‘อุตสาหกรรม AV’ แหล่งผลิตรายได้มหาศาลของประเทศ กับการล่วงละเมิดเด็กผู้หญิง ที่คนในสังคมยอมปิดตาข้างหนึ่ง


‘JK business’ ธุรกิจด้านมืดของญี่ปุ่น

‘ประเทศญี่ปุ่น’ เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า เป็นประเทศที่เจริญเป็นอันดับ 1 ของทวีปเอเชีย และอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ในความเจริญก้าวหน้าแบบสุดล้ำของญี่ปุ่นนั้น ก็ยังคงมีด้านมืดอยู่เฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ บนโลกใบนี้ ครั้งนี้จะขอหยิบยกเอาเฉพาะเรื่องราวที่มีความน่าสนใจมาก ๆ มาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้ก่อน เรื่องราวที่มีความน่าสนใจรองลงมาจะได้นำมาเล่าเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป


ด้วยเหตุที่รายได้สำคัญส่วนหนึ่งของรัฐฯ มาจาก ‘อุตสาหกรรมสื่อลามก’ (Adult video : AV) เพราะอุตสาหกรรมหนังโป๊ในญี่ปุ่นผุดขึ้นทั่วไปทุกหนทุกแห่ง จนกล่าวกันว่า อุตสาหกรรมหนัง AV เป็นตัวสร้างรายได้เข้ารัฐฯ รายใหญ่ รองจากอุตสาหกรรมยานยนต์ แม้แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ปกติธรรมดา ก็กลายเป็นผลประโยชน์ของเหล่าบรรดายากูซ่านักเลงใหญ่ของญี่ปุ่นไปด้วย ผลประโยชน์อันมหาศาลของอุตสาหกรรม AV นี้กลายเป็นที่แหล่งรายได้ ซึ่งเป็นที่ต้องการของสาวญี่ปุ่นมากมายในฐานะตัวเลือกที่เป็นได้ทั้งอาชีพหลักและรายได้เสริม รวมไปถึงนักเรียน-นักศึกษาที่หลงเข้ามาและไม่สามารถออกจากโลกมืดนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็เข้าไปสู่วงการค้าประเวณีในหมู่วัยรุ่นและนักศึกษา ธุรกิจมืดนี้เรียกกันทั่วไปว่า ‘Joshi Kosei’ หรือ ‘JK business’


‘JK business’ เป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการออกเดตหลอก ๆ กับสาวมัธยมปลาย เกิดขึ้นในราวปี ค.ศ. 2006 หลังจากที่ Maid café เป็นที่นิยมของบรรดาหนุ่ม ๆ นักเที่ยวในย่านอากิฮาบาระ กรุงโตเกียว ได้ยุติลง ทำให้ JK business เข้ามาแทนที่ ตัวย่อ ‘JK’ ย่อมาจาก ‘Joshi Kosei’ (女子高生) แปลว่า ‘นักเรียนมัธยมหญิง’ โดยหญิงสาวใน JK business ได้รับค่าจ้างสำหรับกิจกรรมทางสังคม เช่น การเดินและการพูดคุย และบางครั้งเป็นการทำนายโชคชะตา และอีกกิจกรรมหนึ่งคือ ‘การนวดกดจุด’


ในปี ค.ศ.2017 รายงานการค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่น ‘ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างครบถ้วนในการกำจัดการค้ามนุษย์’ และยังคง ‘อำนวยความสะดวกในการค้าประเวณีเด็กสาวญี่ปุ่น’ ต่อไป ญี่ปุ่นได้รับการยกระดับเป็นสถานะ ‘Tier 1’ (ประเทศที่รัฐบาลปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายตามรัฐบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และความรุนแรง ค.ศ. 2000 (TVPA) อย่างเต็มที่) ในช่วงสั้น ๆ ในรายงานปี ค.ศ. 2018 และ 2019 แต่ได้ถูกลดระดับอีกครั้งเป็นสถานะ ‘Tier 2’ ในรายงานของปี ค.ศ. 2020, 2021 และ 2022

‘Yumeno Nito’ ผู้ก่อตั้งองค์กร Colabo

‘Yumeno Nito’ ผู้ก่อตั้งองค์กร Colabo* ได้วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเพิกเฉยของรัฐบาลต่อปัญหานี้อย่างรุนแรง นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมอธิบายว่า “ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมที่น่าละอาย สร้างอุปสรรคไม่ให้วัยรุ่นที่หลบหนีกลับไปอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง ทำให้พวกเขาเสี่ยงที่จะถูกล่อลวง หรือบังคับให้เข้าสู่อุตสาหกรรมบริการทางเพศของหญิงสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ”


รถบัสสีชมพูที่ของ Colabo ทำหน้าที่เป็นจุดพึ่งพิงสำหรับหญิงสาวอายุต่ำกว่า 18 ปี

*Colabo ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรของญี่ปุ่น ที่ช่วยเหลือเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศด้วยการให้คำปรึกษา และเชื่อมโยงพวกเขากับโครงการสนับสนุนของรัฐบาล ให้บริการเด็กสาววัยรุ่น ซึ่งหลายคนพบในสถานบันเทิงยามค่ำคืนของญี่ปุ่น การบริการของ Colabo รวมถึงรถบัสสีชมพูที่ทำหน้าที่เป็นจุดพึ่งพิงสำหรับหญิงสาวอายุต่ำกว่า 18 ปี เพื่อปรึกษา พูคุย รับประทานอาหาร และสร้างสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ของ Colabo


กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับ JK business เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายจังหวัดในญี่ปุ่น ได้ดำเนินนโยบายและบังคับใช้กฎหมายเพื่อปราบปราม JK business เพราะอาจนำไปสู่การค้าประเวณีของหญิงสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หลายจังหวัดได้แก้ไขกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชนประจำจังหวัด เพื่อห้ามการทำ JK business จังหวัดคานางาวะเป็นจังหวัดแรกที่ดำเนินการแก้ไขกฎหมาย เพื่อควบคุม JK business ในปี ค.ศ. 2011 และในปี ค.ศ. 2014 ตำรวจคานางาวะได้เข้มงวดเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการขายบริการทางเพศ ของเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำให้จำนวนสถานบริการที่มีหญิงสาวอายุต่ำกว่า 18 ปีให้บริการในพื้นที่ลดจำนวนลงอย่างมาก


ในปี ค.ศ.2017 สภากรุงโตเกียวได้ออกกฎหมายหลักที่กำหนดเป้าหมาย เพื่อจัดการกับ JK business โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่นที่ทำเช่นนั้น ก่อนหน้านี้ ตำรวจนครบาลโตเกียวซึ่งครอบคลุมกรุงโตเกียวได้ปราบปราม JK business และจับกุมเด็กหญิงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยใช้กฎหมายมาตรฐานแรงงานแห่งชาติ ธุรกิจที่กระทบต่อกฎหมายระเบียบศีลธรรมสาธารณะ และกฎหมายสวัสดิการเด็ก กฎหมายใหม่นี้ขยายขอบเขตของอุตสาหกรรม ที่ได้รับการควบคุมนอกเหนือจากการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชนของนครโตเกียวฉบับก่อนหน้า กฎหมายห้ามผู้เยาว์มีส่วนร่วมในกิจกรรม ที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นทางเพศของลูกค้าเพศตรงข้าม เช่น การนวด การอนุญาตให้ลูกค้าถ่ายรูปหรือดูรูปถ่ายของตนเอง การมีส่วนร่วมในการสนทนากับลูกค้า การเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มแก่ลูกค้า และการไปเดินเล่นกับลูกค้า อย่างไรก็ตาม หากการกระทำเหล่านี้ไม่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นทางเพศของลูกค้า ก็ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังห้ามโฆษณาที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า มีเด็กหญิงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะทำงานในสถานประกอบการ แม้ว่าจะไม่มีพนักงานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะทำงานอยู่เลยก็ตาม ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายนี้ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน


ในปี ค.ศ.2018 จังหวัดโอซาก้าได้แก้ไขกฎหมายคุ้มครองเยาวชนของจังหวัด เพื่อกำหนดกฎระเบียบที่คล้ายคลึงกันกับของกรุงโตเกียว เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้เยาว์ ผู้กระทำผิดมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 เยน แม้ว่าธุรกิจจะเลิกจ้างพนักงานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะแล้ว หลังการตัดสิน ทางการอาจออกคำสั่งระงับการดำเนินธุรกิจเป็นเวลา 6 เดือน การละเมิดคำสั่งนี้อาจส่งผลให้ถูกจำคุกสูงสุด 1 ปี หรือปรับสูงสุด 500,000 เยน และชื่อของสถานประกอบการจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะอีกด้วย


จากการสำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ณ สิ้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 2021 มีสถานประกอบการที่ประกอบการ JK business ทั่วประเทศ 131 แห่ง ในจำนวนนี้ให้บริการนวดแก่ลูกค้า 99 ราย ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม 22 ราย ให้ลูกค้าถ่ายรูปหรือดูรูป 7 ราย และทำกิจกรรม เช่น พูดคุย เล่นเกม หรือดูดวงกับลูกค้า 3 ราย โดย 71% ของสถานประกอบการที่ดำเนินการ JK business ตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว ในขณะที่ 20% ตั้งอยู่ในนครโอซาก้า ที่อยู่ในกรุงโตเกียว 29% ตั้งอยู่ในย่านอากิฮาบาระ 29% ในย่านอิเคะบุคุโระ และ 12% ในย่านชินจูกุ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวนธุรกิจที่ประกาศไม่ใช่จำนวนธุรกิจที่มีหญิงสาวอายุต่ำกว่า 18 ปี คอยให้บริการลูกค้าจริง ๆ แต่เป็นจำนวนธุรกิจที่โฆษณาว่า มีนักเรียนหญิงมัธยมปลายให้บริการลูกค้า ในสังคมญี่ปุ่นจะยอมรับในสิ่งเหล่านี้ แม้ว่าตัวพวกเขาเองจะเข้าใจว่าการปฏิบัตินั้นถูกตัดสินในทางลบก็ตาม เพราะชาวญี่ปุ่นจะไม่สร้างความเดือดร้อน หรือรบกวนคนรอบข้าง ดังนั้น พวกเขาจึงชอบที่จะจัดการเรื่องของตัวเองมากกว่าที่จะยุ่งเรื่องของคนอื่น


ปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับการค้าประเวณีผู้ใหญ่และเด็ก พระราชบัญญัติความมั่นคงในการจ้างงาน (ESA) และพระราชบัญญัติมาตรฐานแรงงาน (LSA) บังคับใช้แรงงานที่มีความผิดทางอาญา ซึ่งคุ้มครองเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจของคนงาน และเป็นมาตรการต่อต้านการค้ามนุษย์ทางเพศ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการควบคุมและการลงโทษ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีเด็กและภาพอนาจารและการคุ้มครองเด็ก” ได้กำหนดให้มีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศในเชิงพาณิชย์จากเด็ก รวมทั้งการซื้อหรือขายเด็ก เพื่อวัตถุประสงค์ในการผลิตภาพอนาจารเด็กหรือการค้าประเวณี


เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 2013 มีมติของคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเกี่ยวกับ ‘นโยบายพื้นฐานเกี่ยวกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่อต้านการแสวงประโยชน์ทางเพศต่อเด็ก’ การตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้นเพื่อกำจัดการตกเป็นเหยื่อทางเพศของเด็กหญิง ซึ่งเป็นผลมาจากการค้าประเวณีเด็กและการผลิตภาพอนาจารเด็ก คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ ได้รับมอบหมายให้ควบคุมมาตรการโดยรวมต่อการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ตำรวจยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีเด็ก จังหวัดหลัก 7 แห่ง ยังคงใช้กฎหมายห้ามประกอบการ JK business ห้ามหญิงสาวอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในบริการหาคู่โดยได้รับค่าตอบแทน หรือกำหนดให้เจ้าของ JK business ลงทะเบียนบัญชีรายชื่อพนักงานกับคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะในท้องถิ่น เป็นต้น โดยปัจจุบันนี้ ญี่ปุ่นยังคงเป็นสถานะ ‘Tier 2’ ในรายงานการค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประจำปี ค.ศ.2022 ซึ่งอยู่ในสถานะที่เท่ากันกับประเทศไทยของเรา


เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล