เจาะนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารและปฏิรูปกองทัพ พรรค 'ก้าวไกล-เพื่อไทย-เสรีรวมไทย' คิดอะไรกันอยู่?

วิเคราะห์นโยบายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๖

การเกณฑ์ทหารคือ การระดมและเตรียมพร้อมสรรพกำลังของชาติ เพื่อดำรงคงไว้ซึ่ง ‘ศักย์สงคราม’ (War Potential) เพื่อให้ประเทศชาติมีความพร้อมต่อภัยคุกคามจากอริราชศัตรู

หลาย ๆ คนที่ตั้งคำถามว่า เราจะเตรียมทหารให้พร้อมเพื่อรบกับใคร การรบครั้งล่าสุดของกองทัพไทยเกิดขึ้นเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมาคือ กรณีการปะทะกับกัมพูชาตามแนวชายแดน อันเนื่องมากจากข้อพิพาทระหว่างกันในเรื่อง ‘เขาพระวิหาร’ พ.ศ. 2553 และพึ่งจะครบ 35 ปี ในกรณีการปะทะกับสปป.ลาว อันเนื่องมากจากข้อพิพาทระหว่างกันในเรื่อง ‘ชายแดนบริเวณบ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก’   

อีกทั้งบนโลกใบนี้มีสงครามและความไม่สงบเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา การดำรงคงไว้ซึ่ง ‘ศักย์สงคราม’ เพื่อให้ประเทศชาติมีความพร้อมในการป้องกันประเทศจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ด้วยถือเป็นการประกันเอกราชและอธิปไตยของชาติ

นอกจากนั้นแล้ว หน่วยทหารของเราตลอดแนวชายแดนไม่ว่าทางบกหรือทางน้ำ ต้องทำหน้าที่สกัดกั้นหยุดยั้งภัยคุกความต่อความมั่นคงและสังคม ไม่ว่าจะเป็น การจับกุมคาราวานยาเสพติด การค้าอาวุธ การค้ามนุษย์ การจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมือง สินค้าหนีภาษี การบ่อนทำลายทรัพยากรธรรมชาติของชาติ เช่น การลักลอบตัดไม้ การจับสัตว์น้ำ ฯลฯ ด้วยกำลังและยุทโธปกรณ์ของหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบภารกิจนั้น ๆ ไม่เพียงพอต่อภารกิจที่ต้องดูแลรับผิดชอบ

กองทัพไทยยังต้องรับผิดชอบดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้นับแต่เหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 ซึ่งถูกมองว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในระลอกใหม่ ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 19 ปีแล้ว 

และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เมื่อเกิดบรรดาพิบัติภัยต่าง ๆ ขึ้น ก็ต้องอาศัยกำลังพลตลอดจนยุทโธปกรณ์ของกองทัพในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในทุกมิติ

อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ แม้จะเป็นชาติสมาชิกประชาคมอาเซียนด้วยกันเอง แต่ต่างก็มีการแข่งขันกันสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารด้วยกันทั้งสิ้น

หากมีศึกสงครามแล้วกองทัพไทยจะเกณฑ์ทหารทันหรือ? ทั้งยังต้องฝึกกว่าจะปฏิบัติราชการได้ ทหารที่ไม่พร้อม ไม่แข็งแกร่ง พอ ผลก็คงจะเป็นที่ทราบ ๆ กันอยู่ สำหรับคำกล่าวที่ว่า ‘ทหารและกองทัพต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง’ นั้น อันที่จริงแล้วทหารและกองทัพไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้ว แต่การรัฐประหารที่เกิดขึ้นทุกครั้งฝ่ายการเมืองล้วนแต่เป็นผู้สร้างเงื่อนไขและเป็นผู้จุดชนวนให้กลายเป็นประเด็นจนเกิดปัญหาใหญ่ในบ้านเมือง กระทั่งไม่สามารถแก้ไขด้วยกระบวนการที่มีอยู่ได้ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อความมั่นคงของชาติโดยรวม 

แม้ในโลกนี้ปัจจุบันจะมีหลายประเทศที่ไม่มีการเกณฑ์ทหาร แต่บางประเทศในนั้น เช่น ฝรั่งเศสโดยประธานาธิบดี Emmanuel Macron (ผู้ซึ่งเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสยุคปัจจุบันรายแรกที่ไม่ได้เป็นทหาร เพราะในช่วงอายุของเขา ฝรั่งเศสยกเลิกการเกณฑ์ทหารแล้ว) ก็ได้นำระบบ Service national universal (SNU) ซึ่งเป็นการดำเนินการฝึกทหารโดยสมัครใจในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ซึ่งจะกลายเป็นการเกณฑ์ทหารภาคบังคับในอนาคต โดยจะใช้เวลาสองสัปดาห์ในการฝึกฝนอบรม และสองสัปดาห์ในการปฏิบัติงานบริการชุมชน 

สำหรับเกาหลีใต้ ชายทุกคนต้องเป็นทหารประมาณ 2 ปีตามแต่ละเหล่า 

อิสราเอล มีประชากรเพียง 8 ล้านคน ตามกฎหมายการรับราชการทหารระบุว่า การเกณฑ์ทหารของอิสราเอล จะเกิดขึ้นทันทีเมื่อบุคคลเหล่านั้นจบชั้นมัธยมศึกษา ผู้ชายจะรับราชการทหารเป็นเวลา 3 ปี และผู้หญิง 2 ปี 

เกาหลีเหนือ เป็นอีกประเทศที่เกณฑ์ทหารทั้งชายและหญิง โดยผู้ชายเป็นทหารยาวนานถึง 10 ปี ส่วนผู้หญิงทุกคน เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปลายแล้ว จะต้องเป็นทหารจนถึงอายุ 23 ปี จึงทำให้เกาหลีเหนือมีทหารมากกว่า 6 ล้านคน โดยเป็นทหารอาชีพ 900,000 คน ส่วนอีกกว่า 5.5 ล้านเป็นทหารที่มาจากการเกณฑ์ 

ส่วน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรีย และเดนมาร์ค การเกณฑ์ทหารยังมีผลบังคับใช้อยู่ ไม่ได้ยกเลิกเหมือนประเทศอื่นๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีประวัติ และไม่มีนโยบายที่คิดจะไปรบหรือรุกรานประเทศอื่น ๆ เลย แต่ด้วยเพราะเป็นเรื่องของความมั่นคง  ไม่ใช่เรื่องของความล้าสมัยใด ๆ 

นอร์เวย์เป็นประเทศแรกในกลุ่มสมาชิก NATO ที่กำหนดบังคับให้ผู้หญิงทุกคนเมื่อถึงวัยตั้งแต่ 19-44 ปีต้องเข้าเกณฑ์ทหาร จากเดิมที่บังคับเฉพาะผู้ชายเท่านั้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 

สวีเดนกลับมาใช้ระบบเกณฑ์ทหารอีกครั้ง เนื่องจากเกรงต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคง โดยสวีเดนได้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารเมื่อปี ค.ศ. 2010 เนื่องจากอยู่ในสภาวะที่สงบสันติ แต่เวลาเดียวกันมีการแก้กฎหมายระบุว่าต่อไปในการเกณฑ์กำลังคงจะไม่ระบุเพศ (gender-neutral) คือต้องเกณฑ์ทั้งชายและหญิง และในปี ค.ศ. 2018 รัฐบาลสวีเดนกลับมาเกณฑ์ทหารอีกครั้ง โดยระบุว่า เกิดภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ (ซึ่งอยู่ในช่วงเดียวกันกับประเทศในยุโรปมีปัญหากับรัสเซีย)

ทุกวันนี้มีอย่างน้อย 6 ประเทศที่กำหนดให้ทั้งชายทั้งหญิงต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเหมือนกัน คือ อิสราเอล เกาหลีเหนือ โบลิเวีย นอร์เวย์ และสวีเดน สองประเทศแรกนั้นเป็นที่เข้าใจได้ ด้วยเงื่อนไขปัจจัยที่ต้องเผชิญภัยคุกคามอยู่ตลอดเวลา 

ส่วนกรณีของโบลิเวียนั้นส่วนสำคัญเนื่องมาจากปัญหาขนาดแคลนกำลังพล 

นอร์เวย์ (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 โดยนอร์เวย์ยังเป็นประเทศแรกของ NATO ที่ถือว่าการรับราชการทหารภาคบังคับสำหรับผู้หญิงเพื่อเป็นการแสดงถึงความเท่าเทียมทางเพศ) 

และสวีเดน (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 ในทางกฎหมาย และในทางปฏิบัติตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 การเกณฑ์ทหารทั้งสองเพศอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นทางการเดียวกัน) 

สวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งได้ชื่อว่าดำเนินนโยบายเป็นกลางมาอย่างยาวนานและเคร่งครัด ไม่ข้องแวะกับสงคราม ไม่แสวงหาศัตรูหรือขัดแย้งใด ๆ ไม่ได้เป็นเป้าหมายของภัยคุกคาม หรือภัยก่อการร้าย ก็เคยมีความคิดที่จะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่ผลจากการลงประชามติเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2013 ปรากฏว่า ชาวสวิสฯ กว่า 73% โหวตสนับสนุนให้คงการเกณฑ์ทหารไว้ต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลจึงไม่สามารถยกเลิกข้อบังคับการเกณฑ์ทหารได้ ยิ่งไปกว่านั้น มีแนวโน้มว่า สวิสเซอร์แลนด์อาจจะดำเนินการตามแนวทางของนอร์เวย์ โดยออกข้อบังคับให้ผู้หญิงต้องเข้าเกณฑ์ทหารด้วย ด้วยแต่ละปี กองทัพสวิสเซอร์แลนด์ต้องการกำลังพลใหม่เข้ามารับการฝึกประมาณ 18,000 นาย

การสร้างทหารอาชีพด้วยการรับสมัครหรือสมัครใจ เพื่อให้ศักย์สงครามของชาติเพียงพอต่อการมีความพร้อมและศักยภาพในการป้องกันประเทศเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ ต้อง ‘จ่าย’ มากกว่าการเกณฑ์ทหาร ด้วยต้องมีแผนงานโครงการต่าง ๆ ในอันที่จะสร้างแรงจูงใจให้คนหนุ่มสาวสมัครเข้าเป็นทหารอาชีพ และแผนงานโครงการต่าง ๆ ในการสร้างระบบความก้าวหน้าในอาชีพ การพัฒนาทั้งบุคลากรและระบบทางทหารอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งงบประประมาณในการป้องกันประเทศหรืองบประมาณทางทหารนั้นย่อมต้องเพิ่มสูงมากขึ้น อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งรายจ่ายด้านบุคลากรในระยะยาว เช่น บำเหน็จ บำนาญ สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวต่าง ๆ ก็ปฏิเสธ โดยที่คนเหล่านั้นเกือบทั้งหมด ‘เกิดไม่ทัน’ ยุคสงครามเย็น ยุคที่ชาติไทยต้องเผชิญกับกับภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

และคนเหล่านั้นคงไม่รู้หรือไม่สนใจว่า บ้านเราต้องเผชิญภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกประเทศต่อเนื่องยาวนาน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่คนเหล่านั้นเล็กมาก บางคนยังไม่เกิดเสียด้วยซ้ำไป และเชื่อด้วยว่า โคตรวงศ์ส่วนใหญ่ของคนเหล่านั้นไม่เคยทำหน้าที่ชายชาติทหารในการปกป้องชาติบ้านเมืองไว้ จนคนเหล่านั้นได้อยู่อย่างสุขสบายและเติบใหญ่มาเพื่อคิดการผิด ๆ ในอันที่จะทำให้ชาติบ้านเมืองเกิดความอ่อนแอ ทั้งมีความตั้งใจที่จะละเลยต่อรากเหง้าของการก่อร่างสร้างชาติอันนับเนื่องต่อมาได้กว่า 800 ปี ไม่ใส่ใจต่อบริบท ตลอดจนความเป็นมา ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี ล้วนแล้วแต่เป็นการจงใจที่จะทำให้สังคมไทยเกิดความอ่อนแอทั้งหมดทั้งสิ้น 

‘ราชอาณาจักรไทย’ ในปัจจุบันไม่ได้เกิดจากทรายเสกหรือมือปั้น แต่เกิดจากความกล้าหาญ อดทน และเสียสละของบูรพมหากษัตริย์และบรรพชนไทย เป็นเรื่องราวที่คนไทยทั้งหมดทั้งมวลต้องรับรู้ รับทราบถึงรากเหง้าความเป็นมาของชาติบ้านเมืองดังที่กล่าวมา

แต่ทั้งนี้กองทัพไทยเองก็ต้องบริหารจัดการ
-จัดการทหารทุกนายที่ถูกเกณฑ์ให้ได้รับสิทธิอันชอบธรรม มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

- ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับวิธีการเกณฑ์ทหารโดยการจับสลากใบดำใบแดงเช่นทุกวันนี้ เพราะเป็นสาเหตุให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ได้เปรียบ เสียเปรียบ และการทุจริตในการคัดเลือกทหาร แต่เห็นว่าควรให้ชายทุกคนต้องเป็นทหาร การคัดเลือกเปลี่ยนเป็น ‘รับหมด’ ทุกคน เพื่อฝึกลักษณะทหารอย่างน้อยสามเดือน หลังฝึกครบสามเดือนแล้วให้จับสลากแยกส่งไปยังหน่วยงานที่ต้องการทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน เช่น ตำรวจเกณฑ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาสาสมัครรักษาดินแดน กรมการปกครอง อาสาสมัครพิทักษ์ป่า กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ อาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ หากมีปัญหา สุขภาพ เพศสภาพก็ไปทำงานในหน่วยงานพลเรือนอื่น ๆ จนครบ 2 ปี เช่น เป็นพนักงานเปลในโรงพยาบาล หรืองานอื่น ๆ ตามแต่หน่วยราชการต่าง ๆ ต้องการ

-รับสตรีเข้าเป็นทหารโดยเท่าเทียมกับทหารชายทั้งการเข้าโรงเรียนนายทหารประทวน และนายทหารสัญญาบัตร

-พัฒนาระบบกำลังสำรองอย่างมีทิศทาง มีความเป็นระบบ คำนึงถึงความสำคัญและจำเป็นต่อยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศและการบรรเทาสาธารณภัย บัญชีกำลังสำรองควรขึ้นอยู่กับภูมิลำเนาปัจจุบันมากกว่าภูมิลำเนาเดิมเช่นทุกวันนี้

-ศึกษาเปรียบเทียบการเกณฑ์ทหารกับการสมัครทหาร นำเสนอผลการศึกษาสู่สาธารณะ จัดทำการรับฟังความคิดเห็นเพื่อดำเนินการปรับปรุงจัดการตามแต่ความเหมาะสมในอนาคตต่อไป

-หากไม่มีการเกณฑ์ เปลี่ยนเป็นการสมัคร กองทัพต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อที่จะอยู่ในสถานะที่คนภายนอกอยากมาเข้าร่วมกองทัพ เช่น การวางแผนการพัฒนาบุคลากรของกองทัพในทุกระดับชั้น และมี Career Path (เส้นทางความก้าวหน้าทางอาชีพ) ของผู้ที่สมัครทหารอย่างมั่นคงและชัดเจน

-แจกแจงงบประมาณป้องกันประเทศเปรียบเทียบระหว่างประเทศที่มีการเกณฑ์ทหารและยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

การยกเลิกการเกณฑ์ทหารนั้น สามารถทำได้ แต่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล เพื่อจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย เช่น Drone และ Robot ฯลฯ เพื่อทดแทนกำลังทหารที่ลดลง เพื่อการสร้างแรงจูงใจสำหรับอาชีพทหารในอันที่จะรักษาดุลยภาพทางทหาร รักษาศักย์สงครามในการป้องกันประเทศ แล้วบรรดานักการเมืองที่อยากให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารและปฏิรูปกองทัพจะยอมเพิ่มงบประมาณในการป้องกันประเทศหรือ? 

“แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ ศัตรูกล้ามาประจัญ จะอาจสู้ริปูสลาย” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล