‘พระปัญญาวชิรโมลี’ สุดยินดี แนวคิด ‘โรงเรียนเสียดายแดด’ ถูกนักวิจัยมหิดลนำไปทำวิทยานิพนธ์ เพื่อประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง

(9 มิ.ย. 66) พระปัญญาวชิรโมลี (นพพร ธีรปญฺโญ) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งทางพระสังฆาธิการ เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม บ้านดงดิบ ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่รู้จักในวงกว้างว่าเป็น ‘พระนักพัฒนา’ จากการที่เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม หรือ ‘โรงเรียนเสียดายแดด’ ได้นำความรู้ที่ได้จากการศึกษาโซลาร์เซลล์มาต่อยอดเป็นพลังงานทดแทนไว้ใช้ในโรงเรียน และสร้างระบบ Smart Farm, รถเข็นนอนนา (สถานีไฟฟ้าเคลื่อน), บ้านกินแดด, รถไฟฟ้า Ev Car จากแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น จนทำให้ลูกศิษย์บางคนตั้งฉายาให้ท่านทั้ง ‘พระเสียดายแดด’ และ ‘เจ้าคุณโซลาร์เซลล์’

ล่าสุด พระปัญญาวชิรโมลี ได้โพสต์บอกเล่าผ่านเฟซบุ๊ก ชื่อ ‘พระปัญญาวชิรโมลี นพพร’ ถึงนักวิจัยที่ได้นำเรื่องราวการทำงานของพระปัญญาวชิรโมลี ที่นำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาพัฒนาพัฒนาคน พัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศชาติ ไปจัดทำเป็นวิทยานิพนธ์ โดยระบุว่า…

“2 นักวิจัย มาทำวิทยานิพนธ์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับแนวคิดการทำงานของพระปัญญาวชิรโมลี ที่นำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาพัฒนาพัฒนาคน พัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศชาติ จนเป็นที่รู้จักในนาม ‘โรงเรียนเสียดายแดด’ ที่นำโซลาร์เซลล์มาจัดการเรียนการสอน จนสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้นักเรียนและชุมชนสามารถรับงานติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ทั่วประเทศ และการทำเกษตรอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ สู่การพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ณ แปลงพระราชทานโคก หนอง นา พุทธอารยเกษตร

ทราบว่าวิทยานิพนธ์เล่มนี้ ถ้าเสร็จจะเป็นเล่มที่ 2 ของประเทศไทย เล่มแรกเป็นของเราเอง ทางเจ้าของจะพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ แต่หลายคนอยากให้ทำเป็นภาษาไทย เผื่อรุ่นต่อไปจะได้อ้างอิงง่าย”