุการณ์อาจเพิ่มขึ้นและลดลงเป็นวัฏจักรโดยจะมีความถี่สูงสุดทุก 5 ปี ยอดผู้เสียชีวิตรายปีลดลงทุกปีนับแต่ปี 2556