‘ฟอร์ด’ เตือน ให้เตรียมพร้อมรับมือ รถอีวีจากจีน บุกสหรัฐฯ ชี้อเมริกายังผลิตสู้ไม่ได้

นายบิลล์ ฟอร์ด จูเนียร์ ประธานกรรมการบริหารของฟอร์ด ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ฟารีด ซาคาเรีย จีพีเอส” ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นเมื่อวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) ว่า สหรัฐฯ ยังไม่มีความพร้อมที่จะผลิตรถอีวีออกมาแข่งขันกับจีน ซึ่งมีการพัฒนาอย่างขนานใหญ่ไปรวดเร็วมาก และขณะนี้กำลังมีการส่งออกแล้ว โดยถึงแม้รถอีวีจากแดนมังกรยังไม่บุกตลาดสหรัฐฯ แต่สักวันหนี่งก็จะมาแน่ๆ ซึ่งสหรัฐฯ ต้องเตรียมตัวให้พร้อม และบริษัทของเขากำลังเตรียมการสำหรับการแข่งขันเช่นกัน

ผู้เป็นเหลนของนายเฮนรี ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์ฟอร์ด หมายถึงโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มูลค่า 3,500 ล้าน ซึ่งเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา บริษัทฟอร์ดได้ประกาศแผนการลงทุนก่อสร้าง แต่ทำให้เกิดข้อถกเถียงในหมู่นักการเมืองสหรัฐฯ เนื่องจากฟอร์ดมีการทำข้อตกลงที่จะใช้เทคโนโลยีจากบริษัทคอนเทมโพรารี แอมเพอเร็กซ์ เทคโนโลยี (Contemporary Amperex Technology หรือ CATL) ผู้ผลิตแบตเตอรี่ของจีน โดยวุฒิสมาชิกมาร์โก รูบิโอ ขอให้รัฐบาลของประธานาธิบดี โจ ไบเดน พิจารณาทบทวนการทำข้อตกลงนี้

นายฟอร์ด จูเนียร์ ชี้แจงในรายการว่า โรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่รัฐมิชิแกนจะเป็นโอกาสให้วิศวกรของฟอร์ดได้เรียนรู้เทคโนโลยีและสามารถนำมาใช้ด้วยตนเอง โดยบริษัทฟอร์ดเป็นเจ้าของโรงงานแห่งนี้แต่ผู้เดียว อีกทั้งบริษัทกำลังดำเนินการเพื่อได้รับสิทธิในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวด้วย นอกจากนั้น เขายังคัดค้านความคิดที่ว่า การมีฐานผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ จะทำให้รถยนต์มีราคาสูงขึ้น แต่กลับเห็นว่า จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

นายจิม ฟาร์ลีย์ ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฟอร์ด เคยออกมาเตือนครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาว่า ผู้ผลิตรถอีวีของจีนคือคู่แข่งสำคัญของสหรัฐฯ ไม่ใช่บริษัทจีเอ็ม หรือโตโยต้า ฉะนั้น ฟอร์ดจึงจำเป็นต้องสร้างแบรนด์ที่โดดเด่น หรือผลิตรถราคาถูกกว่าเพื่อเอาชนะคู่แข่ง

ทั้งนี้ ตลาดรถอีวีในยุโรปถูกจีนบุกไปเรียบร้อยแล้ว โดยรถยนต์ผลิตในจีนที่ขายส่วนใหญ่เป็นรถอีวีจากบริษัทเทสลา ส่วนแบรนด์รถยุโรป ซึ่งถูกบริษัทจีนซื้อกิจการ เช่น วอลโว และเอ็มจี หรือรถแบบอื่นๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้าของดาเซียสปริง (Dacia Spring) หรือบีเอ็มดับบลิว ไอเอ็กซ์3 (BMW iX3) ก็ผูกขาดผลิตอยู่แต่ในจีนเท่านั้น

นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา รถยนต์ที่ผลิตในจีนมีการส่งออกเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าถึงกว่า 2 ล้าน 5 แสนคันเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการท้าทายชาติผู้ส่งออกแต่เดิมมา เช่น เยอรมนี โดยจีนเตรียมขึ้นแท่นชาติผู้ส่งออกรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งอาจทำให้โฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์ในโลกเปลี่ยนไป