‘แอชตัน อโศก’ กว้านซื้อตึกแถว หวังหาทางออกให้ลูกบ้าน ชี้!! แพงแค่ไหนก็ต้องยอมจ่าย แลกกับการไม่ต้องทุบตึกทิ้ง

‘แอชตัน อโศก’ วงการอสังหาฯ ชี้ อนันดาฯ น่าจะต้องกว้านซื้อตึกแถวหาทางออกให้กับลูกบ้าน แล้วยื่นขออนุญาตก่อสร้างกับ กทม.ใหม่ เชื่อ แพงแค่ไหนก็ต้องยอมจ่าย แลกกับการไม่ต้องทุบตึกทิ้ง ฟาก กทม.เตรียมปฎิบัติตามคำสั่งศาล

(30 ก.ค. 66) หลายสำนักข่าวรายงานว่า คดีแอชตันอโศกได้สร้างแรงกระเพื่อมให้ทั้งวงการอสังหาริมทรัพย์และหน่วยงานราชการ พลันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการ ‘แอชตัน อโศก’ ในซอยสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งร่วมทุนกับมิตซุย ฟูโดซัง บิ๊กทรีธุรกิจอสังหาจากประเทศญี่ปุ่น

เนื่องจากที่ดินใช้ก่อสร้างอาคารโครงการ ไม่เป็นไปตามที่กฎกระทรวงฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนด เพราะไม่มีเขตที่ดินด้านหนึ่งด้านใดที่เป็นทางเข้าออกกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรยาวต่อเนื่องกัน และใบอนุญาตการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นทางเข้าออกสาธารณะได้นั้น ขัดต่อวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนที่ดิน

จากคำพิพากษาถือว่าเป็นที่สิ้นสุดที่ออกมาเมื่อบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 แบบสดๆ ร้อนๆ โดยทางผู้บริหารของอนันดาฯ ขอเวลา 14 วัน เพื่อหารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร(กทม.) และ รฟม. เพื่อหาทางออกของปัญหา แม้จะยังไม่รู้ว่าจะมีปฎิหาริย์โดยไม่ต้องทุบตึกทิ้งหรือไม่

สำหรับโครงการคอนโดมิเนียมสุดหรู ‘แอชตัน อโศก’ มีเนื้อที่กว่า 2 ไร่ สร้างเป็นอาคารสูง 51 ชั้น รวมชั้นใต้ดิน มีจำนวน 783 ยูนิต ที่จอดรถ 371 คัน ลิฟต์โดยสาร 6 ตัว ราคาขายเริ่มต้น 7 ล้านบาท หลังเปิดขายเมื่อปี 2557 สามารถปิดการขายไม่ถึง 1 เดือน

จากนั้นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ยื่นก่อสร้างอาคาร ตามมาตรา 39 ทวิ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 จาก กทม.และเริ่มก่อสร้างจนแล้วเสร็จ

เริ่มโอนกรรมสิทธิ์มาตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันขายและมีส่งมอบไปแล้ว 87% จำนวน 668 ยูนิต กว่า 5,653 ล้านบาท มีลูกบ้านทั้งคนไทยและต่างชาติอยู่อาศัยแล้ว 580 ครอบครัว

ย้อนดูแปลงที่ดินที่ตั้งโครงการ ที่อนันดาฯ ซื้อเป็นการรวบรวมซื้อ 3 แปลง รวมที่ดินยังเหลือจากการที่ถูกเวนคืน จาก รฟม.เพื่อสร้างรถไฟฟ้า เมื่อปี 2539 ซึ่งเป็นที่ตาบอดไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ เพราะ รฟม.เวนคืนที่ดินด้านหน้าติดถนน ซึ่ง รฟม.เยียวยาผู้ถูกเวนคืนโดยเปิดเป็นทางจำเป็นกว้าง 6.40 เมตรให้เข้าออก

แต่ด้วยขนาดถนน 6.40 เมตร ไม่พอต่อการสร้างอาคารขนาดใหญ่ ในปี 2557 อนันดาฯ ได้ยื่นต่อ รฟม.ขอขยายถนนทางเข้าออก เป็น 13 เมตร พร้อมจ่ายค่าตอบแทนให้ 97 ล้านบาท โดยได้ออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 แต่ยังมีประเด็นฟ้องร้องทาง รฟม.จึงยังไม่รับเงินก้อนดังกล่าว

เรียกว่าโครงการอยู่บนทำเลทอง เป็นย่านธุรกิจ มีรถไฟฟ้า 2 สาย 2 สี ‘MRT-BTS’ เชื่อมการการเดินทาง และใกล้ศูนย์การค้าดังเทอร์มินัล 21

ขณะที่ราคาที่ดินติดถนนสุขุมวิท 21 ปรับเพิ่มขึ้นปีละ 11.35% จากเมื่อปลายปี 2558 ราคาตลาดที่ประเมินไว้อยู่ที่ 1.1 ล้านบาทต่อตารางวา ขณะนี้ราคาอยู่ที่ 2.6 ล้านบาทต่อตารางวา

ถามว่าเมื่อคดีเป็นที่สิ้นสุด ใบอนุญาตก่อสร้างเป็นโมฆะ ทางผ่านด้านติด MRT ถูกปิดตาย เพราะศาลชี้ชัดว่า ‘ไม่ใช่เป็นทางสาธารณะ’ แล้วทางออกของ ‘แอชตัน อโศก’ อยู่ตรงไหน

แหล่งข่าวจากวงการอสังหาริมทรัพย์ และ กทม.ฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่ามีทางออกเดียว คือ ต้องหาทางออกเป็นถนนกว้าง 12 เมตรติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร มี 2 ทางคือ ซื้อตึกแถวขยายทางเดิมให้ถึง 12 เมตร ไปออกซอยสุขุมวิท19 กับอีกทางซื้อที่ดินเพิ่มด้านใต้ซึ่งมีอยู่ 1 แปลง เป็นที่ตั้งสมาคมแห่งหนึ่ง เพื่อออกถนนอโศกมนตรี และยื่นขออนุญาตก่อสร้างกับ กทม.ใหม่

“ตอนนี้อนันดาต้องลงทุนซื้อตึกแถวหรือที่ดิน เพื่อทำทางออกให้ได้ 12 เมตร แพงเท่าไหร่ก็ต้องซื้อ แลกกับการที่ไม่ต้องทุบตึก 6,400 ล้านบาท วิธีนี้น่าเป็นทางออกให้กับลูกบ้านและบริษัทที่ดีที่สุดแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกทมกล่าวเพิ่มเติมว่า กทม.พร้อมปฎิบัติตามคำสั่งศาลฯ ทั้งนี้ตามขั้นตอนทางสำนักงานเขตวัฒนาต้องออกคำสั่งตามมาตรา 40 และมาตรา 41 ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ให้เจ้าของอาคารระงับการใช้อาคารและให้ยื่นขออนุญาตเปลี่ยนแปลงทำให้ถูกต้องตามกฎหมายในเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของบริษัทด้วย

ขณะที่ ‘ชานนท์ เรืองกฤตยา’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวก่อนหน้านี้ ระบุว่า คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่บริษัทก็ไม่ได้คาดว่าจะเกิดขึ้นถึงขนาดนี้

ชานนท์ยังตั้งคำถามว่า แล้วจะแก้ปัญหาร่วมกันกับภาครัฐในฐานะผู้ถูกฟ้องยังไง ในกรณีนี้ อนันดาฯ ก็เป็นหนึ่งในประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

“ผมเองก็ยังเกาหัวเหมือนกัน ก็คิดว่าทางศาลสูงจะแก้ปัญหาสังคมยังไง เราเองก็ยังคิดไม่ออก ขอให้ภาครัฐ หลัก ๆ น่าจะเป็นทาง กทม. กับ รฟม.ช่วยหาทางออก ช่วยเรากับลูกค้าของเรา ว่ายังไงบ้าง อันนี้ก็ต้องด่วนเร็วที่สุด” นายชานนท์กล่าวในการแถลงข่าวผ่านระบบ zoom มาจากสหรัฐอเมริกา

ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ อยู่ที่ ‘อนันดาฯ’ จะเลือกทางไหน