‘พงษ์ภาณุ’ แนะดู ‘อินเดีย’ เป็นแบบอย่าง หลังผงาดทาบรัศมีมหาอำนาจโลก

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 66 โดยระบุว่า ในความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลก อินเดียได้กลายเป็นประเทศที่เนื้อหอมที่สุดในสายตามหาอำนาจของโลก สัปดาห์ที่ผ่านมาประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐ อเมริกา ได้เชิญนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดีมาเยือนสหรัฐฯ แบบ state visit และกล่าวปาฐกถาในการประชุมร่วมของสภาคองเกรสอีกด้วย ถือเป็นเกียรติอย่างสูงที่ผู้นำประเทศน้อยคนจะได้รับ

ประเทศไทย สามารถเรียนรู้จากความสำเร็จของอินเดียได้ในหลายมิติ อินเดียภายใต้ผู้นำ นเรนทรา โมดี ได้มีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน จนปัจจุบันมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็วและทั่วถึง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ปัจจุบันคนเชื้อสายอินเดียที่อาศัยอยู่นอกประเทศประสบความสำเร็จก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลและธุรกิจสำคัญหลายแห่ง

นโยบายการทูตและการต่างประเทศที่มีความสมดุล (Balance) เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้อินเดียได้ประโยชน์จากโอกาสทางเศรษฐกิจที่เปิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และขั้วอำนาจโลก อินเดียเริ่มเอนเอียงเข้าหาสหรัฐฯและตะวันตกมากขึ้น หลังจากอิงรัสเซียมาตลอดหลังได้อิสรภาพ ด้วยเล็งเห็นโอกาสจาก Global Supply Chains ที่กำลังกระจายออกจากจีน และจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกำลังเปลี่ยนโฉมอย่างมีนัยสำคัญ ย่างก้าวของอินเดียอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าอำนาจเก่าในรัสเซียกำลังถดถอยลง

พร้อมกันนี้ นายพงษ์ภาณุ ยังแนะด้วยว่า ควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด เหตุค่าเงินเยนของญี่ปุ่นได้ตกต่ำมาเป็นระยะหนึ่งและยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว อีกทั้งยังไม่มีสัญญาณใดที่บ่งบอกว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากกลัวว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะกลับเข้าสู่ภาวะตกต่ำอีก ผลจากค่าเงินเยนตกต่ำทำให้ดุลการท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ วันนี้คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นมากกว่านักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่มาเมืองไทยแล้ว การค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศก็กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงด้วย