ภาคตลาดทุนไทย ผสานมือทลายแก๊งต้มตุ๋นตลาดทุน หลังพบเพจอ้างคนดังหลอกลงทุนระบาดหนัก 

ภาคตลาดทุนไทย ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ‘ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน’ รณรงค์สร้างภูมิคุ้มกันประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ หลังพบคดีหลอกลงทุนออนไลน์ระบาดหนักในนี้ ประเมินความเสียหายกว่า 10,000 ล้านบาท

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหามิจฉาชีพชักชวนลงทุนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมีเป็นจำนวนมาก มีการแอบอ้างองค์กร ชื่อ ภาพ ผู้บริหารของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ หลอกลวงให้มาลงทุน สร้างความเสียหายแก่ประชาชน ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีความเสียหายสูงถึงกว่า 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะแพลตฟอร์มการลงทุนของประเทศ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาคตลาดทุน จัดทำโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” โดยในระยะแรก จะร่วมกันสื่อสารข้อเท็จจริง พร้อมชี้เป้าข่าวเท็จ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ผู้ลงทุนและประชาชนไม่ให้เป็นเหยื่อมิจฉาชีพ และในระยะถัดไป จะทำงานร่วมกันทั้งภาคตลาดทุนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนากระบวนการในการจับปลอมหลอกลงทุนได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“เรื่องนี้ เป็นเรื่องสําคัญที่ทุกคนจะต้องตระหนัก ก่อนการตัดสินใจลงทุนกับใครก็ตาม จะต้องตรวจสอบข้อมูลให้ดี ว่าบริษัทดังกล่าวมีจริงหรือไม่ ถ้ามีจริง ก็ต้องดูต่อไปว่า กลต. ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้กํากับดูแลได้อนุญาตให้มีการชักชวนแบบนี้หรือเปล่า? และหากพบว่าเป็นข่าวปลอม ขอให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันที เพื่อจะรวบรวมข้อมูลนำไปเปิดเผยให้กับประชาชนได้ทราบต่อไป”

นายภากร ย้ำว่า ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะสามารถแก้ไขได้ โดยเฟสแรกสิ่งที่องค์กรพันธมิตรจะร่วมกันทําคือ การสื่อสารการตีแผ่ข้อเท็จจริง ชี้เป้าข่าวเท็จควบคู่ไปกับการเตือน เพื่อตอกย้ำให้ความรู้และ สร้างภูมิคุ้มครองให้กับนักลงทุน ส่วนในในเฟสที่สอง จะบูรณาการทํางานร่วมกันทั้งภาคตลาดทุนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนากระบวนการจับปลอมหล่อลงทุนให้ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การรับแจ้งเบาะแส การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน การติดตามการตรวจสอบ การประกาศแจ้งเตือนและการดําเนินการทางกฎหมาย ซึ่งการทํางานในวิธีการป้องกันแบบนี้ เชื่อว่าจะเป็นทั้งการป้องกัน และเป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างครบวงจร ซึ่งจะทําให้ประชาชนปลอดภัยจากการหลอกลวงประเภทนี้ได้มากขึ้นในอนาคต

ด้านดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2565 ถึงปัจจุบัน มีคดีเกี่ยวกับการหลอกลงทุนสูงถึง 20,667 คิดเป็นเม็ดเงินกว่าสองหมื่นล้านบาท ที่ผ่านมาได้ดำเนินการจับกุมคนกระทำผิดมาแล้วหลายราย ล่าสุดอย่างกรณีของคุณวิกรม กรมดิษฐ์ เคยจับไปแล้วก่อนหน้านี้ห้าสิบกว่าคน ครั้งเนี้ยก็จับอีกเกือบสิบคน แต่ก็ต้องยอมรับว่า ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในประเทศไทย ส่วนคนที่เป็นมาสเตอร์มายด์ หรือหัวโจก ที่เป็นเจ้าของไอเดีย เจ้าของแก๊งตัวจริง ยังหลุดรอดอยู่ เพราะโดยมากจะเป็นชาวต่างชาติ และไม่ได้อยู่ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังไม่สามารถจับตัวการใหญ่ได้ แต่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างเข้มข้น โดยหลักการ คือ เน้นเล่นงานบัญชีม้า ใครไปเปิดบัญชีม้าให้คนร้ายะมีโทษหนักขึ้น อาจจะติดคุกถึงห้าปีได้ ส่วนใครที่เป็นนายหน้าโทษก็จะหนักยิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถจัดการปิดบัญชีม้าได้หมด ชาวต่างชาติจะมาโกง ก็ไม่สามารถจะมาทําได้ง่าย ๆ อีกต่อไป การโอนเงินต่างจะทําได้ยาก สุดท้ายเชื่อว่าจะลดอาชญากรรมได้อย่างแน่นอน

ขณะที่ นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและถูกมิจฉาชีพแอบอ้างมากที่สุดท่านหนึ่ง ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวนี้ ว่า จากการติดตามข้อมูลคิดว่าน่าจะมีคนเสียหายหลายร้อยล้านบาท เพราะฉะนั้นอยากจะขอย้ำเตือนให้นักลงทุนทุกท่านทราบว่า ทางบริษัทอมตะ และตัวผมเองไม่มีนโยบายชวนใครมาลงทุน ทั้งในด้านส่วนตัวหรือบริษัท ส่วนการลงทุนของอมตะฯ มีแค่แหล่งเดียวคือตลาดหลักทรัพย์ฯ ซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น อย่าไปซื้อผ่านที่อื่น

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถ ‘ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน’ โดยช่วยกันตรวจสอบ หากพบเห็นการเชิญชวนลงทุนโดยให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงภายในระยะเวลาอันสั้น หรือแอบอ้างองค์กรและบุคคลที่มีชื่อเสียง อย่าเพิ่งหลงเชื่อร่วมลงทุน และควรตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ ให้สอบถามไปยังองค์กรที่ถูกอ้างถึงโดยตรง หรือตรวจสอบรายชื่อบุคคล ผู้ประกอบธุรกิจหรือบริการทางการเงินว่าได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล