‘ทีมแพทย์สหรัฐฯ’ ปลูกถ่ายหัวใจหมูในมนุษย์ สำเร็จรายที่ 2 ของโลก จุดความหวังใหม่ให้มนุษยชาติ แก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะมนุษย์

(24 ก.ย. 66) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจให้กับ ‘นายลอว์เรนซ์ ฟาเซ็ตต์’ ทหารผ่านศึกของกองทัพเรือสหรัฐฯ วัย 58 ปี โดยใช้หัวใจหมูที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม ทำให้เขากลายเป็นคนไข้คนที่ 2 ของโลกที่ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจหมูในมนุษย์

ก่อนหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์เคยผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจหมูให้กับคนไข้รายหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม คนไข้คนดังกล่าวเสียชีวิตหลังการผ่าตัด 2 เดือนต่อมาเนื่องจากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงสุขภาพของคนไข้ที่ไม่ดีก่อนหน้าการผ่าตัด

ทั้งนี้ การปลูกถ่ายหัวใจหมูในมนุษย์ครั้งล่าสุดได้มีขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20 ก.ย.) ให้แก่นายฟาเซ็ตต์ ผู้ไม่สามารถเข้ารับการบริจาคหัวใจมนุษย์ได้ เนื่องจากป่วยด้วยโรคหลอดเลือดและมีอาการแทรกซ้อนจากการเลือดออกภายใน หากเขาไม่ได้เข้ารับการปลูกถ่ายหัวใจดังกล่าว นายฟาเซ็ตต์อาจมีอาการหัวใจล้มเหลวในอนาคตอันใกล้

ฟาเซ็ตต์กล่าวก่อนหน้าการผ่าตัดว่า “ความหวังสุดท้ายที่ผมมี คือ การใช้หัวใจหมูในการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสปีชีส์ หรือที่เรียกในทางการแพทย์ว่า ‘Xenotransplantation’ แต่อย่างน้อยตอนนี้ผมก็มีหวังแล้ว” ภายหลังจากการผ่าตัด มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ระบุว่า นายฟาเซ็ตต์สามารถหายใจได้ด้วยตนเองและหัวใจใหม่ของเขากำลังทำงานได้ดี โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือต่างๆ ช่วยเหลือ รวมถึงสามารถนั่งบนเก้าอี้และหยอกล้อกับคนอื่นๆ ได้แล้ว โดยขณะนี้เขากำลังรับยาต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายของเขาทำลาย หรือต่อต้านอวัยวะใหม่การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสปีชีส์นั้น อาจสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะมนุษย์อย่างรุนแรง

โดยขณะนี้มีชาวอเมริกันกว่า 1 แสนคน กำลังรอเข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ อย่างไรก็ดี การปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสปีชีส์นั้นมีความท้าทายมาก เพราะระบบภูมิคุ้มกันของคนไข้จะโจมตีอวัยวะใหม่ที่เพิ่งได้รับการปลูกถ่าย