3 ทางเลือกทำลาย 'ลำไยอบแห้ง' อีกบทพิสูจน์ความโปร่งใสรัฐ

รู้หรือไม่? ในอดีตรัฐบาลไทยได้มีการแก้ไขปัญหากรณีลำไยอบแห้งค้างสต็อก ด้วยการจัดสรรงบประมาณทำลายทิ้ง เพื่อไม่ปล่อยให้ตัวลำไยไหลไร้คุณภาพไหลไปสู่ตลาด ถึงมือผู้บริโภค และคู่ค้าระหว่างประเทศ ถือเป็นอีกการแสดงออกถึงความรับผิดชอบ บนมาตรการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

อันที่จริงแล้ว ในอดีตเกษตรกรภาคเหนือเคยร่ำรวยจากการขายลำไย จนบางรายถึงขั้นกล้าเปลี่ยนแปลงพื้นที่นา และพื้นที่ทำการเกษตรอื่นๆ ให้กลายเป็นสวนลำไยอย่างกว้างขวาง 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาราคาลำไยตก ก็เริ่มมีให้เห็น เมื่อเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรเร่งการผลิตลำไยนอกฤดู ทำให้ราคาลำไยค่อยๆ ลดต่ำลงเป็นลำดับ 

คำถาม คือ เวลาเจอสถานการณ์เช่นนี้ ควรต้องเป็นความรับผิดชอบของใคร? เกษตรกรฝ่ายเดียวหรือไม่? 

คำตอบก็รู้ๆ กันอยู่แล้วว่า ไม่!! 

แน่นอนว่า ในห้วงที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรดี ไม่มีเกษตรกรคนใดไม่อยากรวย ไม่อยากปลดหนี้ ฉะนั้นผู้ที่ควรรับผิดชอบที่สำคัญในจังหวะเวลาดังกล่าว จึงต้องเป็นหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาส่งเสริมการผลิต ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ที่ปล่อยกู้อย่างมีเงื่อนไข หากเกษตรกรระบุวัตถุประสงค์การกู้ว่าจะนำเงินไปลงทุนปลูกลำไย ก็จะได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็ว และจนถึงวันที่ผลของการผลิตอย่างไม่มีการวางแผนการตลาดล่วงหน้าก็ย้อนกลับมาทำลายระบบตลาดลำไย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาลำไยเป็นปัญหาที่ต้องแก้ทั้งระบบอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นปัญหาที่สะท้อนการพัฒนาของประเทศ ทุกๆ ปัญหาที่ถาโถมเข้ามา รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาจัดการแบบแก้ไปทำไป เพื่อต่อลมหายใจให้เกษตรกรไม่พังกันเป็นแถบ

มีกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ โดยย้อนไปในช่วงปี 2552 กับการแก้ปัญหาลำไยอบแห้งค้างสต็อกปี 2546/2547 กว่า 4.6 หมื่นตันที่ค้างคามานาน 

ตอนนั้นคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ได้มีมติให้ทำลายลำไยด้วยวงเงินไม่เกิน 90 ล้านบาท แต่ยังเป็นที่ถกเถียงว่าจะทำลายด้วยวิธีใดที่จะคุ้มค่าที่สุดและไม่เปลืองงบประมาณ ที่สุด

ผลจากการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการและทำลายลำไยอบแห้งปี 2546 และปี 2547 ครั้งที่ 1/2552 ในวันที่ 24 มิถุนายน โดยมีนายจรัลธาดา กรรณสูตร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นประธานคณะกรรมการ ได้สรุป 3 แนวทางในการจัดการปัญหาลำไยค้างสต็อกเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2552

>> แนวทางแรก : เป็นการบดแล้วนำไปทำลายด้วยการฝังกลบ 
>> แนวทางที่สอง : เป็นการบดแล้วนำไปทำลายด้วยการเผา 

ทั้ง 2 วิธีนี้ จะใช้งบประมาณในการทำลายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.67 บาท รวมกับค่าดำเนินการอีกกิโลกรัมละ 0.25 บาท เบ็ดเสร็จเชื่อว่างบประมาณที่ใช้ในการทำลายขึ้นกับปริมาณลำไยอบแห้งค้างสต็อกคาดว่าจะไม่เกิน 78 ล้านบาท

>> ส่วนแนวทางที่สาม : เป็นการนำไปทำพลังงานชีวมวลโดยการนำลำไยดังกล่าวบดให้ละเอียดแล้วอัดเป็นแท่งตะเกียบ โดยความร่วมมือของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศูนย์วิจัยพลังงานชีวมวล คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องต้นแบบแล้วจำนวน 3 เครื่อง วิธีนี้ใช้วิธีการทำลายจำนวน 60 ล้านบาท

นายจรัลธารา ยืนยันว่าทั้ง 3 แนวทางจะโปร่งใสไม่มีลำไยค้างสต็อกออกมาเล็ดลอดปลอมปนกับลำไยที่กำลังจะออกสู่ท้องตลาดในฤดูกาลใหม่ในขณะนั้นอย่างแน่นอน เพราะจะมีการทำลายด้วยการบดละเอียดทีละโกดังที่กระจายอยู่ทั้งหมด 59 โกดังใน 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน และลำปาง อีกทั้งยังเป็นการเช็กสต็อกลำไยอบแห้งไปด้วยในตัว หากปริมาณที่บดทำลายน้อยกว่าที่ขึ้นทะเบียนไว้ไม่ตรงกันโดยหักค่าเสื่อมน้ำหนักไม่เกิน 10% เจ้าของโกดังต้องเป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมายโดยถือเป็นจำเลยที่ 1

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ 3 ถือเป็นแนวโน้มที่มีความเป็นไปได้กว่า 70-80% ซึ่งหลายฝ่ายก็เห็นด้วยและ ครม.ก็ไม่ติดขัดให้ดำเนินการทำลายแล้วนำมาอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงแท่งตะเกียบ 

สำหรับแนวคิดอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงแท่งตะเกียบนี้เป็นโครงการทำลายลำไยค้างสต็อกปี 2546/2547 โดยใช้เป็นพลังงานชีวมวล ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยพลังงานชีวมวล คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี รศ.ดร.พรชัน เหลืองอาภาพงศ์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงานชีวมวล ได้กล่าวว่า ทางศูนย์ฯ มีเครื่องมืออุปกรณ์เครื่องผลิตชีวมวลอัดแท่งจำนวน 3 เครื่อง กำลังการผลิต 3 ตันต่อชั่วโมง โดยกำหนดกรอบเวลาทั้งสิ้น 9 เดือน คือ 3 เดือนแรกเป็นการนำลำไยออกจากโกดังแล้วบดละเอียด และอีก 6 เดือนหลังเป็นการผลิตชีวมวลอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงแท่งตะเกียบ

เมื่อลงมือเดินตามแผน ก็จะได้เชื้อเพลิงแท่งตะเกียบจำนวน 40,000 ตัน นำกลับไปใช้เป็นเชื้อเพลิงที่เบื้องต้นคาดว่าจะจำหน่ายให้เตาอบลำไย 9,000 ตัน โรงงานเซรามิก 8,000 ตัน โรงไฟฟ้า 5,000 ตัน และโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 1,400 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท

แม้เรื่องนี้จะมีเสียงคัดค้านบ้างเป็นระยะๆ แต่สุดท้ายทุกภาคส่วน ก็มองว่าเป็นความคุ้มค่า โปร่งใส และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฟากเกษตรกรเอง ก็พร้อมใจที่อยากจะให้ทำลายลำไยอบแห้งค้างสต็อกกว่า 4 หมื่นตันนั้น ด้วยการบดแล้วอัดแท่งนำไปทำปุ๋ยต่อด้วย

บทสรุปของคณะรัฐมนตรีในวันนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่ปล่อยให้ลำไยเล็ดลอดออกมาปลอมปนกับลำไยจนสร้างความเสียหายให้ตลาดและสร้างความเดือดร้อนต่อเกษตรกรไทย ซึ่งถือเป็นตัวอย่างในการทำงานเพื่อประชาชนคนไทย ที่น่าปรบมือเป็นอย่างยิ่ง...