เปิดพิกัด ‘ค่ายรถ EV จีน’ ในพื้นที่ EEC แต่ละเจ้าลงทุนเท่าไรและพื้นที่ใดกันบ้าง? 🚕⚡️

🔰หลังจากที่ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ ‘บอร์ดอีวี’ ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค รวมทั้งออกมาตรการ EV 3.5 โดยภาครัฐจะให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ โดยมูลค่าเงินอุดหนุนขั้นต่ำสุดอยู่ที่ 20,000 บาทต่อคัน และมูลค่าเงินอุดหนุนสูงสุดอยู่ที่ 100,000 บาทต่อคัน รวมถึงการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท จาก 8% เหลือ 2%

ในส่วนของโครงการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ในพื้นที่อีอีซี มีกี่โครงการ และเป็นบริษัทใดบ้าง รวมทั้งจะมีค่ายรถยนต์ที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซี ในระยะต่อไปนั้นมีใครกันบ้าง? ไปดูกันเลย!!

🚕⚡️เกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) ลงทุน 22,600 ล้านบาท เพื่อปรับโรงงานเป็นศูนย์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถไฮบริดของภูมิภาค โดยจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Ora Good Cat ในปี2567 และจะนำบริษัทในเครืออย่าง MIND Electronics, HYCET และ Nobo Auto ที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ระบบส่งกำลังรถยนต์ และเบาะที่นั่ง เข้ามาลงทุนในไทยอีกด้วย

🚕⚡️SAIC Motor (Shanghai Automotive Industry Corporation) รัฐวิสาหกิจจากจีน เจ้าของบริษัทผลิตรถยนต์ MG Motor ซึ่งเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกในไทยไปเมื่อปี 2562 จะลงทุนเพิ่ม 500 ล้านบาทเพื่อขยายโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่รถยนต์ในประเทศไทย โดยมีแผนจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยกลางปี 2567

🚕⚡️BYD ได้ลงทุน 17,900 ล้านบาท เพื่อตั้งโรงงานแห่งใหม่ในไทย กำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี โดยกลางปี 2567 จะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และในอนาคตจะใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวาไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป

🚕⚡️Changan Automobile ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ ที่ถือหุ้นโดยรัฐวิสาหกิจของจีน มีแผนลงทุนเฟสแรกมูลค่ากว่า 8,800 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV กำลังการผลิตในระยะแรก 1 แสนคันต่อปี

🚕⚡️Horizon Plus ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Foxconn Technology Group จากไต้หวัน และบริษัทอรุณพลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ลงทุนกว่า 36,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้ในปี 2568

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทจากจีนอีกหลายรายบริษัทที่มีแผนจะเข้ามาลงทุนในอีอีซี และได้เริ่มศึกษาถึงการลงทุนอย่างจริงจัง ได้แก่ บริษัท GAC Aion ที่เป็นบริษัทลูกของบริษัทผลิตรถยนต์ Guangzhou Automobile Group กำลังวางแผนลงทุนกว่า 6,400 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอีอีซี, บริษัท Chery Automobile และบริษัท Geely ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีน ก็แสดงความสนใจลงทุนในไทย และวางแผนเข้ามาทำตลาดในไทยภายในต้นปี 2567

Website : www.eeco.or.th
Facebook : โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก – EEC
YouTube : EEC WE CAN


ที่มา : โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก – EEC