จับตา!! เศรษฐกิจจีนซบเซา สะเทือนเศรษฐกิจโลก ชี้!! หากหวัง ศก.หวนคืน ต้องปรับท่าทีแบบ 'เติ้ง เสี่ยวผิง

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นของเศรษฐกิจจีนที่เริ่มอ่อนแอลง ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยหรือไม่อย่างไร โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

นับจากจีนภายใต้การนำของประธานเติ้ง เสี่ยวผิงปฏิรูปและเปิดเสรีประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในปี ค.ศ. 2001 การค้าการลงทุนระหว่างประเทศได้เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี ถือเป็นความสำเร็จที่ทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เทียบเคียงได้กับสหรัฐอเมริกา จนทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศนี้ได้เปลี่ยนจากมิตรมาเป็นคู่แข่งและศัตรูอย่างที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสองได้ทวีความรุนแรงขึ้นภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สี จิ้นผิง ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวกับตะวันตก และเพิ่มบทบาทภาครัฐและพรรคคอมมิวนิสต์ในการแทรกแซงการทำธุรกิจของภาคเอกชน 

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะหลัง เริ่มลดต่ำเหลือเพียง 5% ต่อปี และยิ่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มีการปิดประเทศเกือบ 3 ปี ทำให้เศรษฐกิจจีนอ่อนแอลงอย่างมาก ถึงแม้จะเร่งเปิดประเทศเมื่อต้นปีนี้ จีนก็ไม่สามารถกลับมาเข้มแข็งได้เหมือนเดิม อุตสาหกรรมสำคัญหลายอุตสาหกรรมมีแนวโน้มไม่ดีนัก อาทิ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ตลอดจนปัญหาหนี้สินที่ยังเป็นตัวถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลายฝ่ายเริ่มมีความเห็นว่าจีนน่าจะอยู่ในช่วงขาลงและไม่สามารถคงความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจได้อีกต่อไป

อ.พงษ์ภาณุ กล่าวต่อว่า หากจีนจะกลับมาเติบโตเหมือนเดิม และทำให้โลกสามารถลดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วยได้นั้น จำเป็นที่สี จิ้นผิง จะต้องปรับเปลี่ยนแนวนโยบายของจีนใหม่ ตามแนวที่เติ้ง เสี่ยวผิง และประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนหน้า 2-3 คนได้วางไว้ กล่าวคือ เคารพกฎกติกาสากลและระเบียบโลก รวมทั้งลดการแทรกแซงของภาครัฐและดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรกับตลาดมากขึ้น 

ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทยเอง ก็เรียกได้ว่า พึ่งพาจีนค่อนข้างมากเป็นพิเศษ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งตรงนี้ไทยก็จำเป็นต้องบริหารความเสี่ยง และปรับเปลี่ยนนโยบายการทูต การต่างประเทศให้มีความสมดุลต่อไปด้วย