บทสรุป!! 'รางจ่ายไฟฟ้า' รถไฟฟ้าสายสีชมพู ร่วง!! เหตุรถก่อสร้างจากด้านล่าง ยกของขึ้นไปชนรางหลุด
(27 ธ.ค.66) เพจ 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้เปิดเผยบทสรุป รางจ่ายไฟฟ้า รถไฟฟ้าสายสีชมพู ร่วง เพราะเกิดจากรถก่อสร้างจากด้านล่าง ยกของขึ้นไปชนรางหลุดจากอุปกรณ์ยึดราง ขบวนรถไฟฟ้าแล่นมาเกี่ยว ทำรางหลุดยาวกว่า 5 กิโลเมตร ไว้ว่า...
เพื่อนๆ คงทราบเรื่อง ปัญหา รางจ่ายไฟฟ้า หลุดจากคานทางวิ่ง (Guide Way Beam) ของรถไฟฟ้า Monorail สายสีชมพูกันแล้ว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข่าวช๊อกวงการ ของคนที่ติดตามโครงสร้างพื้นฐานกันมาก เพราะเหตุการณ์แบบนี้มันไม่เคยเกิดขึ้น และมีคนผูกเรื่องว่าเป็นปัญหาจากรถจีน หรือ การก่อสร้าง ไม่ได้คุณภาพ ต่างๆ นาๆ
ซึ่งส่วนตัวผม พอเห็นครั้งแรกก็คิดว่ามันไม่น่าจะเกิดเหตุจากการติดตั้ง หรือการให้บริการตามปรกติแน่ๆ เพราะมันหลุดระยะกว่า 5 กิโลเมตร ซึ่งมันต้องมีแรงกระทำที่ผิดปรกติมากๆ
>> เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
- รางจ่ายกระแสไฟฟ้าขับเคลื่อนสะดุดที่ระหว่างสถานีแยกปากเกร็ดถึงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK06-PK01) ของรถไฟฟ้าตรวจสอบเส้นทาง (Inspection Train) ขบวนหมายเลข PM40
บริเวณระหว่างสถานีสนามบินน้ำ (PK03) กับสถานีแคราย (PK02) มุ่งหน้าศูนย์ราชการนนทบุรี เจ้าหน้าที่ประจำขบวนรถไฟฟ้า จึงทำการหยุดขบวนรถฉุกเฉิน
- นายสถานีที่สถานีสามัคคี (PK04) แจ้งศูนย์ควบคุมการเดินรถว่า พบรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor Rail ด้าน Positive Rail ที่อยู่ด้านข้างคานทางวิ่งด้านนอก) หลุดร่วงจากคานทางวิ่ง (Guideway Beam) ร่วงลงพื้นถนนบริเวณหน้าตลาดชลประทาน โดนรถทื่จอดอยู่ระดับดิน และเกี่ยวเสาไฟฟ้าบริเวณดังกล่าวเอนเข้าหาเส้นทางวิ่งของรถไฟฟ้า ระยะประมาณ 500 เมตร
- ผู้ควบคุมด้านวิศวกรรม (EC) ตัดกระแสไฟฟ้ารางตัวนำไฟฟ้าระหว่างสถานีแยกปากเกร็ด (PK06) ถึงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) และ ศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟฟ้า (CCR) แจ้งดับเพลิงปากเกร็ด
>> การวิเคราะห์สาเหตุของเหตุการณ์
ปัญหาเกิดจาก 'การกระทำภายนอกไปกระทบกับตัวรางจ่ายไฟฟ้า' ซึ่งเกิดจากผู้รับเหมาก่อสร้างงานสาธารณูปโภค ทำกำแพงกันดินชั่วคราว โดยใช้ Sheet Pile ที่อยู่ใต้คานทางวิ่ง (Guide Way Beam) ได้ทำการถอด Sheet Pile ออกจากดิน ในรูปแบบ ยกขึ้นสูงจากดิน
ซึ่งยกสูงโดยไม่ได้ระวังด้านบน จนมีบางส่วนยกขึ้นไปชนชุดรางจ่ายไฟฟ้า จนทำให้หลุดออกจากตัวยึด และเสียรูป (ดูจากรูป ประกายไฟไหม้ที่ติดอยู่ที่คานทางวิ่ง) แต่ไม่มีใครทราบ (ทำงานกลางคืน) ซึ่งไปโดนตรงจุดเชื่อมต่อราง (Expansion Joint) เอาซะด้วย
>> เหตุมาเกิด เมื่อรถไฟฟ้าขบวนตรวจสอบรางมาถึง
พอวิ่งมาถึงจุดที่หลุด ทำให้รถไฟฟ้า Monorail ซึ่งมีชุด ขารับไฟฟ้า (Collector Shoe) ไปเกี่ยวกับอุปกรณ์ Expansion Joint แล้วลาก ทำให้รางในส่วนอื่น หลุดออกจากตัวยึดกับคานทางวิ่ง และส่วนด้านหน้า ก็ถูกดันให้หลุดเช่นกัน
แล้วพอรถเกี่ยวแล้ว รถก็ยังวิ่งต่อไป โดยลากเอาชิ้นส่วนฉนวนครอบราง ติดไปกับตัวรถด้วย แล้วก็ติดคาอยู่ตามรูป
>> สรุปเหตุการณ์
รถก่อสร้างด้านล่าง ยกของขึ้นไปกระแทก รางจ่ายไฟฟ้าที่ติดอยู่บนคานทางวิ่ง ทำให้หลุดออกจากจุดยึด
รถไฟฟ้า Monorail วิ่งมาไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไปเกี่ยวรางที่ลุด แล้วลาก รางด้านหลัง และดันรางด้านหน้า ของขบวนรถ จนหลุดออกจากอุปกรณ์ยึดเกาะ ระยะกว่า 5 กิโลเมตร
- การซ่อมแซม และกลับมาเปิดให้บริการ
ตามข้อมูลของ NBM และ กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม แจ้งว่าจะซ่อมแซมในจุดนี้ให้กลับมาใช้งานได้ปรกติ ภายใน 7 วัน และจะทดสอบ เพื่อความมั่นใจ ก่อนให้บริการจริงอีกครั้ง
ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องข้อสงสัยการติดตั้งรางจ่ายไฟฟ้า ของรถไฟฟ้าสายสีชมพู
คลิปรูปแบบการติดตั้งชุดยึด และรางจ่ายไฟฟ้า ของ Monorail ว่ามีอุปกรณ์อะไรบ้าง >> https://www.facebook.com/share/v/HXSEdkdLc61dgL8q/?mibextid=WC7FNe