รู้จัก ‘ปราชญ์ เทวานฤมิตรกุล’ นักเรียนทุนแบงก์ชาติ ประกาศ!! ขอนำความรู้ที่ได้กลับมาช่วยประเทศไทย

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ‘น้องไอซ์’ ปราชญ์ เทวานฤมิตรกุล เด็กไทยผู้เพียรพยายามและขอกลับมาทำงานที่บ้านเกิด หลังเรียนจบ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.66 โดยมีเนื้อหา ดังนี้…

ประวัติของ น้องไอซ์ นั้น จบระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดดอนทอง จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วสอบเข้าโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ในระดับมัธยมต้น จากนั้นเข้าศึกษาระดับมัธยมปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ โดยอยู่ในห้องของเด็กโครงการความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์ หรือ Gifted Math และเมื่อเรียนจบ ก็ได้สอบชิงทุนและได้รับทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ไปศึกษาต่อสาขาเศรษฐศาสตร์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ น้องไอซ์ ถือเป็นเด็กสายแข่งขันที่กวาดรางวัลมามากมาย เช่น ช่วงมัธยมต้นแข่งคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ได้รางวัลเหรียญทอง ช่วงมัธยมปลายแข่งภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ได้รางวัลเหรียญทอง และเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิก นอกจากนี้ยังเคยแข่งขันแต่งบทร้อยกรองทั้งในระดับโรงเรียนและระดับประเทศ จากนั้นก็มุ่งมั่นสอบชิงทุน เนื่องจากมีเป้าหมายไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่ต่างประเทศซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายตัวเอง และอยากเห็นโลกกว้างมากขึ้น เพื่อตามฝันของตัวเองตอนเด็ก ๆ ที่อยากเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากเท่ดี เพราะจะมีลายเซ็นตัวเองอยู่บนธนบัตร โดยเจ้าตัวมักบอกเสมอว่า “ถ้ากล้าฝันก็ต้องพยายามไปให้ถึง” ซึ่งเขาเริ่มเข้าใกล้ความฝันแล้ว

เพราะด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ทำให้น้องไอซ์ได้รับทุนจาก ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ ไปศึกษาต่อที่ Northwestern University ประเทศสหรัฐอเมริกา ระดับปริญญาตรี ด้านสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ โดยขณะนี้กำลังขึ้นชั้นปี 2 ภายใต้รูปแบบการเรียนที่เจ้าตัวบอกว่าจะไม่พยายามกดดันตัวเอง ถึงแม้เวลากดดันตัวเองแล้วคะแนนจะดีขึ้นก็ตาม 

“ผมจะเรียนไปตามธรรมชาติที่เป็นไป แต่จะไม่กดดันตัวเอง เพราะถ้าเรากดดัน เช่น คาดหวังว่าต้องได้เกรด 3.9 ตลอดทุกเทอม จะทำให้เราไม่กล้าที่จะไปทำอย่างอื่น เช่น การเรียนรู้ชีวิตที่มหาวิทยาลัยว่าเป็นอย่างไร การปรับตัวต่าง ๆ เป็นต้น”

ทั้งนี้ น้องไอซ์ ได้บอกว่าความแตกต่างของมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกาด้วยว่า มีความแตกต่างกันมากโดยเฉพาะโครงสร้างการสอน เพราะมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา เปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกเรียนในสิ่งที่อยากรู้ได้อย่างอิสระ แต่ต้องเรียนวิชาหลักของคณะให้ครบถ้วน ทว่าก็สามารถเรียนวิชาอื่น ๆ ที่อยากเรียนได้ 

“เราสามารถทำหลาย Major ได้ ซึ่งถือเป็นการเรียนแบบ ‘มิติสัมพันธ์’ เช่น เรียนเรื่องนี้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับวิชาหลักที่เราเรียนได้ เป็นต้น” 

เมื่อถามว่าอะไรคือ ความท้าทายเมื่อไปเรียนที่ต่างประเทศ? น้องไอซ์บอกว่า “มี 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.ความท้าทายเรื่องภาษา ต้องมีการไปเตรียมตัวเรียนภาษาก่อน 1 ปี 2.การจัดการเวลาเรียน เราต้อง Balance ให้ดี ทั้งเวลาเรียน ทำกิจกรรม การสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ และการได้อยู่กับตัวเอง และ 3.เรื่องอาหารและโภชนาการ เนื่องจากอาหารไม่ถูกปากเหมือนเมืองไทยเลยต้องปรับตัว”

เมื่อถามถึงตัวแปรสำคัญที่ส่งเสริมน้องไอซ์ให้มาถึงจุดนี้ได้? น้องไอซ์ เผยว่า “ครอบครัว มีส่วนผลักดันเยอะมาก รวมถึง อาจารย์ และเพื่อน ๆ ฉะนั้นเมื่อเรียนจบ ผมจะตั้งใจนำความรู้มาพัฒนาประเทศไทย ซึ่งพร้อมกลับมาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมองว่าเรียนรู้อะไรมาก็จะใช้ความรู้ที่เรียนมานั้น มาทำงานจริง ๆ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งตอนนี้มี Project ที่น่าสนใจมากมาย เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) จากการนำเข้าส่งออก เราสามารถส่งเสริมให้ไทยกลายเป็น ศูนย์กลางของการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าได้ หรือกลายเป็นผู้ผลิตเองทั้งหมด หรือการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นมาโดยตลอด เป็นต้น”

น้องไอซ์ฝากทิ้งท้ายว่า “การเรียนหรือการพัฒนาตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ว่าจะเรียนโรงเรียนวัดหรือโรงเรียนอะไรก็ตาม จริงๆ แล้วอยู่ที่ตัวเราเอง ถ้าเรามองว่าเราทำไม่ได้ ถึงแม้สังคมรอบข้างบอกว่าเราทำได้ เราก็จะทำไม่ได้อยู่ดี สุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ถ้าเรามีความมั่นใจในตัวเอง และตั้งใจทำมันจริง ๆ ผมก็เชื่อว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จได้ครับ”


เรื่อง: วสันต์ มนต์ประเสริฐ