ผบ.ทร.นำกำลังพลทำบุญตักบาตรและจัดกิจกรรม เนื่องในวันนวมินทรมหาราช

วันที่ 12 ต.ค.66 กองทัพเรือ ได้จัดให้มีพิธีบำเพ็ญกุศล เนื่องในวันนวมินทรมหาราช เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมจัดกิจกรรม ในพื้นที่ต่าง ๆ ของกองทัพเรือ ซึ่งในส่วนของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จัดพิธีทำบุญตักบาตร พระภิกษุ และสามเณร จำนวน 89 รูป พิธีสวดพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศล พิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ ณ บริเวณลานทัศนาภิรมย์ หอประชุมกองทัพเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 

โดยในเวลา 07.10 น. พลเรือเอก อะดุง  พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตร พระภิกษุและสามเณร โดยนิมนต์พระสงฆ์จาก วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร จำนวน 50 รูป วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร จำนวน 20 รูป และวัดชิโนรสารามวรวิหาร จำนวน 19 รูป รวมทั้งสิ้น จำนวน 89 รูป ณ ลานทัศนาภิรมย์ หอประชุมกองทัพเรือ โดยมี นางกีรตา พันธุ์เอี่ยม นายกสมาคมภริยาทหารเรือ และคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ พร้อมภริยา เข้าร่วมพิธี

ต่อมาในเวลา 08.10 น. ผู้บัญชาการทหารเรือ และนายกสมาคมภริยาทหารเรือ ได้นำคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ พร้อมภริยา ร่วมพิธีสวดพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศล ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ โดยนิมนต์พระสงฆ์จากวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร มีพระพรหมวัชรเมธี (สมเกียรติ โกวิโท) เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

จากนั้น ในเวลา 09.10 น. ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ และกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ แผ่ไพศาลต่อพสกนิกรชาวไทย กองทัพเรือ นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ทรงมีพระราชดำริให้กองทัพเรือ สร้างเรือยนต์รักษาฝั่งไว้ใช้ได้เองโดยไม่ต้องจัดหา

จากต่างประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ.2510 กรมอู่ทหารเรือ สามารถสร้างเรือยนต์รักษาฝั่งได้จำนวน 1 ลำ คือ เรือ ต.91 โดยพระองค์ได้พระราชทานคำแนะนำในการสร้างเรื่อยมาจนกระทั่งการต่อเรือเสร็จสมบูรณ์ และสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้พระองค์ได้มีพระราชดำรัสที่สำคัญตอนหนึ่งว่า “บรรดาเรือรบที่ใช้ในราชการ เป็นเรือที่สั่งทำจากต่างประเทศ การที่ราชการกองทัพเรือ สามารถเริ่มการต่อเรือยนต์รักษาฝั่งขึ้นใช้ในราชการ ได้เช่นนี้ จึงควรเป็นที่น่ายินดี และน่าสนับสนุนอย่างยิ่ง นับว่าเป็นความเจริญก้าวหน้าของกองทัพเรือ”

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสนพระทัยและทรงเอาใจใส่ต่อกองทัพเรือเป็นอย่างยิ่ง ดังพระราชดำรัสของพระองค์ที่ว่า “เรือรบขนาดใหญ่มีราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสมและสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้น และสร้างเพิ่มเติม” กองทัพเรือ จึงได้น้อมรับใส่เกล้าฯ และนำไปดำเนินการจนเกิดเป็นโครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.991 ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติของกองทัพเรือ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา

พระอัจฉริยภาพในด้านการต่อเรือของพระองค์ท่าน เป็นที่ประจักษ์แก่กำลังพลกองทัพเรือ นับตั้งแต่เริ่มโครงการ เรือ ต.91 จนถึงเรือ ต.991 พระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้แก้ไขแบบลายเส้น และรูปทรงของเรือ ซึ่งผลที่ได้จากการคำนวณเป็นไปตามที่ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ กล่าวคือ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการคำนวณเดิม ปรากฏว่า เรือ ต.991 มีความเร็วเพิ่มขึ้น และประหยัดเชื้อเพลิงได้ร้อยละ 6 ทั้งนี้ กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จฯ ไปทรงวางกระดูกงูเรือ ต.991 ที่กรมอู่ทหารเรือด้วยพระองค์เอง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเรือชุดถัดไป หลังจากนั้นในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2550 พระองค์ท่านและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงเป็นประธานพิธีปล่อยเรือ ต.991 ลงน้ำ อันเป็นความปลื้มปีติแก่เหล่าทหารเรืออย่างหาที่สุดมิได้ รวมทั้งทำให้กองทัพเรือสามารถพัฒนาศักยภาพการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.994 (ต.994 - ต.996) และชุดเรือ ต.997 (ต.997 - ต.998) รวมถึงเรือลำอื่น ๆ ที่ใช้ในราชการกองทัพเรือต่อมาตราบจนปัจจุบัน


นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี