‘องค์การสวนสัตว์ฯ’ ขอขึ้นค่าตั๋วครั้งแรกในรอบ 10 ปี หลังรายได้ลดลง ดีเดย์ 1 ต.ค.นี้ อนาคตพร้อมเดินหน้าให้เอกชนเช่าพื้นที่หารายได้เสริม

(30 ก.ย.66) นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวกับประชาชาติธุรกิจ ว่า หลังการจัดตั้งองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๓ ปัจจุบันมีสวนสัตว์และโครงการสวนสัตว์อยู่ในความดูแลจำนวน 7 แห่ง ประกอบไปด้วย สวนสัตว์เปิดเขาเขียว, สวนสัตว์เชียงใหม่, สวนสัตว์นครราชสีมา, สวนสัตว์สงขลา, สวนสัตว์อุบลราชธานี, สวนสัตว์ขอนแก่น และโครงการสวนสัตว์คชอาณาจักร ที่ดูแลช้างเร่ร่อนกลับคืนถิ่นอีกจำนวน 200 เชือก

ที่ผ่านมา องค์การสวนสัตว์ฯ ได้พัฒนาสวนสัตว์ จากเดิมที่คนมองว่าเป็นสถานที่กักขังสัตว์ให้เป็นสวนสัตว์สมัยใหม่ หรือ modern zoo ที่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ โดยมีพันธกิจ ประกอบไปด้วยการให้ความรู้เป็นแหล่งเรียนรู้ การวิจัยและการศึกษา, การสร้างคนที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลสัตว์, การสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้ให้กับคน และการพักผ่อนสันทนาการ โดยรายได้สวนสัตว์มาจาก 2 ส่วนคือ ค่าบัตรผ่านประตู กับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งปัจุบันไม่เพียงพอที่จะบริหารจัดการสวนสัตว์ทั้งหมดได้

ล่าสุด คณะกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ได้มีมติยอมให้องค์การสวนสัตว์ฯ ปรับอัตราค่าบริการเข้าชมสวนสัตว์ใหม่ทั่วประเทศ หลังจากที่ไม่ได้ปรับขึ้นมากว่า 10 ปี โดยราคาบัตรเข้าชม ผู้ใหญ่จากเดิม 100 บาทเป็น 130 บาท เด็กเก็บ 20 บาทเท่าเดิม ส่วนชาวต่างชาติ จากเดิม 150 บาทเป็น 250 บาท ยกเว้นสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ผู้ใหญ่ จากเดิม 150 บาทเป็น 200 บาท เด็กเรียกเก็บเท่าเดิม 30 บาท ชาวต่างชาติจากเดิม 250 บาทเป็น 300 บาท ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เรียกเก็บอัตราค่าบริการเพิ่มสูงกว่าสวนสัตว์ทั่วไป เพราะเป็นค่าบริการ+service ที่ให้คุณภาพการบริการมากกว่าสวนสัตว์ตามปกติ

“เรามีความจำเป็นต้องขึ้นราคาตั๋วเข้าชมสัตว์ ทั้ง ๆ ที่ไม่อยากปรับขึ้นราคาเลยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากค่าบริหารจัดการ คน อาหาร ต้นทุนในการดำเนินการสวนสัตว์ขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว ยกตัวอย่าง เมื่อ 10 ปีที่แล้ว กล้วยเลี้ยงสัตว์หวีละ 8-11 บาท ปัจจุบัน 18-25 บาท ค่าอาหารสัตว์ก็ปรับสูงขึ้น น้ำมันจากเดิมลิตรละ 17 บาท ตอนนี้ก็เป็น 30 บาท เงินเดือนค่าจ้างบุคลากรของสวนสัตว์ขึ้นหมด ในขณะที่รายได้ของเราลดลง ประกอบกับสวนสัตว์เขาดิน ซึ่งเป็นสวนสัตว์ที่ทำรายได้สูงสุดปิดตัวลงไปหลังปี 2561 แถมเรายังต้องมาเผชิญกับการล็อกดาวน์ จากการระบาดของโควิด-19 เป็นระลอก ๆ ถึง 3 ปีด้วย” นายอรรถพรกล่าว

ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคาอัตราค่าบริการเข้าชมสวนสัตว์ ยกเว้นสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จะมีการปรับขึ้นราคาแบบขั้นบันได 5 ปี กล่าวคือ หลัง 1 ต.ค. 2566 ปรับขึ้นเป็น 130 บาท ต่อจากนั้นอีก 2 ปีปรับขึ้นเป็น 150 บาท ปีต่อมาปรับขึ้นเป็น 180 บาท และปีสุดท้ายปรับขึ้นเป็น 200 บาท จากเดิมที่ขอขึ้นราคาในปีแรกเป็น 150 บาทเลย ส่วนเงินอุดหนุนจากรัฐบาลที่ให้กับสวนสัตว์ก็ลดลงเรื่อย ๆ เช่นกัน จากเดิมรัฐบาลอุดหนุนเพิ่มให้ปีละ 80% จากรายได้ก็ลดลงมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันอุดหนุนอยู่ที่อัตรา 40% ของรายได้ นั่นหมายถึง สวนสัตว์จะต้องหารายได้เพิ่มขึ้นเตรียมไว้ในอนาคตด้วย

สำหรับเป้ารายได้ของสวนสัตว์ในปีนี้ได้ตั้งไว้ที่ 420 ล้านบาท (31 ก.ย. 2566) ซึ่งเกินเป้าไปแล้วไม่มากนัก หลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ก่อนหน้านี้จากช่วงก่อนการระบาด สวนสัตว์ทั่วประเทศเคยทำรายได้อยู่ระหว่าง 500-600 ล้านบาท (หลังปิดสวนสัตว์เขาดิน) พอมาถึงช่วงการระบาดโควิด-19 รายได้รวมลดลงเหลือเพียง 200 ล้านบาท/ปี

“ถือว่าเราโชคดีมากที่การระบาดสิ้นสุดลงในช่วง 3 ปี เพราะในปีที่สุดของการระบาด องค์การสวนสัตว์แทบไม่มีรายได้เข้ามา ต้องใช้เงินเก็บออกมาจ่ายเป็นค่าบริหารจัดการสวนสัตว์ รวมถึงเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ด้วย มาถึงตอนนี้รายได้ก็เริ่มฟื้นตัว ณ วันที่ 3 มีนาคม 2566 มีจำนวนผู้เข้าชมสวนสัตว์ทั้งหมด 3,100,249 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติ 29,253 คน สรุปรายได้ล่าสุด ณ ปีงบประมาณ 2565 ปรากฏรายได้นอกงบประมาณ 396,380,075.27 บาท มีค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 390,305,116.28 บาท หรือมีกำไรจากการดำเนินงานเพียง 6,074,958.99 บาทเท่านั้น” นายอรรถพร กล่าว

ส่วนคำถามที่ว่า หลังจากปรับขึ้นอัตราค่าเข้าชมสวนสัตว์หลังวันที่ 1 ต.ค.แล้ว แน่นอนว่า คุณภาพในการให้บริการของสวนสัตว์จะต้องดีขึ้น มีส่วนแสดงสัตว์ใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งตามความจริงแล้ว สวนสัตว์ปรับปรุงการให้บริการมาโดยตลอด เรียกว่า “ทุกอย่างมันมีการปรับปรุงไปก่อนหน้านี้แล้ว การขึ้นค่าตั๋วจึงเป็นการขึ้นราคาตามหลังบริการ ทั้ง ๆ ที่ต้นทุนการดำเนินกิจการของเรามันปรับขึ้นไปมากกว่านี้แล้ว” นายอรรถพรกล่าว โดยในอนาคตสวนสัตว์มีโครงการหารายได้เพิ่มขึ้น ด้วยการเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลเช่าพื้นที่ที่มีศักยภาพในสวนสัตว์แต่ละแห่ง